Tuesday, 22 April 2025
นักศึกษา

‘มหาวิทยาลัยดังของญี่ปุ่น’ ออกประกาศ ห้าม นศ.ช่วยตัวเอง หวั่นทำ ‘ท่อตัน’ ลั่น!! หากมีความต้องการเร่งด่วน โปรดแจ้ง

(24 ก.พ. 67) เรียกว่าเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เอ็กซ์ชื่อว่า bad_texter ได้โพสต์ประกาศของมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ที่ห้ามนักศึกษาช่วยตัวเอง จนทำให้มีคนเห็นโพสต์ดังกล่าวเกือบ 16 ล้านวิว โดยประกาศดังกล่าว มีเนื้อหาว่า…

“คำเตือนเรื่องการช่วยตัวเอง

การช่วยตัวเองในห้องน้ำ (อ่างล้างมือ) ของมหาวิทยาลัยถือเป็นการละเมิดกฎของทุกคณะ ในมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ท่อระบายน้ำไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำอสุจิ

หากมีน้ำอสุจิมากเกินไป ท่อก็จะเกิดการอุดตัน และการเปลี่ยนใหม่มีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นเยน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะไปปรากฏในค่าเทอมที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษาในปีถัดไปได้

มันเป็นเงินของคุณ ดังนั้น โปรดช่วยตัวเองในห้องนอน

หากมีคำถาม หรือต้องการความช่วยเหลือในการช่วยตัวเองอย่างเร่งด่วน โปรดติดต่อเรา ขอบคุณสำหรับความร่วมมือ”

โพสต์ดังกล่าว มีคนรีทวีตไปมากกว่า 6,400 ครั้ง และไลก์ไปกว่า 53,000 ครั้ง และคอมเมนต์กันรัวๆ อาทิ

- “ที่โทโฮกุ ทุกอย่างมีเหตุมีผลเสมอ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ฉันไม่เข้าใจ”
- “นอกจากนี้แล้ว ฉันเกลียดเวลามีคนล้างมือและบ้วนเสมหะในตอนท้าย แล้วปิดน้ำทันที มันน่าขยะแขยง ดังนั้น ควรล้างมันออกด้วยน้ำเยอะๆ”
- “จะเกิดอะไรขึ้นหากฉันทำคำขอเร่งด่วน…?!”
- “เป็นคำเตือนที่ดี”
- “#ระวังการช่วยตัวเอง ขอช่วยตัวเองด่วนเหรอ? ? ? มันไม่ใช่การช่วยตัวเอง แต่เป็นบริการของผู้ชายใช่ไหม?”

‘จีน’ เผชิญวิกฤติ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ‘หอพักไม่เพียงพอ’ หลังเด็กแห่เรียน ป.โท จนต้องไปเช่าอพาร์ตเมนต์ข้างนอกให้อยู่

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.67) ​อัตราการจ้างงานที่น้อยลงในจีนทำให้นักศึกษา​จบใหม่หลายคนเลือกที่จะศึกษา​ต่อปริญญา​โทมากกว่าออกมาหางานหลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยผลการสำรวจของเว็บไซต์การศึกษาจีนออนไลน์ในปี 2024 เผยว่าเมื่อปี 2021 มีจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโทราว 649,000 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 197,000 คนในปี​ 2012 และในปี 2022 กระทรวง​การศึกษา​จีนเผยว่ามีนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโท​เกือบ 700,000 คน

เมื่อมีนักศึกษา​ที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโท​มากเกินไป ก็ส่งผลให้หอพักในมหาวิทยาลัย​หลายแห่งมีจำนวนห้องพักไม่เพียงพอ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องแบ่งห้องพักส่วนหนึ่งไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีตามกฎระเบียบ​ของมหาวิทยาลัยจีนที่ส่วนมากบังคับให้นักศึกษาปริญญาตรีต้องพักในหอใน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาหอพักขาดแคลน เช่น มหาวิทยาลัย​ครุศาสตร์​เซี่ยงไฮ้​ (Shanghai Normal University)​ กำหนดให้นักศึกษา​ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้​สามารถเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลั​ย หากมีเตียงว่างถึงจะให้นักศึกษาที่เป็นคนท้องถิ่น โดยใช้ระยะทางการเดินทางจากบ้านมาเรียนเป็นเกณฑ์​ในการคัดเลือก

ด้านมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้เช่าอพาร์ตเมนต์นอกมหาวิทยาลัย​ในระยะยาว​ เพื่อทำเป็นหอพักให้นักศึกษาปริญญาโท​ชาวจีนและนักศึกษา​ชาวต่างชาติ​ บางแห่งที่เจอสถานการณ์​เร่งด่วน​ก็แก้ไขปัญหา​ด้วยการเช่าหอพักที่ยังว่างของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่​ใกล้เคียง หรือให้นักศึกษา​ปริญญาตรีไปหาหอพักเองโดยมีเงินช่วย​เหลือจากมหาวิทยาลัย​ หรือนำพื้นที่บางส่วนของห้องน้ำในแต่ละชั้นมาปรับปรุง​เป็นห้องพักให้นักศึกษา​

แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง​จะพยายามช่วยเหลือ แต่นักศึกษา​ที่ต้องอาศัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยก็ยังประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะ​เรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย นักศึกษา​คนหนึ่งของมหาวิทยาลั​ยฟู่ตั้น กล่าวว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัย​จะมีบริการรถโดยสาร​รับ-ส่งนักศึกษา​ แต่ตารางเดินรถกับตารางเข้าเรียนของตนไม่สอดคล้อง​กัน นักศึกษา​หลายคนที่เลือกเดินทางไปเรียนเองต้องใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ​กว่าจะถึงมหาวิทยาลัย​ 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากนักศึกษาคนไหนจับฉลากห้องพักไม่ได้ ก็จะต้องไปอยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัย​ โดยทางมหาวิทยาลัย​เสนอเงินช่วยเหลือให้นักศึกษา​เดือนละ 800 หยวน (ราว 4,000 บาท)​ เป็นระยะเวลา 10 เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่พอกับค่าเช่าหอพักที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งส่วนใหญ่​อยู่ที่ประมาณ​ 3,000 หยวน (ราว 14,900 บาท)

หน่วยงานภาครัฐของจีนเองก็พยายามช่วยแก้ปัญหา​นี้เช่นกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบาลออกนโยบาย​ให้มหาวิทยาลัยสร้างหอพักใหม่หรือปรับปรุง​หอพักเดิม โดยมีตอนหนึ่ง​ระบุว่าให้มหาวิทยาลัย​ซื้อหรือ​เช่าอาคารของภาคเอกชน เช่น อพาร์ตเมนต์​หรือ​อาคาร​ที่มีทั้งห้องพักและศูนย์​การค้าที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ 

หลินฝาน เจ้าของธุรกิจ​ให้เช่าอพาร์ตเมนต์​รู้สึกพึงพอใจ​กับนโยบายนี้มาก เพราะมหาวิทยาลัยเสนอราคาเช่าที่ค่อนข้างดีราว 700-1000 หยวนต่อห้อง (ราว 3,500-5,000 บาท)​ ขึ้นอยู่​กับทำเลที่ตั้งของที่พัก

'มธ.' แจง!! มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเคสดัง หลัง 'ไอลอว์' ตั้งคำถามเล่มจบ ป.เอก 'สว.สมชาย'

(24 เม.ย.67) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่สังคมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการด้วยเหตุการณ์ลอกงานทางวิชาการของนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายหนึ่งนั้น

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอชี้แจงว่า ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่เป็นการทั่วไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้ดำเนินการสรุปข้อเท็จจริงและเสนอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อไป

ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอยืนยันว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกำชับและส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางวิชาการ เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สืบไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก iLaw ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ 'รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย' ของนายสมชาย แสวงการ สว. ที่ระบุว่า พบความคล้ายกับข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งหลายจุดนั้น เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

'ออสเตรเลีย' สั่งลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศปีหน้า 'แก้ปัญหาคนล้นเมือง-ราคาที่อยู่อาศัยพุ่ง' ฟากมหาวิทยาลัยไม่ปลื้ม

(28 ส.ค.67) บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 ออสเตรเลีย ได้กลายเป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมกวาดล้างปัญหานักศึกษาต่างชาติล้นเมือง ซึ่งเป็นข้อวิตกที่สืบเนื่องกับปัญหาประชากรล้นเข้าเมืองออสเตรเลียจำนวนมากในช่วงระยะหลัง ตามหลังแคนาดา, เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่ล้วนใช้มาตรการจำกัดนี้ไปแล้ว

ทั้งนี้จากรายงานโดยอ้างอิงจากรอยเตอร์ส ระบุว่า รัฐบาลพรรคแรงงานของนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานิส ได้ประกาศเมื่อวันอังคาร (27) ว่า ในปี 2025 จำนวนเพดานนักศึกษาต่างชาติจะเหลือแค่ 270,000 คนเท่านั้น

"ภายใต้นโยบายนี้ รัฐบาลแคนเบอร์ราจะจำกัดจำนวนนักศึกษาต่างชาติใหม่ที่ 145,000 คนสำหรับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และอีก 95,000 คนสำหรับคอร์สฝึกฝีมือแรงงาน" รัฐมนตรีการศึกษาออสเตรเลีย เจสัน แคลร์ (Jason Clare) แถลงข่าว (27)

สำหรับออสเตรเลีย มีนักศึกษาต่างชาติเกือบ 600,000 คนที่ได้รับวีซ่านักศึกษาเดินทางเข้าประเทศในปี 2023 ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รอยเตอร์ส รายงานว่า ในงานแถลงข่าววันอังคาร (27) แคลร์ ได้กล่าวด้วยว่า “มีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 10% อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเรา โดยในปัจจุบันมีจำนวนสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และอีกกว่า 50% อยู่ในสถาบันเอกชนฝึกอบรมคอร์สอาชีพ”

ด้านรัฐมนตรีการศึกษาออสเตรเลีย แถลงว่า "รัฐบาลพรรคแรงงานออสเตรเลียจะแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับการลดเพดานจำนวนการรับนักศึกษาเหล่านั้นต่อไป"

ฟาก สมาคมการศึกษาอุดมศึกษาเอกชนออสเตรเลีย (The Independent Tertiary Education Council Australia) ได้ออกแถลงการณ์ว่า "มหาวิทยาลัยต้องการข้อมูลเพิ่มในการเปลี่ยนแปลงนี้" โดยชี้ว่า "การประกาศของรัฐบาลทำให้เกิดคำถามมากกว่าคำตอบ"

รอยเตอร์ส รายงานต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ก็ได้มีกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับแจ้งการจำกัดเพดาน แต่ยังไม่เปิดเผยเพิ่มเติม นอกจากระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการประเมินทางด้านการเงินและปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ

"การจำกัดเพดานนักศึกษาต่างชาติ จะส่งผลร้ายต่อมหาวิทยาลัยของพวกเรา, ภาคส่วนการศึกษาระดับสูงโดยรวม และต่อประเทศเป็นเวลาอีกหลายปีหลังจากนี้' รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ศาสตราจารย์ ดันแคน มาสเคลล์ (Prof. Duncan Maskell) แถลง

ขณะที่ เดวิด ลอยด์ (David Lloyd) ประธานกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย (Universities Australia) ชี้ว่า "การตั้งเพดานรับนักศึกษาเหมือนเป็นการติดเบรกให้กับภาคอุตสาหกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาออสเตรเลียที่มีชื่อเสียง"

ด้าน บลูมเบิร์ก รายงานว่า การสนับสนุนเข้าเมืองในออสเตรเลียตกลงในจุดต่ำสุดของรอบ 5 ปี อ้างอิงจากโพลสำรวจของ Essential ที่ได้เผยแพร่วันอังคาร (27) โดย 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างกล่าวว่า ส่งผลกระทบทางลบต่อออสเตรเลีย

ทั้งนี้ นักศึกษาต่างชาติสร้างรายได้ราว 32,500 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่ระบบเศรษฐกิจแดนจิงโจ้ในปี 2023 และทำให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาออสเตรเลียกลายเป็นภาคบริการส่งออกสูงสุดของประเทศ

🔍ส่อง 10 เมืองที่เหมาะสมกับ ‘นักเรียน-นักศึกษา’ มากที่สุดในโลก

‘QS Best Student Cities 2025’ เปิดเผยผลสำรวจ เมืองที่เหมาะสมกับ ‘นักเรียน-นักศึกษา’ มากที่สุดในโลก โดยวัดจาก ราคาที่เข้าถึงได้, ความสามารถทางวิชาการ, โอกาสในการถูกจ้างงาน, ความพึงพอใจของผู้เรียน และความหลากหลายของเมือง

ซึ่ง ‘ลอนดอน’ ประเทศอังกฤษ ติดอันดับที่ 1 ตามมาด้วย ‘โตเกียว’ ประเทศญี่ปุ่น ส่วน ‘กรุงเทพฯ’ ประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 59 ของโลก

‘รามคำแหง’ ยกเว้นค่าเทอมให้ นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ยื่นเอกสารได้ที่ ‘ส่วนกลางหัวหมาก-ทางไปรษณีย์-สาขาวิทยบริการฯที่สังกัด’

(22 ก.ย. 67) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) ยกเว้นค่าเทอมแก่นักศึกษา ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี (ภาคปกติ) ประจำภาค 2 ปีการศึกษา 2567 รายละเอียดดังนี้

- ยกเว้นค่าลงทะเบียนเรียน
- ยกเว้นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย
- ยกเว้นค่าธรรมเนียมการสอบ (เฉพาะนักศึกษาส่วนภูมิภาค)

นักศึกษาต้องทำการยื่นเอกสาร บัดนี้ - 15 พฤศจิกายน 2567

นักศึกษาส่วนกลาง
- ยื่นเอกสารที่งานบริการและสวัสดิการนักศึกษากองกิจการนักศึกษา ม.ร. หัวหมาก
- ยื่นเอกสารทางไปรษณีย์

นักศึกษาส่วนภูมิภาค
ยื่นเอกสารที่สาขาวิทยบริการฯ ที่นักศึกษาสังกัด

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่นักศึกษาที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) จากอิทธิพลพายุโซนร้อน ‘ยางิ’ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

'เด็กจุฬาฯ' 3 นิ้ว ติดป้ายป่วนมหาลัยฯ กล้องพร้อมจับภาพนิ่ง-เคลื่อนไหว หลังหนังสือโจมตี 'กองทัพ' ถูกสั่งห้ามจัดงานเปิดตัวในรั้วมหาลัยฯ

(25 ก.ย. 67) จากกรณี กอ.รมน.ออกมาท้วงติง หนังสือที่มีชื่อว่า 'ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย' ที่เขียนโดย รศ.ดร.พวงทอง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพราะมีข้อมูลในลักษณะที่เป็นเท็จ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ทำให้สังคมเข้าใจผิด และกระทบภาพลักษณ์ขององค์กรหน่วยงาน และจะประสานทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัด พิจารณาเรื่องการละเมิดข้อบังคับจริยธรรม ของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง รวมถึงอาจจำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

งานนี้สะเทือนถึงต้นสังกัด อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องออกมาเคลื่อนไหวทันที โดยล่าสุด รศ.ดร.พวงทอง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ดิฉันได้รับทราบจากท่านคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ของจุฬาฯ จัดงานเปิดตัวหนังสือ 'ในนามความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมไทยของกองทัพ' โดยไม่ได้เหตุผลที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ ได้รับรางวัลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 66

ส่วนคณะรัฐศาสตร์ ยังคงให้การสนับสนุนด้านการเงิน ในการจัดงานครั้งนี้ และภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังยินดีเป็นเจ้าภาพจัดงานต่อไป จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตาม คณะรัฐศาสตร์ไม่สามารถให้ใช้สถานที่ได้ เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถือว่าตนเป็นเจ้าของสถานที่ทั้งหมดในรั้วจุฬาฯ สอนเรื่องกระจายอำนาจการปกครองไปทำไม

รศ.ดร.พวงทอง ระบุอีกว่า ขอขอบพระคุณอย่างสูง ต่อผู้บริหารของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่ยินดีให้พื้นที่เสรีภาพแก่งานวิชาการ ที่ตกเป็นเป้าของอำนาจรัฐ ทั้ง ๆ ที่รับทราบความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อันที่จริงคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกที่หนึ่งที่ ที่แสดงความยินดีให้เราใช้สถานที่ได้ แต่เราติดต่อกับทางบ้านจิมเรียบร้อยก่อนแล้ว และการเดินทางมาบ้านจิม ก็ค่อนข้างสะดวก จึงขอขอบคุณคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา ณ ที่นี้ด้วย ย้ายแค่สถานที่ แต่เวลาเดิม ศุกร์ที่ 27 กันยายน 15.30-17.30 น. แล้วพบกันค่ะ รศ.ดร.พวงทอง ทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศที่เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเรื่องตลก
.
ล่าสุด เว็บไซต์ประชาไท ได้เปิดเผยว่า ช่วง 11.20 น. ที่บริเวณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 1 คน ได้ทำกิจกรรมแปะป้ายเรียกร้องเสรีภาพวิชาการ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐศาสตร์ หน้าอาคารจุลจักรพงษ์ และอาคารของคณะนิเทศศาสตร์ หลังมหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว

โดยมีการนำป้ายกระดาษที่ระบุข้อความว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ = Fake News ผลิตโดยจุฬาฯ’ / ‘เสรีภาพทางวิชาการกี่โมง’ / ‘ผู้บริหารจุ เป็นอะไรกับทหาร’ ติดที่ป้ายคณะรัฐศาสตร์ แต่ระหว่างนั้น ได้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย เมื่อพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รีบเข้ามาดึงป้ายกระดาษดังกล่าวออกไปทันที พร้อมนำโทรศัพท์มาถ่ายคลิปของนิสิตดังกล่าวที่มาทำกิจกรรมป่วน และสอบถามว่าอยู่คณะอะไร แต่เจ้าตัวไม่ฟัง และยังดำเนินกิจกรรมต่อไป โดยได้ไปติดป้ายกระดาษที่อาคารจุลจักรพงษ์ และอาคารของคณะนิเทศศาสตร์ด้วย ซึ่งระหว่างการติดป้ายข้อความดังกล่าว จะเห็นว่ามีผู้ชาย 1 คน ทำหน้าที่ถ่ายภาพตลอดเวลา ส่วนอีกคนทำหน้าที่ถ่ายคลิปวิดีโอ

นิสิตคนดังกล่าว อ้างว่า ที่ทำกิจกรรมนี้ ไม่ได้ต้องการทำเพื่อใครเป็นการเฉพาะ แต่เพราะว่ามหาวิทยาลัย ควรจะเป็นสถานที่จะจัดงานวิชาการแบบนี้ได้ จุฬาฯ ไม่เคยเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเสรีภาพการแสดงออก แล้วเธอก็ยังตั้งคำถามด้วยว่า การที่ก่อนหน้านี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ออกมาแบนหนังสือเล่มนี้ ทำไมจะต้องให้มีอิทธิพลเหนือผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งที่คณะรัฐศาสตร์ก็ยังอนุญาตให้จัดได้ แต่ทำไมทางมหาวิทยาลัย กลับเข้ามาแทรกแซงการทำงานของคณะ

ทั้งนี้ ที่น่าตกใจยิ่งกว่า เมื่อพบว่า รศ.ดร.พวงทอง ได้ใช้เฟซบุ๊กแชร์คลิปข่าวดังกล่าวของประชาไท พร้อมระบุแคปชันว่า “ขอบคุณนิสิตมากๆ ค่ะ ด้วยความนับถือ”

อย่างไรก็ตาม เพจ 'นักเรียนดี' ได้โพสต์ถึงกรณีนี้ด้วยว่า "ล่าสุด!! จุฬาฯ ไฟเขียวให้ใช้พื้นที่จัดงานเสวนาหนังสือ ฟ้าเดียวกัน 'ในนามของความมั่นคงภายใน' ได้ อธิการบดีจุฬาฯ ยันมหาวิทยาลัยให้เสรีภาพ"

‘ม.กรุงเทพ’ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษ ตามข้อบังคับทางวินัยของมหาวิทยาลัย พร้อมยกเลิก!! การเพิกถอนรายวิชา ให้นักศึกษาผู้เสียหายเรียนได้ตามปกติ

(9 ก.พ. 68) ‘มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’ ออกแถลงการณ์ กรณีนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ถูกทำร้ายร่างกาย

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชน กรณีนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา จนได้รับบาดเจ็บ 

มหาวิทยาลัยกรุงเทพขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ได้รับผลกระทบ และขอย้ำจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง 

มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยทันทีที่ทราบเรื่อง และได้ทราบตัวผู้ก่อเหตุ พร้อมเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องทุกกรณี ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการปกครอง เพื่อดำเนินการสอบสวนและพิจารณาโทษตามระเบียบข้อบังคับทางวินัยของมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้ ดำเนินมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ดังนี้

- ยกเลิกการเพิกถอนรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาผู้ถูกกระทำสามารถเรียนได้ตามปกติ
- ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่นักศึกษาและผู้ปกครอง พร้อมประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด
- ให้การรักษาพยาบาลโดยทีมแพทย์และพยาบาลของมหาวิทยาลัย และจัดเตรียมจิตแพทย์/ นักจิตวิทยา เพื่อดูแลสภาพจิตใจในกรณีที่นักศึกษาต้องการคำปรึกษา

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการทั้งหมดด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและความเป็นธรรมภายในสถาบัน พร้อมทั้งยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top