Tuesday, 22 April 2025
ธุรกิจ

'ดร.ก้องเกียรติ' ชี้!! 'ธุรกิจคาร์บอนต่ำ' โอกาสทองของ SME 'ลดต้นทุน-สร้างรายได้-ช่วยรักษ์โลก' เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด ในประเด็น 'ความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจคาร์บอนต่ำ' โดย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า...

ธุรกิจคาร์บอนต่ำ หมายถึง ธุรกิจที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ในปริมาณต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับท้องตลาดที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น...

ถ้าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ส่งออก เช่น ลำไย กระบวนการอบลำไยหลัก ๆ ก็ต้องมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวนมากอยู่แล้ว เนื่องจากมันมีการบ่มแก๊ส แต่ถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการอบลำไยของเราไม่ให้ใช้แก๊สหรือใช้วิธีการอื่น ๆ แทน เพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ก็จะทำให้มีความต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่พอเทียบวัดจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว ของเราก็จะมีปริมาณที่ต่ำกว่า และก็เรียกได้ว่าเป็น ธุรกิจคาร์บอนต่ำไปโดยปริยาย

เมื่อถามว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ SME มีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกร้อนด้วยหรือไม่อย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ 

1.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น การใช้เชื้อเพลิงในการดำเนินธุรกิจ 

2.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อม เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โรงไฟฟ้า 

3.การดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จัดจ้าง ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย การบริการ ล้วนเกี่ยวข้อง 

ซึ่ง ผู้ประกอบการ SME เป็นผู้ซัปพลาย (Supply) ให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่โดยตรง ทำให้มีความผูกพันกันเป็นห่วงโซ่ 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ของประเทศไทยมีจำนวนกว่า 95% สร้างการจ้างงานกว่า 50% แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการ SME ร่วมแรงร่วมใจกันลดโลกร้อน ก็จะได้รับประโยชน์คืนกลับมามากมาย ดังนี้...

1.สามารถลดพลังงานที่ใช้และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ 
2.สามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้กลับมาหรือใช้ในองค์กร 
3.เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าคุณภาพสูงได้ ซึ่งเป็นตลาดใหม่เรียกว่า Green Market Sector 

ทั้งนี้ การทำธุรกิจคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการ SME มีวิธีการและรายละเอียดมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไปพร้อมกับการหยุดสภาวะโลกเดือดด้วยการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำร่วมกับการสร้างโอกาสใหม่ของธุรกิจด้วยคาร์บอนเครดิต บรรยายโดย ดร.ก้องเกียรติ สุริเย วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เวลา 13.00-16.30 น. โดยสามารถลงทะเบียนผ่านลิงก์เพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ https://bit.ly/45fVVxL 'โอกาสทองของ SME ที่ไม่ควรพลาด'

'Interlink Communication Company Visit' ครั้งที่ 2/2567 ต้อนรับนักลงทุน เผยผลความสำเร็จ เปิดแผนทิศทางโชว์ศักยภาพธุรกิจ 'ที่เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน'

เปิดบ้านใหญ่ ILINK บริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี และมีความเชี่ยวชาญอันโดดเด่นด้านสายสัญญาณ พร้อมกับอุปกรณ์ส่งสัญญาณอันดับต้น ๆ ของประเทศ จากความตั้งมั่นของ CEO ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย จึงมีความตั้งใจเผยแผนกลยุทธ์ของทิศทางการเติบโตกว่า 38 ปี ทั้ง 3 ธุรกิจ ให้เห็นภาพชัดอย่างเป็นที่ประจักษ์ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ 'เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน' ซึ่งสามารถขับเคลื่อนดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย และก้าวหน้าได้อย่างมีคุณภาพมาจนถึงทุกวันนี้

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK นำโดย คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ต้อนรับเหล่านักลงทุน และผู้ที่สนใจ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมบริษัทฯ เผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา และทิศทางในขับเคลื่อนของทั้ง 3 ธุรกิจ รวมทั้งชูกลยุทธ์จากความชำนาญของบริษัทฯ ที่ได้นำมาปรับใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ในงาน “Interlink Communication Company Visit” ครั้งที่ 2/2567 ณ สำนักงานใหญ่ อาคารอินเตอร์ลิ้งค์ฯ เพื่อส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และทั่วถึง ตามหลักการกำกับกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักลงทุนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจกว่า 38 ปี ของทั้ง 3 ธุรกิจ และ 1 มูลนิธิ อันได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business), ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business), ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center Business) และมูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ (Interlink Hai Jai Foundation) ได้วางแนวทางไว้อย่างเด่นชัด และยังคงตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และทั่วถึง ซึ่งจากผลการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เติบโต ตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่องที่มาเหนือความคาดหมายจนถึงปัจจุบันนั้น ด้วยการเติบโตที่ โตเร็ว โตแรง โตทุกธุรกิจ ปัจจุบันก็ยังคงมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนับเป็นปัจจัยที่สำคัญของแผนการผลักดันธุรกิจที่บริษัทฯ ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งในโลกปัจจุบัน และอนาคต  

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ (11 - 12 ก.ค. 67) นับเป็นการเปิดเผยหลักการ เจาะลึกถึงกลยุทธ์ และวางแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อตอกย้ำให้เห็นภาพชัดของผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งวางเป้าหมายหลัก ๆ ของปี 2567 และในปีถัดไป ล่วงหน้าในปี 2568, 2569, และ 2570 ของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ โดยนำมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางการเติบโต และการปรับตัวในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าใจรายละเอียด ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพได้อย่างมีคุณภาพที่ครอบคลุมทุกรอบด้าน ทุกมิติขององค์กร อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างโอกาสอันดีร่วมกัน เพื่อจูงใจให้ทุกท่านเข้าร่วมลงทุน เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป นอกจากนี้ ทุกท่านยังได้มีโอกาสร่วมซักถาม และตอบคำถาม โดยมี คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการฯ ที่จะมาให้ข้อมูลอย่างกระจ่างชัด และโปร่งใส รวมถึงเปิดให้ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น และสร้างสัมพันธ์อันดีให้แก่นักลงทุนร่วมกัน

โดย คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากความตั้งมั่นของผม ด้วยการปรับกลยุทธ์ของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และต้องลดค่าใช้จ่ายที่เป็นการสูญเสีย เพื่อหนุนให้ทุกธุรกิจดำเนินงาน และขับเคลื่อนไปตามแบบแผน ขานรับกำไร ทำรายได้อย่างเติบโตแบบมีคุณภาพต่อไปในทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ก้าวกระโดดทำกำไรเหนือความคาดหมายสูงเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ที่ทุกท่านสามารถเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่า บริษัทฯ ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้า และอุปกรณ์ รวมทั้งโปรดักส์ต่าง ๆ ที่เราได้รังสรรค์ คิดค้น พัฒนานวัตกรรมใหม่ให้ตอบโจทย์แก่ยุคสมัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคงเป็นปัจจัยหลักสำคัญแห่งการสื่อสารถึงกันอยู่เสมอ ตลอดจนยังคงมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศร่วมกันทั้ง 3 ธุรกิจ เพื่อกระตุ้นการทำยอดขายที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับสร้างกำไรแบบมีคุณภาพ นับว่าเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จที่เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ที่ทุกท่านสามารถมั่นใจได้ว่า ในปีนี้ และในอนาคตข้างหน้า จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เติบโต ขยายกว้าง และมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน อีกทั้ง จะสามารถเติบโตได้ตามที่ตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ โดยใช้ความสามารถจากการเป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ในธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ และความชำนาญในแต่ละธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต ต่อเนื่อง อย่างยั่งยืนแบบมีคุณภาพ ทั้งรายได้ และกำไรสุทธิ ดั่งวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เรา” 

   

 

‘ดร.สุวินัย’ มองปัญหาของ ‘ไทย’ ไม่ใช่แค่ ‘ปลาหมอคางดำ’ บุกระบบนิเวศ แต่ยังมี ‘ทุนนอก’ บุกระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเกิด ‘วิกฤตฐานรากปี 2567’

(24 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤติปลาหมอคางดำ’ กับปัญหา ‘Competitive Exclusion’ ในระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…

● ปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำในเชิงชีววิทยา

ในเรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ ผู้รู้ทางชีววิทยาเขาจะแบ่งสิ่งมีชีวิตเป็น ...
(1) พวกผลิตเองได้ (autotroph) เช่น พืช 
(2) พวกผลิตอาหารเองไม่ได้ (heterotroph) เช่น สัตว์ทั่วไป ซึ่งจะแบ่งย่อยเป็นพวกกินพืช (herbivores) พวกกินสัตว์ (carnivore) พวกกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore)
(3) พวกผู้ย่อยสลายหรือพวกที่กินซาก (decomposer หรือ saprophytes) เช่น เห็ดรา สัตว์กินซาก นกแร้ง วรนุช ฯลฯ

การที่ผู้รู้ทางชีววิทยาแยกประเภทแบบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทนี้มันอยู่ที่ไหนในห่วงโซ่อาหาร การที่ปลาหมอคางดำมันสร้างปัญหาอยู่ตอนนี้ ก็เพราะมันกินทั้งพืช สัตว์ และซาก 

เท่านั้นยังไม่พอ ปลาหมอคางดำยังอยู่ได้ทั้ง 4 น้ำคือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำร้อน (ทนอุณหภูมิสูงได้) ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำจึงสามารถขยาย ‘พื้นที่ของตัวเอง’ ไปในระบบนิเวศ จนมันไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่นเขาอยู่

แค่นี้ยังไม่พอ ปกติพวกสัตว์จะมีการสืบพันธุ์ แบบ K type กับ R type

K type นี้จะมีลูกน้อย อายุยาวต้องเลี้ยงลูกนาน โอกาสรอดของลูกจึงสูงกว่า ถ้ามีลูกน้อย (สัตว์มนุษย์จัดอยู่ใน K type)

ส่วนพวก R type นี้จะออกลูกมาก เพราะโอกาสรอดของลูกมันจะต่ำ อาจจะถูกสัตว์อื่นกินไปมากก่อนจะโต เช่น นก หนู ปลา 

ส่วนเจ้าปลาหมอคางดำนี้ แม้จะเป็นพวก R type แต่ปลาหมอคางดำกลับมีวิวัฒนาการที่เหนือกว่าปลาทั่วไปที่พอผสมพันธุ์ภายนอกตัวเสร็จ ก็ไม่ดูแลต่อ 

แต่พ่อปลาหมอคางดำกลับอมลูกในปาก ปกป้องลูกของมัน จนมันอัตราการรอดมันสูงแบบ K type ไม่เหมือน R type ชนิดอื่น

มิหนำซ้ำปลาหมอคางดำยังกินทุกอย่าง อยู่ได้ทุกที่ ขยายพันธุ์เร็ว มีโอกาสรอดสูง..ปลาหมอคางดำจึงรุกเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกระบบนิเวศ และทุก niche ในน้ำ...มันจึงสร้างปัญหาร้ายแรงต่อระบบนิเวศ

ในทางนิเวศวิทยา มีศัพท์คำหนึ่งคือ ‘Competitive Exclusion Principle’... ซึ่งโดยหลัก ๆ มันคือสิ่งเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’

ในระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนต้องผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเขาจะหา ‘พื้นที่’ ของเขาในระบบนิเวศ หรือ niche ในการอยู่อาศัยของเขา เช่น จิ้งเหลนอยู่หากินตามพื้น, กิ้งก่าอยู่หากินบนต้นไม้ ไม่ทับเส้นกัน 

แต่ถ้าเมื่อไรมันทับเส้นกัน มันจะมีแค่สัตว์ชนิดเดียวที่หากินเก่งกว่า ที่มันจะรอด สัตว์ชนิดไหน ตัวไหน ถ้าหา niche ใหม่ไม่ได้ก็ตายหรือสูญพันธุ์ไป 

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเจ้าปลาหมอคางดำนี้ มันกระจายตลาดของมันไปแทบจะทั่วทุก niche ในระบบนิเวศ?

จากหลักการของ Competitive Exclusion Principle ข้างต้น เราย่อมคาดการณ์ได้ว่า ...

มันคงมีหลายชีวิตหลายสายพันธุ์ ที่มันแข่งขันในตลาด ใน niche ของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป...จนอาจจะต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แน่นอนว่าในระบบนิเวศนี้มันไม่ได้อาศัยการแข่งขันกันอย่างเดียว แต่มันต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วย 

เมื่อเกิดการสูญพันธุ์จำนวนมาก พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ตัวระบบนิเวศทั้งระบบมันก็คงอยู่ไม่ได้ต้องล่มสลายลง

● การรุกคืบของทุนต่างด้าวที่หนีตายจากประเทศตัวเอง 

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ใช้การแข่งขันตามกลไกตลาด โดยผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) เช่นกัน

การแข่งขันกันในตลาดนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์มันเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค...คนที่แข็งแกร่งก็อยู่รอด ส่วนคนที่แข่งต่อไม่ได้ก็ต้องล้มตายไป

จะเห็นได้ว่าในที่สุด ‘เศรษฐกิจไทย’ ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยง Competitive Exclusion Principle นี้ไปได้ ... โรงงานต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ ร้านค้าต่าง ๆ แห่ทยอยปิดตัว เพราะแข่งขันในตลาดต่อไปไม่ได้

กล่าวในเชิงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ...ตอนนี้ธุรกิจคนไทยต้องเผชิญกับ alien species อื่น หรือ ‘กองทัพธุรกิจต่างด้าว’ (ปลาหมอคางดำเวอร์ชันธุรกิจ) ที่เขาหนีตายจากการแข่งขันใน ‘เกมกินรวบ Competitive Exclusion’ ของเจ้าพ่อ Platform ในประเทศของตน โดยหันมายึดตลาดใหม่ในบ้านเราแทน

นอกจากนี้ยังมีการผงาดขึ้นของ AI และหุ่นยนต์ที่ต่อไปก็จะเข้ามากินรวบแบบ Competitive Exclusion ใน ‘ตลาดแรงงาน’ ของจีนและของไทยอีกในไม่ช้า

สุดท้ายเมื่อมันเหลือแต่ ‘สปีชีย์ที่แข็งแกร่งที่สุด’ ที่ครอบครองได้ ‘ทุกตลาด’ ของระบบเศรษฐกิจไทยเท่านั้นที่จะอยู่รอดและเป็นใหญ่ได้

พอเป็นแบบนี้ ต่อไปชนชั้นล่างไทย ชนชั้นกลางไทย และธุรกิจรายเล็กรายน้อยของคนไทย มันจะเหลืออะไร?

~เรียบเรียงจากเพจของ เต่า วรเดช

● ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ น่าจะหนักกว่าและยืดเยื้อกว่า ‘วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540’ อย่างเห็นได้ชัด

เนื่องเพราะ ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ประกอบด้วย 2 วิกฤติผสมผสานกันกลายเป็นแรงบวกที่ส่งผลกระทบหนักขึ้นเป็นสองเท่า

2 วิกฤติที่ว่านั้นคือ

(1) ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือน’ ที่ตอนนี้ได้สะสมจนทะลุ 91.3% ของ GDP ทำให้กำลังจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนหายไปไม่น้อย

(2) วิกฤติการล่มสลายของ ‘ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ’ ของธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย ที่ถูก ‘ทุนจีน’ บุกเข้ามารุมขยี้ เพื่อยึดพื้นที่ด้วยกลยุทธ์ถล่มราคาแบบบ้าเลือด โดยมุ่งให้ธุรกิจเดิมของคนไทยอยู่ต่อไม่ได้

ธุรกิจไทยที่ร่วงแล้วหรือกำลังจะร่วง เพราะถูกทุนจีนบุกได้แก่…เสื้อผ้า / สินค้าอุปโภคของใช้ในชีวิตประจำวัน / สินค้าบริโภคร้านเล็กร้านน้อย / โรงแรม-รีสอร์ทท้องถิ่นขนาดเล็ก / อุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก / ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์สันดาป / ร้านค้าออนไลน์ 

คนไทยต้องเตรียมรับมือผลกระทบอย่างยืดเยื้อ อันเนื่องมาจาก ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ให้ดีเถิด

ด้วยความปรารถนาดี

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

🔍ส่อง 10 ธุรกิจ ที่บริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในสหรัฐฯ มากที่สุดในปี 2024

ปีนี้จะเป็นอีกปีที่มีเหตุการณ์สำคัญระดับโลกอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะมีคณะกรรมการการดำเนินการทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรวบรวมและบริจาคเงินทุนจากบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาต้องการ

ซึ่งจากข้อมูลของ Quiver Quantitative เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลบริษัท 10 อันดับในสหรัฐฯ ที่มีการบริจาคเงินสูงสุดเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยการบริจาคจะมีทั้งให้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน รวมถึงพรรคการเมืองเล็กๆ พรรคอื่นด้วย และจากข้อมูลการบริจาคของทั้ง 10 บริษัทจนถึงวันที่เก็บข้อมูลนั้น แสดงผลการบริจาคว่ามีการบริจาคให้ทั้ง 2 พรรคที่สูสีกัน แต่พรรคที่ได้รับการบริจาคมากกว่าอยู่นิดหน่อยคือพรรครีพับลิกัน

และใน 10 บริษัทนั้นมีถึง 4 บริษัทที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทผู้รับเหมาด้านกลาโหมของสหรัฐ และเป็นบริษัทที่จัดการสินค้าหรือให้บริการกับหน่วยงานทางการทหารและมีกระทรวงกลาโหมเป็นลูกค้ารายใหญ่อย่างเช่น Boeing, Northrop Grumman, L3Harris Technologies และ Lockheed ด้วย 

ส่วนผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกหน้าไหน เราคงต้องไปรอลุ้นกันในการเลือกตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งต้องมารอดูกันว่าหลังจากที่พรรคเดโมแครตได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ชิงตำแหน่งจากการถอนตัวของโจ ไบเดนมาเป็น กมลา แฮร์ริส จะสามารถทำให้เดโมแครตสามารถได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกครั้งหรือไม่?

'ดร.กอบศักดิ์' เผยข่าวดี MIT ตั้งสถาบันสอนบริหารธุรกิจในไทย เชื่อ!! ช่วยดันไทยก้าวสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีอีกขั้นได้เร็วขึ้น

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย.67) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การตัดสินใจก่อตั้งสถาบัน MIT แห่งที่สองของโลกที่ประเทศไทยนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในหลาย ๆ ด้าน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และการวิจัยทางด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ กับนักวิจัยของไทย บริษัทไทย มหาวิทยาลัยไทย หน่วยงานภาครัฐไทย และในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ไทยและอาเซียน ตอบโจทย์สำคัญ ทำให้เราสามารถก้าวขึ้นไปบน Technological Ladder หรือก้าวขั้นบันไดของเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น

นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เมื่อสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) ซึ่งเป็นสถาบันสอนบริหารธุรกิจระดับโลกได้ตัดสินใจเปิดสถาบันแห่งที่สองนอกสหรัฐอเมริกา ที่ใจกลางกรุงเทพมหานครฯ ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations – MSAO)’ หลังจากที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ประเทศชิลี สำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา เมื่อปี 2556 

โดย สถาบัน MIT ที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 67 ที่กำลังจะมาถึง โดยจะเป็นการเปิดตัวโดยจัดสัมมนาเรื่อง ‘Beyond Years : the Future of Longevity’ รวมทั้งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิเช่น การแสดงเทคโนโลยีใหม่, Chimate Change, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), การทำธุรกิจในอนาคต และโอกาสทางด้านธุรกิจอีกมากมาย

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผย ‘บอร์ด สสว.’ เห็นชอบงบกองทุน 2,300 ล้านบาท เฟสแรกยกระดับเอสเอ็มอี พัฒนากิจการ เพิ่มขีดความสามารถ หมุนเวียนธุรกิจ 

(19 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ สสว.เคยขอจัดสรรเพิ่มเติม วงเงิน 5,000 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว เริ่มในปีงบประมาณ 2567 ที่ สสว. ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอสเอ็มอีกู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนหรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน สสว. จึงได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยได้ขออนุมัติวงเงินงบประมาณเบื้องต้นคือ จำนวน 2,300 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งแนวการดำเนินงานได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ 2. สนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท

สำหรับ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS คือ สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยามเอสเอ็มอีของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน 

“ธุรกิจขนาดไมโคร วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท หรือ สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 MSME จ่ายร้อยละ 20 และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือ SMALL วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 เช่นกัน ส่วนนิติบุคคล ขนาดธุรกิจ คือขนาดกลาง สสว. สนับสนุน ร้อยละ 50 วงเงินสนับสนุน ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแต่ละรายจะได้รับการอุดหนุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

คณะบัญชี จุฬาฯ จัดสัมมนาหนุนเอกชนไทย จับเทรนด์อนาคต สร้างผู้ประกอบโตแกร่งยั่งยืนในเวทีโลก

(11 ก.พ.68) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ 'CBS: Boost Your Business Wisdom' มุ่งเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจที่ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาและผู้ประกอบการรับมือกับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดความยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ 'Regenerative Marketing: New Generation of Marketing' โดยเน้นย้ำว่าธุรกิจยุคใหม่ควรให้ความสำคัญกับการตลาดเชิงฟื้นฟู (Regenerative Marketing) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ได้มุ่งแค่สร้างแบรนด์ แต่ยังคำนึงถึงการฟื้นฟูทรัพยากร ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholders) ทั้งภาคธุรกิจและสังคมในระยะยาว

โดยแนวทางดังกล่าวถูกเปรียบเสมือน 'วิตามิน' ที่ช่วยฟื้นฟูและเสริมแกร่งให้องค์กรใน 5 ด้าน ได้แก่

Vitamin A (Awareness & Activism) - สร้างความตระหนักรู้และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านกลยุทธ์ทางการตลาด

Vitamin B (Beyond Sustainability) - ก้าวข้ามแนวคิดความยั่งยืนไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกที่แท้จริง

Vitamin C (Consumer Empowerment) - ส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น

Vitamin D (Design for Circularity) - ออกแบบธุรกิจให้มีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดของเสีย และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

Vitamin E (Ecosystem Restoration) - ฟื้นฟูระบบนิเวศและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ เน้นว่าการตลาดแนวใหม่นี้จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า ไม่ใช่เพียงผลกำไร โดยองค์กรควรมองว่า "ความยั่งยืน" เป็นการลงทุน ไม่ใช่ต้นทุน เพื่อสร้างความผูกพัน (Heart Share) กับผู้บริโภค และนำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว

ในการสัมมนาหัวข้อ 'Thailand Ahead: The Outlook in Business Strategy, Technology, and Sustainability' นักวิชาการจากภาควิชาพาณิชยศาสตร์ได้กล่าวถึงแนวโน้มสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อม ได้แก่ ESG (Environmental, Social, and Governance), Regionalization และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) และการรับมือนโยบายการค้าระหว่างประเทศจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ 'Beyond Financial Metrics: ESG and SDG Reporting' ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่นักบัญชีต้องปรับตัวเพื่อนำเสนอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ควบคู่ไปกับตัวชี้วัดทางการเงินแบบดั้งเดิม การรายงานดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนและผู้บริโภคสามารถประเมินศักยภาพขององค์กรได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ

ในหัวข้อ 'ESG and Digital Society' คณะวิทยากรจากภาควิชาการธนาคารและการเงินได้กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล โดยชี้ว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ Blockchain อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในภาคธุรกิจ แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านพลังงาน ความเป็นธรรมทางสังคม และการกำกับดูแล เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน

สำหรับหัวข้อ 'Sustainability in Digital World' ได้มีการพูดถึงปัญหาสำคัญที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปริมาณพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการสะสมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยแนวทางแบบองค์รวม เช่น นโยบาย Thailand 4.0 และเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านธุรกิจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้แนวคิดและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามเนื้อหาฉบับเต็มของการสัมมนา 'CBS: Boost Your Business Wisdom' ได้ที่เว็บไซต์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top