Monday, 21 April 2025
น่าน

‘เจ้าของคาเฟ่’ จ.น่าน เปิดใจหลังร้านโดนน้ำท่วม เกือบมิดหลังคา ชี้!! ข้าวของเสียหาย ทุกอย่างที่รัก ตอนนี้พังหมดภายใน 1 คืน

(23 ส.ค.67) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Suthida Wongrattana โพสต์เหตุการณ์ ร้านคาเฟ่ที่ จ.น่าน โดนน้ำท่วม จนข้าวของทุกอย่างเสียหายหมด พร้อมระบุว่า “ในชีวิตนี้ไม่เคยเจออะไรหนักเท่านี้เลย ร้านที่เราฝัน ที่เรารัก เราทำมันสำเร็จ แต่ตอนนี้มันพังหมดภายใน 1 คืน จุกไปหมด”

ล่าสุดวันนี้ คุณก้อย เจ้าของร้านคาเฟ่ที่ จ.น่าน เปิดใจกับข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า ร้านของตนเคยน้ำท่วมมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา น้ำท่วมถึงแค่สนามหญ้าและน้ำก็ลดเร็ว แต่น้ำตรงแม่น้ำน่านยังไม่ค่อยลดเท่าไหร่ เวลามีฝนตก ตนก็กังวลว่ามันจะท่วมอีกรอบหรือเปล่า

ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. มีฝนตกเกือบทั้งวันและหยุดตกตอนเวลาหลัง 18.00 น. จนเมื่อเวลาประมาณ เที่ยงคืน วันที่ 21 ส.ค. ฝนตกหนักอีกครั้งตลอดทั้งคืนยันเช้า ซึ่งร้านก็ยังเปิดตามปกติ เพราะไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นเร็วขนาดนี้ แต่พอช่วงเวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. เห็นน้ำเริ่มขึ้นก็ทยอยเก็บของ ยกขึ้นที่สูงกว่าที่น้ำเคยท่วมรอบก่อน พวกเฟอร์นิเจอร์ก็แขวนไว้ที่หลังคา

หลังจากฝนเริ่มเบาลง ตอนนั้นตนยังชะล่าใจ คิดว่าน้ำไม่น่าท่วมสูงเกินที่คาดไว้ จึงไม่ได้ขนของอะไรออกมา จากนั้นก็รีบออกมาจากพื้นที่ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. แม้ฝนจะหยุดแล้วแต่น้ำก็ยังคงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าไปเอาของไม่ได้

คุณก้อย กล่าวว่า น้ำหนุนขึ้นมาเยอะมากจากทางน่านตอนเหนือที่ฝนตกหนักมาก่อน เริ่มท่วมจากทางทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว ท่าวังผา แล้วเข้าเมือง การที่น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็วแสดงว่าน้ำจากทางเหนือมันเยอะมากแล้วไล่ระดับลงมา

ตอนที่คนในพื้นที่เริ่มบอกกันว่าน้ำมันจะท่วมสูงประมาณตอนปี พ.ศ. 2554 นะ ตนก็เข้าไปเอาของออกไม่ทันแล้ว น้ำท่วมสูงจนทำให้ตนไม่สามารถเข้าไปเอาของออกมาได้ทัน รถก็เข้าไปไม่ได้แล้ว พายเรือไปก็ไม่ได้เพราะน้ำเริ่มเชี่ยว

โดยตอนเวลาประมาณ 22.00 น. ไฟยังไม่ตัด ตนดูกล้องวงจรปิดเห็นว่าน้ำเริ่มเข้าร้าน พบว่าน้ำท่วมครั้งนี้สูงกว่าที่เคยเจอมาจากปีอื่น ๆ ที่เคยเจอ และไฟก็เริ่มตัดไป น้ำยังคงท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยันเช้าของวันที่ 22 ส.ค. ตนตื่นออกมาดูน้ำในพื้นที่ก็พบว่าน้ำท่วมเกือบมิดหลังคาร้าน

ร้านคาเฟ่ของตนเป็นร้านเบเกอรี่ที่เปิดเป็นร้านกาแฟด้วย อุปกรณ์ของทำเบเกอรี่ วัตถุดิบ เครื่องทำกาแฟ เครื่องสกัดกาแฟ เครื่องบดต่าง ๆ ถูกล็อกแช่อยู่ในร้านทั้งหมด รวมไปถึงของตกแต่งร้านและเฟอร์นิเจอร์ที่ยกสูงแล้วก็ยังหนีน้ำไม่พ้น

ตอนเช้าที่ตื่นมาเจอน้ำท่วมเกือบมิดหลังคาร้าน ตนรู้สึกทั้งช็อกและจุก เพราะของตนอยู่ในนั้นทั้งหมดเลย ไม่คิดว่าน้ำมันจะท่วมสูงขนาดนี้ มันคือการเริ่มใหม่ทั้งหมด คาเฟ่ของตนมีแมชชีนและของครบทุกอย่าง

แม้กระทั่งการแต่งสวนหน้าร้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ก็โดนน้ำท่วมไปหมด และยิ่งจิตตกตอนย้อนกลับไปดูรูปภาพตอนร้านยังสวย แล้วกลับมาดูสภาพปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้สภาพจิตใจไม่ค่อยโอเค ซึ่งตนไม่ใช่คนน่าน ย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ของแฟน เขาก็บอกว่าน้ำไม่เคยท่วมสูงขนาดนี้

ตนรู้สึกว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ก็จะมีแต่ชาวบ้านด้วยกันเองที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแลกันเอง หรือได้รับความช่วยเหลือแค่ในระดับ อบต. ที่คอยหาเรือ ข้าว อาหาร มาช่วยคนที่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ หรือเพจน่าน ที่คอยช่วยประชาสัมพันธ์แจ้งคนหายต่าง ๆ

แต่เท่าที่ตนเห็น ยังไม่มีหน่วยงานระดับสูง ๆ ลงพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลเลย อาศัยการพึ่งพากันเองมากกว่า ตนก็ต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มของคนท่าวังผา กลุ่มของคนในพื้นที่ หรือฟังประกาศจากผู้ใหญ่บ้าน ประกาศอย่างเป็นทางการ เท่าที่ตนทราบยังไม่มี

แต่ทั้งนี้ตนไม่โทษใครอยู่แล้วเพราะเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ แค่อยากเตือนทุกคนจากประสบการณ์ตัวเองว่า ถ้าน้ำมาอย่าชะล่าใจ ขนอะไรได้ก็ขนให้หมด อยู่ในพื้นที่สูง ๆ หรือออกมาจากพื้นที่ตรงนั้นให้เร็วที่สุดจะดีกว่า

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือแรงงาน น่าน และภาคเอกชน มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบอุทกภัย

(1 ก.ย.67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มไทยสมายล์บัส เจ้าหน้าที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 300 ชุด เพื่อช่วยเหลือและเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

โดยมี นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางสาวจำลองลักษณ์ ก่ายแก้ว แรงงานจังหวัดน่าน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดน่าน นายอำเภอเชียงกลาง และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ กระทรวงแรงงาน กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป และพลังเครือข่ายภาคเอกชนมีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในวันนี้มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์จึงได้นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด บริษัท ไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บจก. คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล บริษัท ไทย สมายล์ บัส กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (E@) และเครือข่ายภาคเอกชน ที่ได้ร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ข้าวโอ๊ต โจ๊กคัพ โดนัท อาหารแห้ง เป็นต้น มามอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมทั้งมูลนิธิยังได้มอบเรือท้องแบน จำนวน 6 ลำ เพื่อมอบให้กับทางจังหวัดน่านไว้ใช้ประโยชน์ในการนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน ยังได้ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากอุทกภัยแก่ประชาชนอีกด้วย

‘ดร.หิมาลัย’ ลุย!! แผนการจัดการน้ำ ฝายธงน้อย กางแผนเสริมระบบระบายน้ำ ลดผลกระทบ ‘อุทกภัย’ พร้อมพัฒนา!! โรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพื่อชุมชน

(23 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการฝายธงน้อย จังหวัดน่าน ครั้งที่ 2 โดยมี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน, นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน, นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, นางวาสนา ยศสอน สมาชิกวุฒิสภา, นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ. รวมถึงผู้แทนจากกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมมาลากุล 1 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือแนวทางบริหารจัดการน้ำจากโครงการฝายธงน้อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน “วันนี้ทุกฝ่ายมารวมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการน้ำ เราต้องมั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับการดูแล และโครงการฝายธงน้อยจะสร้างประโยชน์สูงสุด เราจะทำงานเชิงรุกเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมกัน” ดร.หิมาลัย กล่าว

โดยได้จัดทำแผนบรรเทาทุกข์โครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

แผนระยะสั้น (พ.ศ. 2568–2570) ประกอบด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำหอยโข่ง การระบายน้ำผ่านทางผ่านปลา และการขุดลอกตะกอนดินทรายในลำน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เหนือฝาย ลดความเสี่ยงต่อปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะสามารถช่วยระบายน้ำในช่วงที่น้ำหลากได้ถึง 50 ลบ.ม /วินาที

แผนระยะยาว (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน จำนวน 2 ช่อง พร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขอรับงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2569 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยมีเป้าหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดประมาณ 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6,438 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และมีความสามารถในการช่วยระบายในช่วงน้ำหลากได้ถึง 220 ลบ.ม/วินาที  พร้อมทั้งสามารถจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย

ดร.หิมาลัย ได้กล่าวอีกว่า ถึงแม้จากผลการวิเคราะห์ทางอุทกวิทยา โครงการฝายธงน้อยมิใช่สาเหตุของน้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองน่าน  ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและร่วมบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ได้บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับทุกภาคส่วน และขอยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินโครงการภายใต้หลักความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะดำเนินการควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top