Wednesday, 23 April 2025
นายประเสริฐ

‘รมว.ดีอี’ เดินหน้า ปิดแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐปลอม’ 290 บัญชี แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน อย่าเชื่อ-อย่าแชร์ ‘ข่าวปลอม’ ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 สิงหาคม 2567 ทีมปฏิบัติการได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐ’ ปลอม 290 เพจ  โดยแบ่งเป็น แฟนเพจ Facebook จำนวน 284 เพจ และบัญชี Tiktok จำนวน 6 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบมิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบกรณีการส่งข้อมูลต่อกันว่า ‘ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ และ ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่าประเด็นเรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS) จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปสู่ภายนอกได้

สำหรับ ‘แอปฯ ทางรัฐ’ เป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางให้แก่ผู้ใช้บริการเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทาง หรือของประชาชนที่ลงทะเบียนมาไว้ที่ แอปฯ ทางรัฐ แต่อย่างใด โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงใน แอปฯ ทางรัฐ นั้น สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ได้โดยตรงจากแอปฯ ‘App Store’ สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปฯ ‘Google Play’ ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น

ในส่วนของ ข่าวปลอม ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’ จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัล (Digital wallet) กระทรวง ดีอี พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค. 2567) และข้อมูลการลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการควบคุมกำกับดูแลที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยออกไปภายนอก ซึ่งการขายข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับมิจฉาชีพเป็นความผิดตามกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถทำได้แต่อย่างใด 

“ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าเชื่อ อย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในทุกช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ “แอปฯทางรัฐ” ได้จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งกระทรวงดีอี มีความห่วงใยประชาชน ต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ โดยโจรออนไลน์ได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต และการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอมแล้ว 290 บัญชี พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง และจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด ‘หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน’ พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) , Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

สถิติ 11 เดือน ‘ดีอี’ รุกปราบเพจ/URLs ผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้น 11 เท่า เดินหน้าปิดกั้นกว่า 138,000 รายการ

เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ซึ่งมิจฉาชีพได้ใช้เป็นช่องทางสำคัญในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการทำการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และดำเนินการปิดกั้น พร้อมยกระดับกระบวนการปิดกั้นให้มีความรวดเร็ว รัดกุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากสถิติการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ของกระทรวงดีอี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 พบว่า มีการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมายทุกประเภทแล้ว จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 12,611 รายการ

สำหรับโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่มีการปิดกั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 ประเภทบิดเบือน หลอกลวง และลามกอนาจาร มีดังนี้ กรณีบิดเบือน/หลอกลวง  จำนวน 47,471 รายการ เพิ่มขึ้น 7.68 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 6,182 รายการ , กรณีลามกอนาจาร จำนวน 11,948 รายการ เพิ่มขึ้น 14.82 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ (1 ตุลาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2566) ที่มีจำนวน 806 รายการ

“จะเห็นได้ว่าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงดีอี ได้ทำการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 138,000 รายการ โดยสถิติตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเดือนนั้น เนื่องจากการปรับกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส ข้อมูลข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมายผ่านทางสายด่วน 1111” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนอย่าหลงเชื่อ ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่หลอกให้เข้าไปลงทุน หรือกดลิงก์แพลตฟอร์มต้องสงสัยภายในโซเชียลมีเดีย เพจ และ URLs ผิดกฎหมาย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการเชื่อ และแชร์ข้อมูลที่อยู่ใน URLs ผิดกฎหมายต่อๆกัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ โดยพี่น้องประชาชนสามารถ แจ้งเบาะแส ข่าวปลอมและอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง ) ,  Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

'รองนายกฯ ประเสริฐ' เผยผลกวาดล้าง 'บัญชีม้า' ไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลแพทองธาร ปราบ 'อาชญากรรมออนไลน์' พร้อมออกกฎหมายพิเศษ ช่วยเหลือ 'ผู้เสียหาย' ให้ทันท่วงที

(23 ก.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือ เพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายประเสริฐ กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 8 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้

1. การแก้กฎหมายเร่งด่วนช่วยผู้เสียหายและป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลแพทองธาร แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน กระทรวง ดีอี เร่งยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

 - การเร่งคืนเงินผู้เสียหาย
- การเพิ่มสิทธิ์ผู้เสียหายและเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน 
- การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.
- การป้องกันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย
- การระงับการใช้ ซิม ที่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ จากการดำเนินการถึงเดือน สิงหาคม 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัยกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย ทั้งสิ้น 677,500 บาท

2. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม (ข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท สิงหาคม 2567 มีจำนวน 1,945 ราย ลดลงร้อยละ 22.04 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ สิงหาคม 2567 มีจำนวน 732 ราย ลดลงร้อยละ 31.20 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า สิงหาคม 2567 มีจำนวน 122 ราย ลดลงร้อยละ 49.17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

3. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567  (ระยะเวลา 11 เดือน) โดย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 , 2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 รายการ เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566

4. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานถึง 31 สิงหาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยกระดับการป้องกันการเปิดบัญชี และ จัดการบัญชีม้า โดยเฉพาะบุคคล ที่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้คนร้ายใช้ อาทิ การออกมาตราการ ระงับบัญชีของผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายทุกบัญชี และการใช้มาตรการ CDD การตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นตามระดับความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น

5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 สิงหาคม 2567 มีดังนี้
- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมรได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.8 ล้านเลขหมาย 
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 80,731 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 80,313 เลขหมาย 
- มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking ที่ต้องสงสัย โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ใช้งาน (Sim Screening) ตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน Mobile Banking กับธนาคารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อตรวจสอบกลุ่มบัญชีที่มีความเสี่ยงถูกใช้เป็นบัญชีม้า ในเบื้องต้นประเมินว่า มีผู้ใช้งาน Mobile Banking จำนวน 18 ล้านบัญชี เข้าข่ายต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกหรือต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่ ซึ่งจะต้องจัดทำแนวทางดำเนินงานในรายละเอียดต่อไป 

6. การดำเนินการเรื่องเสา โทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

จากยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบการลักลอบลากสายสัญญาณข้ามแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต 
ณ ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 จากตรวจสอบพบมีการลักลอบลากสายสัญญาณจากบ้านเช่าในตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการบริการอินเทอร์เน็ต 3 ราย นำมาทำ Load Balance และลากสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติกขนาด 12 Core ไปยังตู้ชุมสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติก(ODF) ของบริษัทฯ ผู้รับใบอนุญาตประเภท 1 และ 3 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 โดยบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้บริการโทรคมนาคมออกนอกราชอาณาจักรไทย ต่อมาที่ตู้ของบริษัทฯ ดังกล่าวตรวจพบการติดตั้งอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยสายสัญญาณที่ลากออกจากตู้ฯ ดังกล่าวนั้นมีการลากต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 และเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการจัดทำ MOU ด้านการป้องกันการให้บริการระบบโทรคมนาคมข้ามพรมแดนเพื่อการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้ามนุษย์ กับกองทัพไทย ซึ่งประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกองทัพไทยช่วยสนับสนุนลาดตระเวนพื้นที่ชายแดนและตรวจสอบการใช้สัญญาณโทรคมนาคมข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์ กำหนดการลงนาม ภายในเดือนตุลาคม 2567

7. การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD หรือ ซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สคบ. มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 

8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยกระทรวงดีอี ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตร. สมาคมธนาคารไทย สมาคมโทรคมนาคม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“ในภาพรวม จากการดำเนินงานแบบบูรณาการ สามารถกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือน มกราคม - มิถุนายน 2567 ในขณะเดียวกันจำนวนการแจ้งความคดีออนไลน์ก็ลดลงในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ เรายังต้องเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ นำคณะ ‘คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี) ลดผลกระทบประชาชน-สิ่งแวดล้อม 

(7 ม.ค. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล. ) พร้อมด้วย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายสิทธิชัย เสรีสงแสง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม , ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นำคณะลงพื้นที่ติดตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี) บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการปองกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดลอม ซึ่ง กก.วล. เห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน  2562 และเดือนธันวาคม 2564 รวมทั้งให้ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ 

นอกจากจะเป็นการติดตรวจเพื่อรับทราบข้อมูลผลกระทบที่มีต่อประชาชน ผลกระทบต่อการจราจร การท่องเที่ยวและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องประชาชนจากการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว ประธาน กก.วล. ยังได้เน้นย้ำถึง ความสำคัญและความจำเป็นที่ผู ้รับเหมาโครงการต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในระยะการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองโครงการอย่างเคร่งครัด เช่น การป้องกันปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่น เสียง การสั่นสะเทือน การคมนาคมขนส่ง การโยกย้าย การเวนคืนและชดเชยที่ดิน ทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง ให้ดำเนินการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ อย่างครบถ้วน 

รวมถึงขอความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างให้มีความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศาสนสถานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ต้องมีการดำเนินการก่อสร้างด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าในเรื่องรูปแบบและตำแหน่งสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกับอารยสถาปัตย์ของพื้นที่โดยรอบการก่อสร้างโครงการ 

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผย ‘#กระทรวงดีอี’ ผลึกกำลัง ‘#ไมโครซอฟท์’ เปิดโครงการ ‘THAI Academy’ ยกระดับทักษะ AI คนไทย 1 ล้านคน ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค AI First

วันที่ (21 เม.ย 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเปิดตัวโครงการ ‘THAI Academy ขับเคลื่อนอนาคต AI ประเทศไทย’ ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงดีอี ได้ผนึกกำลังร่วมกับ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการขึ้นว่า  รัฐบาลไทยโดยกระทรวงดีอี มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับทักษะด้าน AI สำหรับคนไทย จึงได้ผนึกกำลังกับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ ‘THAI Academy ขับเคลื่อนอนาคต AI ประเทศไทย’ ยกระดับพันธกิจการเสริมทักษะด้าน AI  ให้ครอบคลุมคนไทยกว่า 1 ล้านคน ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์และพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชนรวมกว่า 35 องค์กร ในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค AI First

นายประเสริฐ กล่าวว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวเดินและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งบนเวทีโลก รัฐบาลไทยได้วางแผนแม่บท AI แห่งชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในหลายมิติ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน AI ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง การร่วมกันเปิดตัวโครงการ THAI Academy ครั้งนี้ สอดคล้องเป็นอย่างดีกับแผนงานของภาครัฐในการจับมือกับผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

ด้าน นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะ AI ให้กับคนไทย ภายใต้โครงการ THAI Academy ไมโครซอฟท์ มุ่งมั่นทำงานประสานกับหลากหลายหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เปิดโอกาสการเรียนรู้ทักษะ AI ให้กับคนไทยได้อย่างกว้างขวาง ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2568 นี้

AI Skills Navigator แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้าน AI เพื่อคนไทยทุกคน โดยจะรวบรวมหลักสูตรด้าน AI จากไมโครซอฟท์และพันธมิตร รวมกว่า 200 หลักสูตร เพื่อตอบโจทย์การฝึกทักษะ ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จาก AI ในหลากหลายสถานการณ์ นับตั้งแต่ผู้เริ่มต้นใช้งาน บุคคลทั่วไป คนทำงานเฉพาะทาง ไปจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีหลักสูตรไฮไลท์สำหรับผู้เริ่มเรียนรู้ใน 3 ระดับ ได้แก่ “AI Basics”ปูพื้นฐานตั้งแต่ความเข้าใจในเทคโนโลยี AI ประวัติศาสตร์และที่มาเบื้องหลังนวัตกรรม และพื้นฐานในการเริ่มใช้งาน , “AI Skills for Everyone” หลักสูตรรวบรัดที่เจาะพื้นฐานการใช้งานเครื่องมือ AI บนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ในสถานการณ์ประจำวันอย่างถูกต้อง แม่นยำ และได้ผลจริง และ “Azure AI: Zero to Hero” เปิดประตูให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักศึกษาก้าวสู่โลกของคลาวด์และ AI อย่างเต็มตัว กับพื้นฐานในการสรรสร้างเครื่องมือและโซลูชันพลังงาน AI เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า คนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงประเทศ หากเรายังไม่เริ่มพัฒนาทักษะด้าน AI วันนี้ เราจะเสียโอกาสและถูกทิ้งห่างอย่างรวดเร็ว การพัฒนาทักษะด้าน AI ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและความก้าวหน้าในทุกภาคส่วนของประเทศ การลงทุนในทักษะ AI วันนี้ จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ข้อมูลจาก LinkedIn ชี้ให้เห็นว่า 70% ของทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในอนาคตจะแตกต่างไปจากปัจจุบัน โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะการใช้งาน AI เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเริ่มเรียนรู้ทักษะ AI ด้วยตนเองผ่าน AI Skills Navigator ได้แล้ววันนี้ที่ https://aiskillsnavigator.microsoft.com/th-th  โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากเนื้อหาทั้ง 200 หลักสูตรที่รวบรวมไว้ในที่เดียวแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและความสนใจที่แตกต่างกันไปของผู้เรียนแต่ละคน

นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม AI Skills Navigator แล้ว โครงการ THAI Academy ยังครอบคลุมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในหลายมิติ โดยมีตัวอย่างโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง การจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบรายการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. / DGA) เพื่อพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับข้าราชการไทยกว่า 100,000 คน พร้อมร่วมกับ สพร. ในการจัดกิจกรรม “GovAI Hackathon” ที่เปิดให้บุคลากรภาครัฐจากทุกหน่วยงานมาร่วมแชร์แนวคิดการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย โดยกิจกรรมนี้เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 , การจับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เสริมทักษะ AI ให้แรงงานไทยและผู้ที่กำลังมองหางานทั่วประเทศ รวมกว่า 100,000 คน และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ฝึกอบรมทักษะเฉพาะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรของ สกมช. และตัวแทนจากองค์กรที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศรวมกว่า 300 คน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียน-นักศึกษากว่า 10,000 คน

รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาทักษะ AI แก่บุคลากรครู 4,500 คน โดยถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจต่อไปยังนักเรียนอีกกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับ สถาบันส่งเสริม การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ (เนคเทค) บรรจุเนื้อหาจากหลักสูตรพื้นฐานด้าน AI ของไมโครซอฟท์ไว้ในหลักสูตร AI Literacy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ตามโครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงเรียน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และร่วมสร้างทักษะ AI ให้กับนักศึกษา ผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาในสายวิชาด้านเทคโนโลยี เพื่อปั้นนักพัฒนารุ่นใหม่ เสริมตลาดแรงงานสาย AI ในไทยด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถกว่า 50,000 คน

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตลาดหลักทรัพย์ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 20,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top