‘นิวซีแลนด์’ เคยถูกขนานนามว่า ‘ดินแดนแห่งสวรรค์บนดิน’ ประเทศในฝันที่หลายคนอยากใช้ชีวิตอยู่ ด้วยภาพลักษณ์ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีความเจริญ กินดี อยู่ดี มีเสรีภาพ
แต่ทว่าวันนี้ ‘นิวซีแลนด์’ กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เมื่อคนหนุ่ม-สาว วัยทำงาน ไม่อยากอยู่นิวซีแลนด์อีกแล้ว และตัดสินใจย้ายออกไปตั้งรกรากในประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง
จากตัวเลขล่าสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีคนนิวซีแลนด์ย้ายประเทศมากถึง 131,200 คน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นพลเมืองชาวนิวซีแลนด์แท้ ๆ เกือบ 70% เลยทีเดียว แถมมากกว่า 50% ของผู้ย้ายถิ่นเป็นคนวัยหนุ่ม-สาว อายุระหว่าง 20-39 ปี โดยเฉพาะช่วงวัย 25-29 ปี ที่เป็นกลุ่ม First Jobber หรือเด็กจบใหม่ที่เริ่มหางานทำ เป็นกลุ่มที่ย้ายประเทศมากที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้มีพลเมืองชาวนิวซีแลนด์ทิ้งถิ่นฐานของตนไปอยู่ต่างประเทศกันเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยยาวมาตั้งแต่ช่วงการระบาด Covid-19 ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ซึ่งสวนทางกับโอกาสการทำงาน และ ปริมาณการจ้างงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานวัยหนุ่ม-สาวที่มีทักษะ และการศึกษาสูง แต่ประสบปัญหาการว่างงาน หรือ มองไม่เห็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในประเทศของตน
วิลสัน ออง วัย 32 ปี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในธุรกิจแฟชั่นค้าปลีกที่กำลังวางแผนย้ายออกเพื่อไปหางานใหม่ในต่างแดนกล่าวว่า เพื่อน ๆ รอบตัว ล้วนย้ายไปอยู่ต่างประเทศกันหมดแล้ว และตัวเขาก็กำลังจะตามเพื่อนไปเร็ว ๆ นี้เช่นกัน เพราะสำหรับคนหนุ่ม-สาว นิวซีแลนด์แล้ว คุณภาพของงานที่ทำสำคัญที่สุด และพวกเขารู้สึกว่าโอกาสในการทำงานที่นิวซีแลนด์มีจำกัดกว่าหลายประเทศชั้นนำอื่น ๆ
สอดคล้องกับความเห็นของ นิค ทัฟเฟลย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของธนาคาร ASB ที่เห็นว่าคนรุ่นใหม่นิวซีแลนด์ ปรารถนาที่จะออกไปหาประสบการณ์ใช้ชีวิตต่างแดนมากขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยราบรื่นนักหลังวิกฤติโรคระบาดเป็นตัวเร่งที่ทำให้คนรุ่น Gen Y และ Gen Z ของนิวซีแลนด์ตัดสินใจย้ายประเทศกันมากขึ้น
ซึ่งในประเทศที่มีประชากรเบาบางเพียง 5 ล้านคนเศษนั้น การที่คนหนุ่ม-สาว พร้อมใจกันย้ายประเทศทะลุหลักแสนคนต่อปี อาจเรียกได้ว่าเป็น Exodus หรือ การอพยพหนีภัยครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้
ชามูบีล ยาคุบ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน New Zealand Institute of Economic Research ได้นิยามสถานการณ์สมองไหลของนิวซีแลนด์ว่า เป็น Economic refugees หรือผู้ลี้ภัยเชิงเศรษฐกิจ และตราบใดที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่สามารถแก้ปัญหาตลาดแรงงานในประเทศ และความสมดุลระหว่างรายได้ และ ค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ การลี้ภัยเชิงเศรษฐกิจของคนหนุ่ม-สาวนิวซีแลนด์ก็จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่จบสิ้น
อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่แรงงานจะไหลเทไปสู่ตลาดแรงงานที่ค่าตอบแทนสูงกว่า ที่ก็เป็นปัญหาในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
แต่สำหรับนิวซีแลนด์นั้น อาจจะมีปัญหาที่หนักหนากว่าประเทศอื่น เพราะนอกจากประชากรจะน้อยแล้ว ยังมีประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ ที่มีเป้าหมายที่จะดึงดูดแรงงานหนุ่มสาวทักษะสูงจากนิวซีแลนด์โดยตรง ด้วยการออกวีซ่าพิเศษให้แก่ชาวนิวซีแลนด์อย่างเต็มที่ และสามารถโอนสัญชาติได้ทันทีหากพำนักในออสเตรเลียตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป
รัฐบาลออสเตรเลียถึงกับซื้อโฆษณาเต็มหน้าสื่อของนิวซีแลนด์ เชิญชวนให้แรงงานชาวกีวีย้ายไปอยู่ออสเตรเลียอย่างเปิดเผย ด้วยสโลแกนว่า "warmer days and higher pays" - "อากาศดีกว่า และ ค่าแรงสูงกว่า"
แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์กำลังถดถอย ส่งผลต่อโครงการก่อสร้างชะลอตัวลงอย่างมาก นั่นทำให้นิวซีแลนด์กำลังสูญเสียวิศวกร หัวหน้าช่างก่อสร้าง และแรงงานฝีมือของตนให้แก่ออสเตรเลีย ที่จ่ายค่าแรงสูงกว่า การอยู่ทำงานในเมืองศูนย์กลางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดอย่างโอ๊กแลนด์ถึง 60%
แต่ยังโชคดีที่นิวซีแลนด์สามารถชดเชยการสูญเสียพลเมืองของตนได้ด้วยการรับผู้ย้ายถิ่นฐานจากประเทศอื่นเข้ามาได้ จากตัวเลขล่าสุดในรอบ 1 ปี จนถึงเดือนมิถุนายนของปีนี้ (2567) มีชาวต่างชาติย้ายมาอยู่นิวซีแลนด์ราว 128,500 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย, ฟิลิปปินส์, จีน และ หมู่เกาะฟิจิ
ทำให้ตัวชี้วัดการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของประชากรในปัจจุบันของนิวซีแลนด์ กลายเป็นอัตราการย้ายถิ่นฐานเข้า-ออก ของประเทศในแต่ละปี แทนที่จะเป็นตัวเลขจากอัตราการเกิด-ตายของประชากรไปเสียแล้ว แต่ทั้งนี้ เราไม่สามารถประเมินจำนวนประชากรด้วยมิติเชิงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะหากพิจารณาในเชิงคุณภาพแล้ว สิ่งที่เป็นคำถามมากที่สุดคือ ผู้ย้ายถิ่นต่างชาติที่เข้ามาสามารถชดเชยกับกลุ่มประชากรที่นิวซีแลนด์สูญเสียไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ และทำอย่างไร ที่จะหาแรงจูงใจให้พลเมืองหนุ่มสาวชาวนิวซีแลนด์ ทักษะสูงให้อยู่ในประเทศได้ เพราะนิยาม ‘ดินแดนแห่งสวรรค์บนดิน’ ของนิวซีแลนด์ ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องปากท้อง และความทะเยอทะยานเพื่ออนาคตของหนุ่มสาวยุคใหม่ได้เสมอไป