Tuesday, 22 April 2025
ธนารักษ์

'เผ่าภูมิ' ปลื้ม 'ธนารักษ์' จัดเก็บ 1.4 หมื่นล้าน ทะลุเป้า 25% พุ่งขึ้น 58% สูงสุดในรอบ 91 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ปีงบประมาณ 2567 ดังนี้

1. จัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2567 รวม 14,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 57.9% สูงกว่าประมาณการ 25.4% สูงที่สุดในรอบ 91 ปี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการประมูลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ การต่อสัญญาผู้เช่ารายใหญ่อย่างมียุทธศาสตร์ การเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ รวมถึงค่าทดแทนเวนคืนที่ดินต่างๆ

2. มีจำนวนผู้เช่าที่ราชพัสดุ 225,820 ราย แบ่งเป็นเชิงสังคม 86% และเชิงพาณิชย์ 14% หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้ กรมธนารักษ์มีรายได้จากเชิงพาณิชย์สูงถึง 98% และเชิงสังคม 2% ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้มอบค่าเช่าราคาต่ำให้แก่ที่ราชพัสดุเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อประกอบการเกษตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์

3. กรมธนารักษ์ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุปีละ 9-10% โดยเร่งเรียกคืนที่ราชพัสดุในครอบครองของหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยในปีงบ 2567 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จราว 24,000 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้จะนำมาสู่การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

4. ตั้งเป้ารายได้รวม 55,000 ในแผนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยเร่งเพิ่มค่าเช่าสำหรับเพื่อการพาณิชย์ของภาคเอกชนโดยมีเป้าหมาย ROA ที่ 3% แต่ยังคงดำเนินนโยบายค่าเช่าผ่อนปรนให้กับประชาชนที่เช่าในเพื่อที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม

5. ในปีงบประมาณ 2568 กรมธนารักษ์จะดำเนินโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ มอบสัญญาเช่าที่ดินที่ราคาต่ำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เราตั้งเป้าทำให้ดีขึ้น เร็วขึ้น มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและอาชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย

ศาล สั่งห้าม ‘ธนารักษ์’ ขึ้นทะเบียน 'พุทธมณฑล' 2.5 พันไร่เป็นที่ราชพัสดุ เหตุเป็นศาสนสมบัติกลางที่มีกฎหมายเฉพาะ

ศาลปกครองกลางพิพากษา ห้ามกรมธนารักษ์นำที่ดินพุทธมณฑล 2,500 ไร่ ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ ชี้เป็นที่ศาสนสมบัติกลางที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติยกเว้น

(19 มี.ค.68) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาห้ามมิให้กรมธนารักษ์นำที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ 2,500ไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ คดีนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี จะนำที่ดินแปลงดังกล่าวขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและเข้าปกครองดูแลที่ราชพัสดุแปลงนี้ตามมาตรา 8 และมาตรา 17พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลและพัฒนาที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ประมาณ 2,500ไร่ ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสมบัติกลางตามมาตรา 40 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2506จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการขึ้นทะเบียนที่ดินพุทธมณฑลดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พุทธมณฑลสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมฉลองงาน 25 พุทธศตวรรษ โดยพิจารณาได้จากปูชนียสถานที่สร้างขึ้นในพุทธมณฑลล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนในการจัดหาที่ดินนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับซื้อที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 135 ไร่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งได้มีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินถวายเป็นพุทธบูชาและร่วมสมทบในการสร้างพระพุทธรูปและพุทธมณฑลแล้ว เป็นเงินจำนวน 2,764256.82 บาท รวมถึง ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า ได้มอบเงินให้จำนวน 50,000 จาด

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายพระเครื่อง พระพุทธรูป แสตมป์ ปฏิทินและเสมาที่ระลึก โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจในการจัดสร้างพุทธมณฑลตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย จนรวบรวมที่ดินได้จำนวน 2,205 ไร่ 96 ตารางวา ที่ดินที่ได้มาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีผู้ถวายให้แก่พระศาสนา แต่ปรากฏว่ายังขาดอีกจำนวน 294 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวาจึงจะครบ 2,500 ไร่ ตามที่กำหนดไว้ รัฐบาลจึงได้มีการเวนคืนที่ดินจำนวนที่ยังขาดอยู่ แต่ก็เพื่อให้การดำเนินการจัดสร้างพุทธมณฑลสำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์เท่านั้น หาได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายแต่อย่างใด

"กรณีจึงต้องถือว่า เจตนารมณ์ทั้งของสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชนชาวไทยในการจัดซื้อและจัดหาที่ดินเนื้อที่รวม 2,500ไร่ จัดสร้างพุทธมณฑลก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้พระพุทธศาสนา ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงรับฟังเป็นยุติว่า พุทธมณฑลเป็นพุทธสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา และเมื่อที่ดินดังกล่าวมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นศาสนสมบัติกลาง ตามมาตรา 46 (1) แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จัดตั้งพุทธมณฑล และตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ที่มีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการ รวมทั้งเป็นเจ้าของ ตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นที่ดินที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติยกเว้นไว้ไม่ให้ถือเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 (7) แห่งพ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ 2562

เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนาอันเป็นศาสนสมบัติกลาง มิใช่ที่ราชพัสดุตามกฎหมายที่ราชพัสดุ ฉะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 17 และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบข้อ 6 (16) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ 2546 ให้ผู้ฟ้องคดีทำการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่รายละเอียดที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แล้วนำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐมได้มีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรังวัด และจัดทำแผนที่รายละเอียดที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบรายการส่ง - รับที่ราชพัสดุขึ้นทะเบียนจัดส่งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม เพื่อดำเนินการรับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุต่อไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top