Monday, 21 April 2025
นักบินอวกาศ

รู้จัก ‘Talgat Musabayev’ วีรบุรุษแห่งรัสเซีย-คาซัคสถาน ผู้ท่องอวกาศมากถึง 3 ครั้ง รวมระยะเวลา 341 วัน

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev บนสถานีอวกาศ Mir ของสหพันธรัฐ Russia

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมต้อนรับวุฒิสมาชิก Talgat Musabayev แห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ซึ่งมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ จึงเกิดไอเดียอยากแชร์เรื่องราวของวุฒิสมาชิก Talgat Musabayev แห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ขอบอกเลยว่า เรื่องราวน่าสนใจมากๆ แต่จะเป็นอย่างไร ตามไปอ่านกันครับ

วุฒิสมาชิก Talgat Amangeldyuly Musabayev เกิดเมื่อ 7 มกราคม ค.ศ. 1951 เป็นนักบินทดสอบของอดีตสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐ Russia และสาธารณรัฐ Kazakhstan และเป็นอดีตนักบินอวกาศซึ่งได้เดินทางไปในอวกาศถึงสามครั้ง 

โดยการเดินทางไปในอวกาศสองครั้งแรกเป็นการประจำการระยะยาวบนสถานีอวกาศ Mir ของสหพันธรัฐ Russia ส่วนการบินในอวกาศครั้งที่สามเป็นภารกิจนำ Dennis Tito นักท่องเที่ยวอวกาศรายแรกของโลกไปเยี่ยมเยียนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะเวลาสั้นๆ 

วุฒิสมาชิก Musabayev เกษียณจากอาชีพนักบินอวกาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 และในปี ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ KazCosmos สำนักงานงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan 

สามนักบินอวกาศชาว Kazakhstan

วุฒิสมาชิก Musabayev สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิศวกรการบินพลเรือน Riga (สาธารณรัฐ Latvia ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1974 จากนั้นในปี ค.ศ. 1983 สำเร็จการศึกษาจาก Higher Military Aviation School ใน Akhtubinsk โดยได้รับประกาศนียบัตรวิศวกรรมศาสตร์ วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับรางวัลมากมายหลายรางวัลในฐานะนักบินผาดโผน และได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 ในปี ค.ศ. 1991 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนาวากาศตรี และย้ายไปประจำกลุ่มงานนักบินอวกาศของกองทัพอากาศสหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมากลายเป็นสหพันธรัฐ Russia 

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev กับทีมนักบินอวกาศของภารกิจในอวกาศครั้งแรก Mir EO-16

ภารกิจในอวกาศครั้งแรกของวุฒิสมาชิก Musabayev ในฐานะสมาชิกลูกเรือของภารกิจระยะยาว Mir EO-16 เดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-19 ซึ่ง วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับมอบหมายให้เป็นวิศวกรการบิน ภารกิจดำเนินไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 รวมระยะเวลา ๑๒๕ วัน ๒๒ ชั่วโมง ๕๓ นาที ได้ทำ Spacewalk สองครั้ง ระยะเวลารวม ๑๑ ชั่วโมง ๗ นาที 

ต่อมาภารกิจในอวกาศครั้งที่สอง วุฒิสมาชิก Musabayev ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการของการสำรวจระยะยาว Mir EO-25 ซึ่งเดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-27 ภารกิจมีระยะเวลาตั้งแต่ 29 มกราคม ถึง 25 สิงหาคม ค.ศ. 1998 รวมระยะเวลา ๒๐๗ วัน ๑๒ ชั่วโมง ๕๑ นาที ๒ วินาที ได้ทำ Spacewalk ห้าครั้ง รวมระยะเวลา ๓๐ ชั่วโมง ๘ นาที

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev กับภารกิจในอวกาศครั้งที่สาม ISS EP-1

ภารกิจที่สามอันเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในอวกาศของวุฒิสมาชิก Musabayev คือการเป็นผู้บัญชาการของ ISS EP-1 ซึ่งเป็นภารกิจเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ เดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-32 และกลับสู่พื้นโลกโดยยานอวกาศ Soyuz TM-31 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 รวมระยะเวลา ๗ วัน ๒๒ ชั่วโมง ๔ นาที ภารกิจเยี่ยมเยียนครั้งนี้มีความพิเศษคือ การพา Dennis Tito นักท่องอวกาศคนแรกของโลกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองไปในอวกาศ (ค่าใช้จ่ายในขณะนั้นราว US$20,000,000 แต่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันวุฒิสมาชิก Musabayev คาดว่า น่าจะราว ๆ US$50,000,000) ในปี ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ๓๐ นักบินอวกาศที่ใช้เวลาอยู่ในอวกาศมากที่สุดคือ ๓๔๑ วัน 

วุฒิสมาชิก Musabayev ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan หรือ KazCosmos

วุฒิสมาชิก Musabayev เกษียณจากการเป็นนักบินอวกาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรม Zhukovsky กองทัพอากาศสหพันธรัฐ Russia และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพลตรีในเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2007 

นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้อำนวยการของ ‘Bayterek Corp.’ ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง Kazakhstan-Russia สำหรับการสร้าง Baiterek space complex ที่ ฐานปล่อยจรวด Baikonur ต่อมา 11 เมษายน ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan หรือ KazCosmos ตามมติของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan 

วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ด้านการบินพลเรือนและกิจกรรมอวกาศตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ลงวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2014 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการบินและอวกาศของสาธารณรัฐ Kazakhstan ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ลงวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2014 

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2016 ตามคำสั่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 โดยคำสั่งของประมุขแห่งรัฐ 

ปัจจุบันวุฒิสมาชิก Musabayev ยังเป็นกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ กลาโหม และความมั่นคงของวุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan อีกด้วย

วุฒิสมาชิก Musabayev กับ Nursultan Nazarbayev ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ Kazakhstan 

นอกจากนี้แล้ววุฒิสมาชิก Musabayev ยังเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชา จรวดและ เทคโนโลยีอวกาศ echnology เป็นสมาชิก : the National Academy of Sciences สาธารณรัฐ Kazakhstan, the National Engineering Academy สาธารณรัฐ Kazakhstan, the International Academy of Astronautics, the International Academy of Informatization, Tsiolkovsky Russian Cosmonautics Academy, Russian Academy of Natural Sciences

‘กุ้ย ไห่เฉา’ นักบินอวกาศชาวจีน จากเด็กเลี้ยงควาย สุดท้ายได้บินขึ้นฟ้า ไปหาดวงดาว

เฟซบุ๊ก ลึกชัดกับผิงผิง ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ กุ้ย ไห่เฉา นักบินอวกาศชาวจีน ที่มีความขยันหมั่นเพียร ในการเล่าเรียนหนังสือ โดยมีใจความว่า ...

กุ้ย ไห่เฉา(桂海潮)นักบินอวกาศจีน ทำให้ดิฉันเชื่อมั่นว่า การเรียนหนังสือสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ 
ตอนอายุ 6 ขวบ เขายังเป็นเด็กเลี้ยงควายในหมู่บ้านชนบท ชอบดูดวงดาว ตอนอายุ 36 ปี เขาได้ขึ้นฟ้าไปหาดวงดาว
ตามภาษาไต คำว่า “ซื้อเตี้ยน” แปลว่าดินแดนที่สวยงาม อำเภอซื้อเตี้ยนตั้งอยู่ทางตะวันตกของมณฑลยูนนานภาคใต้ของจีน ขับรถจากอำเภอซื้อเตี้ยนไปยังชานเมืองกว่า 20 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านเกิดของกุ้ย ไห่เฉา 

เพื่อนบ้านเก่าของกุ้ย ไห่เฉาเล่าว่า ตอนสมัยเด็ก มักจะได้ยินเสียงท่องหนังสือจากบ้านของเขา บางที พ่อจะดึงหูของผม และพาไปดูว่า น้องกุ้ย ไห่เฉาขยันเรียนหนังสืออย่างไร 
ตอนที่เรียนมัธยมปลายปีที่ 2 กุ้ย ไห่เฉาได้ฟังข่าวที่จีนยิงส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-5 ส่งนักบินอวกาศจีนคนแรกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ปีต่อมา เขาสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยการบินอวกาศปักกิ่งด้วยคะแนนสูงสุดด้านเทคโนโลยีของมณฑลยูนนาน 

กุ้ย ไห่เฉาจบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก แล้วไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ผลงานทางวิชาการของเขากว่า 20 ฉบับได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับสุดยอดของโลก 
ปี 2018 กุ้ย ไห่เฉาอายุ 31 ปี กลายเป็นศาสตรจารย์สอนนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยการบินอวกาศปักกิ่ง ทั้งยังเป็นนักบินอวกาศสำรอง เวลาว่าง เขามักจะวิ่งทนในสนามกีฬา ปั่นจักรยานหรือว่ายน้ำ เมื่อนักศึกษามีปัญหาไปถามเขา มักจะต้องไปตามที่สนามกีฬา 
วันที่ 30 พฤษภาคมปี 2023 จีนยิงส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-16 ที่มีการบรรทุกนักบินอวกาศชุดใหม่จำนวน 3 คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งหมด ให้ไปขึ้นสถานีอวกาศจีน โดยเฉพาะกุ้ย ไห่เฉา เขานับเป็นนักวิทยาศาสตร์จีนคนแรกที่ขึ้นสถานีอวกาศจีน รับผิดชอบการทดลองต่างๆ บนสถานีอวกาศ 

ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายนนี้ นักเรียนจีนจำนวนกว่า 12.9 ล้านคนเข้าร่วมสมัครสอบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีนประจำปี 2023 หวังว่าพวกเขาประสบความสำเร็จ และสามารถที่จะจบการศึกษาด้วยคุณภาพสูง มีอนาคตที่ดีงามยิ่งขึ้น

‘โอเล็ก โคโนเนนโก’ นักบินอวกาศชาว ‘รัสเซีย’ วัย 59 ปี ทุบสถิติเพื่อนร่วมชาติ ใช้ชีวิตในอวกาศรวม 1,000 วัน

(10 มิ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า โอเล็ก โคโนเนนโก นักบินอวกาศชาวรัสเซียวัย 59 ปี กลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ใช้เวลาอยู่ในอวกาศรวมทั้งสิ้น 1,000 วัน

โดยนักบินอวกาศใต้สำนักงานอวกาศของรัสเซีย ‘รอสคอสมอส’ ได้เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โดยการเดินทางไปยังไอเอสเอสในปัจจุบันของ โอเล็ก โคโนเนนโก เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2023 ที่ออกเดินทางไปพร้อมกับ นิโคไล ชุบ เพื่อนร่วมชาติ และ โลรอล โอฮานา นักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โคโนเนนโกได้ทำลายสถิติเป็นบุคคลที่ใช้เวลาอยู่บนอวกาศนานที่สุดในโลก ที่ เกนนาดี พาดัลกา เพื่อนร่วมชาติชาวรัสเซีย เคยทำไว้ที่ 878 วัน 11 ชั่วโมง 29 นาที และ 48 วินาที เมื่อปี 2015 ก่อนที่ โคโนเนนโก จะกลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ใช้เวลาอยู่บนอวกาศครบ 1,000 วัน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

และหากภารกิจของโคโนเนนโกสิ้นสุดลงตามกำหนดในวันที่ 23 กันยายน 2024 เขาจะใช้เวลาอยู่ในอวกาศทั้งหมด 1,110 วัน

โคโนเนนโก ได้กล่าวกับสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซีย ว่า เขามั่นใจและภูมิใจในงานที่เขาทำ นอกจากนี้เขายังบอกกับทาสส์ด้วยว่า เพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันของเขาบนไอเอสเอส เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมแสดงความยินดีกับเขาในความสำเร็จของเขา

ทั้งนี้ ไอเอสเอสเป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมไม่กี่อย่างที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิด หลังจากการเหตุการณ์การรุกรานยูเครนของมอสโกในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รอสคอสมอสได้ประกาศในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ความร่วมมือในโครงการการบินร่วมกับนาซา ในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังไอเอสเอสได้ขยายออกไปแล้วจนถึงในปี 2025 

'อดีตนักบินนาซ่า' ตอบคำถาม ทำไมไก่ CP ถึงได้ไปอวกาศ ย้ำ!! ไก่ที่ส่งให้นักบินหรือคนไทย ล้วนมีมาตรฐานเดียวกัน

(12 ก.ย.67) อดีตนักบินอวกาศนาซ่า ไมค์ มาสสิมิโน (Mike Massimino) ออกมาตอบคำถามคนไทยเรื่องอาหารอวกาศ และ 'ไก่ CP' ของไทยว่ามีมาตรฐานเดียวกับที่นักบินอวกาศได้กินบนสถานีอวกาศหรือไม่ 

โดย ไมค์ ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า การส่งอาหารไปให้นักบินอวกาศทานคือเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องผ่านมาตรฐานอาหารอวกาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่สูงที่สุดในโลก ดังนั้นไก่ไทยของ CP จะต้องผ่านการทดสอบทุกขั้นตอน และได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับของนักบินอวกาศทานได้

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะส่งอาหารขึ้นสู่อวกาศ มันต้องผ่านกระบวนการทดสอบเพื่อหาการปนเปื้อน ซึ่งหากมีเชื้ออะไรก็ตามอยู่ มันก็จะไม่สามารถเก็บได้นาน มันจึงต้องถูกเตรียมและปรุง จากนั้นก็ทำการปิดผนึกอย่างดี เพื่อให้ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ และปลอดภัยสำหรับนักบินอวกาศ และนั่นไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้ง่าย ๆ เลย มันต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบมากมาย" ไมค์ กล่าวและว่า...

"เพราะพวกเราไม่ต้องการให้มีนักบินอวกาศป่วยจากอาหารที่ถูกส่งขึ้นไป มันไม่ได้แค่ทำให้พวกเขาป่วย แต่มันยังกระทบต่อภารกิจด้วย ซึ่งนั่นอาจสร้างความอันตรายต่อภารกิจที่พวกเราต้องทำ...

"ดังนั้น ผมจึงมีความมั่นใจมากว่า 'ไก่ CP' นั้นมีมาตรฐานขั้นสูงสุด พวกมันถูกตรวจสอบผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนอย่างละเอียด จนมั่นใจได้ว่าปลอดภัยพอที่จะส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศ"

ไมค์สรุปช่วงท้ายด้วยว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักบินอวกาศหรือเป็นคนไทย ก็มั่นใจได้เลยว่าไก่ซีพีที่ส่งให้นักบินอวกาศทาน จะทานที่ไทยหรือบนอวกาศก็มาตรฐานความปลอดภัยเดียวกัน

นักบินอวกาศจีน สร้างประวัติศาสตร์ เดินบนอวกาศ!! นานกว่า 9 ชั่วโมง

(22 ธ.ค. 67) 2 นักบินอวกาศสัญชาติจีน สร้างสถิติโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการเดินบนอวกาศกว่า 9 ชั่วโมง ตามแถลงการณ์ขององค์การอวกาศจีน (China Manned Space Agency)

การเดินสำรวจอวกาศ ดำเนินการโดย Cai Xuzhe และ Song Lingdong ซึ่งอยู่บริเวณสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space) ที่โคจรอยู่ในระดับวงโคจรต่ำของโลก โดยนานกว่าสถิติล่าสุด ของนักบินนาซา 2 คน คือ เจมส์ วอสส์ และซูซาน เฮล์มส์ ที่ทำไว้ในปี พ.ศ.2001 อย่างน้อย 4 นาที

โดยนักบินทั้งสองได้สวมชุดอวกาศรุ่น เฟยเทียน (Feitian) เพื่อดำเนินภารกิจที่สำคัญหลายรายการนอกสถานี เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเศษวัสดุจากอวกาศ

การสำรวจอวกาศของนักบินอวกาศของจีน เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2008 นับว่าความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความสำเร็จทางอวกาศอื่นๆ ด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ปักกิ่งมีจุดยืนทางการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ จีนได้ส่งยานสำรวจลำแรกลงจอดบนดาวอังคารได้ในปี 2021 พร้อมตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 จะส่งนักบินอวกาศชุดแรกไปเหยียบดวงจันทร์ โดยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ปักกิ่งได้ขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ประมาณ 12 ประเทศ สำหรับโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ โดยมีความพยายามที่จะสร้างฐานบนดวงจันทร์ (moon base) ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ด้วย (moon’s south pole)

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใจป้ำ!! เสนอให้จ่าย ‘ค่าล่วงเวลา’ สองนักบินอวกาศ ที่ติดอยู่ในอวกาศ!! นาน 9 เดือน

(23 มี.ค. 68) หลังจากที่สองนักบินอวกาศ Barry 'Butch' Wilmore และ Sunita 'Suni' Williams เดินทางกลับมาสู่โลกจากที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือน โดยแผนการเดินทางที่กำหนดเอาไว้เพียง 8 วันเท่านั้น  

หลังจากออกเดินทางสู่ ISS เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 เพื่อ 'การเดินทางระยะเวลา 8 วัน' แต่ในที่สุดแล้ว Wilmore และ Williams ก็ลงเอยด้วยการกลับคืนสู่พื้นโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มีนาคม 2025) แม้ว่าทั้งคู่จะถูกบังคับให้ขยายเวลาในการอยู่ในอวกาศโดยไม่มีทางเลือก แต่โฆษกของ NASA ระบุว่า "เมื่อนักบินอวกาศของ NASA อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พวกเขาจะได้รับเงินเดือนจากการทํางาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาหรือวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดอื่น ๆ สําหรับเวลาในอวกาศที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือนย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แผนการ จิตใจ และหรือสุขภาพร่างกาย สาเหตุที่ทั้งคู่ไม่สามารถกลับสู่โลกได้นั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติของยานอวกาศที่จะนำทั้งคู่กลับมาและต้องได้รับการช่วยเหลือจากยาน SpaceX Crew Dragon โฆษกของ NASA กล่าวเสริมว่า "พวกเขายังอยู่ในภารกิจชั่วคราวระยะยาว (Temporary Duty : TDY) และได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ตามจำนวนวันที่พวกเขาอยู่ในอวกาศ ซึ่งเบี้ยเลี้ยง TDY สําหรับการเดินทางไปยังสถานที่ใด ๆ ในปัจจุบันคือ วันละ $5"

Cady Coleman อดีตนักบินอวกาศของ NASA เปิดเผยว่า เธอเคยได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY 'ประมาณ $4 ต่อวัน' จากสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยอิงจากภารกิจ 159 วันของเธอในปี 2010-11 ซึ่งเธอได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ประมาณ $636 ต่อมาลูกสาวของ Wilmore ได้โพสต์ TikTok อ้างว่า พ่อของเธอถูกกําหนดให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY $5 พิเศษ รวมเป็น $1,430 บวกกับเงินเดือนคร่าว ๆ อีกประมาณ '$152,258.00 ต่อปี' 

ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2025 ว่า นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินว่านักบินอวกาศไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา และหาก NASA ทำไม่ได้ เขายินดีที่จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้นักบินอวกาศทั้งสองด้วยเงินส่วนตัว ประธานาธิบดี Trump บอกว่า: "ไม่มีใครเคยบอกถึงเรื่องนี้กับผมเลย ถ้าจําเป็นผมจะใช้เงินส่วนตัวของผมจ่ายเอง” นักบินอวกาศทั้งคู่กลับบ้านหลังจากผ่านไป 286 วัน โดยประธานาธิบดี Trump ได้ขอให้ Elon Musk 'ไปรับ' Wilmore และ Williams ผู้ที่ประธานาธิบดี Trump อ้างว่าถูก 'ทอดทิ้งโดยฝ่ายบริหารของ Biden ในอวกาศ' ซึ่งตอนนั้น ประธานาธิบดี Trump ได้โพสต์สรุปใน Truth Social ของเขาว่า "พวกเขารออยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาหลายเดือนแล้ว Elon จะดำเนินการเร็ว ๆ นี้ หวังว่าทุก ๆ อย่างจะเรียบร้อยและปลอดภัย ขอให้โชคดีนะ Elon!!!" 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top