Monday, 21 April 2025
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขอนแก่น - งานสัมมนา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” เมื่อเวลา 08.30 -12.00 น. วันอังคารที่ 9 กรกฏาคม 2567 ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี 2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน 3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร

ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น

ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว
ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน 2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้ ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค”

'รมว.คลัง' นัดหารือ 'แบงก์ชาติ' ปมแบงก์เข้มงวด 'เงินกู้ซื้อบ้าน' เชื่อ!! ผ่อนเกณฑ์กู้ในภาวะนี้ ไม่ได้เอื้อคนซื้ออสังหาฯ ไปเก็งกำไร

(11 ก.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังได้ปาฐกถาพิเศษ 'พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน' ที่งาน EnCo ฉลองครบรอบ 20 ปีจัดสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งปีร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน ว่า จะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือสัดส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน

นายพิชัย กล่าวยืนยันว่า “ไม่เชื่อว่าการผ่อนเกณฑ์เงินกู้จะทำให้คนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ในภาวะที่ผู้บริโภคง่อยเปลี้ยเสียขา จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี และครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกิน 90 % ของจีดีพี ทั้งหนี้เสียของภาคอสังหาริมทรัพย์ก็สูงและมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นไปอีก”

นายพิชัยยังเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้คนผ่อนหนี้เงินกู้บ้านได้ยาวขึ้น โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาลได้นำร่องแล้วซึ่งได้เปิดให้คนกู้ผ่อนหนี้ได้ถึงอายุ 80 ปี และหากเป็นราชการเกษียณก็ให้ยาวถึง 85 ปี

>> เกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้บ้านหลังแรกอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีภาคเอกชนขอให้พิจารณาผ่อนคลายเรื่อง มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้น ว่า “ปัจจุบันเกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้สามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้อยู่แล้ว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุด 100-110% ถ้ารวมสินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้าน

ขณะที่บ้านหลังที่ 2 หรือ 3 สัดส่วน LTV สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้อยู่ที่ระดับ 80-90% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ 60-70% ก็มี เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของ LTV แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยงของผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น การปรับเกณฑ์ LTV อาจจะแก้ไขไม่ตรงจุด”

>> ต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี?
ส่วนที่งานสัมมนาวันพุธ (10 ก.ค.67) นายพิชัย ยังกล่าวถึงแนวคิดให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทรัพย์อิงสิทธิได้ยาว 99 ปีว่า รัฐบาลต้องการเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน และเรื่องนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของคนไทย

นายอุทัย อุทัยแสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตนออกความเห็นเรื่องแนวคิดสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปีไม่ได้ 

นายอุทัยเป็นผู้บริหารบริษัทที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน และนายกฯกำลังผลักดันเรื่องแก้กฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้มากกว่า 30 ปีตามกฎหมายปัจจุบัน

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าการขออนุญาตต่าง ๆ มีขั้นตอนยุ่งยากเกินไป และเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคบางครั้งก็เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่สมเหตุสมผล

ด้าน ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เรียกร้องให้ภาคการเงินให้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ยาว 30 ปี อย่างที่มีในประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่นาย ศิรศักดิ์ จันเทรมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทว่า เอนโก้ คาดการณ์รายได้ภายในปี 2570 จะต้องมากกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในระยะสั้น จะต้องมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และตั้งเป้าหมายแบ่งสัดส่วนกำไร สนับสนุนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยร้อยละ1 ของกำไรสุทธิต่อปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในระยะยาว ทำกำไรสุทธิมากกว่า 800 ล้านบาทภายในปี 2573 โดยจะเป็นผลมาจากธุรกิจเดิม และโอกาสดำเนินธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลุ่มปตท. เช่น นำธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่เอนโก้บริหารจัดการ

ปัจจุบันเอนโก้ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์, บริหารจัดการพื้นที่ และ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

'แบงก์ชาติ' ชี้!! 'แบงก์พาณิชย์' ทยอยใช้ Biometric ยืนยันตัวตนร่วม OTP สร้างความปลอดภัยแก่ลูกค้าจากภัยไซเบอร์ ที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้น

(19 ก.ค. 67) ตามที่ ‘ธนาคารกลางสิงคโปร์’ ประกาศให้ธนาคารในประเทศสิงคโปร์ ยุติการใช้รหัส OTP (One Time Password) ทำธุรกรรมทางการเงินภายในอีก 3 เดือน โดยจะหันมาออก ‘ดิจิทัล โทเคน’ ผ่านแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารแทน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวงข้อมูลและสวมรอยทำธุรกรรมในรูปแบบ ‘ฟิชชิ่ง’ ซึ่งจะช่วยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ และการยืนยันตัวตนนั้น

จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ระบบ OTP ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน ยังมีความสามารถเพียงพอรองรับ และป้องกันการหลอกลวงในการทำธุรกรรมออนไลน์หรือไม่ และในอนาคต ธปท. มีแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของลูกค้าจากภัยไซเบอร์ ที่นับวันจะหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้นในอนาคตอย่างไร

ด้าน น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 การยืนยันตัวตนผ่าน mobile banking ของไทย ได้ทยอยเปลี่ยนจากการใช้ PIN ร่วมกับ One-Time-Password (OTP) ที่มาจาก SMS มาเป็นการใช้ PIN ร่วมกับรูปใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งเป็น Biometric ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า และถือเป็นการยืนยันตัวตน 2 ชั้น ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดี การใช้ SMS ส่ง OTP ยังคงใช้ในบางธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต เป็นต้น

สำหรับการใช้งาน Mobile Banking ให้มีความปลอดภัย นั้น ธปท. ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การห้ามใช้โทรศัพท์ที่ผ่านการ Root/Jailbreak เข้าใช้งาน mobile banking

นอกจากนี้ ธปท. ได้ยกระดับมาตรการดูแลความปลอดภัย ป้องกันภัยหลอกลวงธุรกรรมออนไลน์ ติดตามรูปแบบภัยต่าง ๆ อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือ กับ ‘ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร’ (TB-Cert) อย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยจากแอปดูดเงิน ได้แก่ การตรวจจับการแก้ไข application, การติดตั้งโปรแกรมแปลกปลอมที่ขอสิทธิ์ accessibility, การป้องกันการแก้ไข mobile banking application ของธนาคาร เป็นต้น

ผบ.ตร.ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ประชุมทางไกล จับมือ ผบ.ตร.กัมพูชา หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force) เพื่อแก้ไขปัญหา ให้เป็นรูปธรรมเห็นผลภายใน 60 วัน

จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประสานไปยัง สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้มีความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ระบาดและสร้างความเสียหายจำนวนมากแก่พี่น้องประชาชนในปัจจุบัน   

วันนี้ (25 ก.ค. 67) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เข้าร่วมประชุมกับ พล.ต.อ.ซอ เทต ผบ.ตร.กัมพูชา และคณะ โดยผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งที่ประชุมฝ่ายไทยยังประกอบด้วย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ที่ประชุมได้หารือถึงข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ตำรวจทั้งสองประเทศแสวงหาความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างจริงจัง โดยตำรวจไทยได้นำเสนอคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ที่จะต้องอาศัยข้อมูลความร่วมมมือของกัมพูชาในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีการทบทวน ข้อหารือที่ได้เคยตกลงกันไว้ระหว่างสองประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force) เพื่อแก้ปัญหาปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง และจะมีการหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าที่ประเทศกัมพูชา 

ผลการประชุมหารือเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอยู่ในสองประเทศ ให้ได้ผลอย่างจริงจังภายใน 60 วัน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

'อ.พงษ์ภาณุ' แนะ!! เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน

(25 ส.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดคุยถึงคำกล่าวของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า...

"น่าจะตรงและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายท่านคงจะรู้สึกเหมือนว่าประเทศไทยไม่มีธนาคารกลาง หรือหากมี ก็เป็นธนาคารกลางที่ไม่แคร์ความรู้สึกและความเดือดร้อนของประชาชน

"ดังนั้น เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับคืนมา รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลูกหนี้รายเล็กรายน้อยที่กำลังกลายเป็น NPL และจะถูกยึดทรัพย์สินในเร็ว ๆ นี้"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า "ไม่มีใครไม่เห็นด้วยว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่ความเป็นอิสระดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งการดำเนินนโยบายการเงิน (Monetary Policy Independence) เท่านั้น 

ทั้งนี้ อ.พงษ์ภาณุ มองว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ...

ประการแรก ธปท. ต้องมี Focus ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาเท่านั้น มิใช่ทำงานแบบจับฉ่ายเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำมาซึ่ง Conflict of Interest กับนโยบายการเงินและความเกรงอกเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารสถาบันการเงิน การตัดสินใจลดดอกเบี้ยแต่ละคร้้งก็มัวแต่กลัวว่าแบงก์จะมีกำไรลดลง แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) และอยู่ในกรอบ Inflation Targeting อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการติดตามและประเมินการทำงานของ ธปท. อย่างใกล้ชิด เมื่อมีผลประกอบการผิดเป้าหมาย เช่นที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะเป็นปีที่สามที่นโยบายการเงินพลาดเป้า จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ รวมทั้งจะต้องมีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอไว้ด้วย

เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลางดังกล่าวข้างต้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศ และอาจไม่สามารถทำได้รวดเร็วนัก แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถทำได้ทันที เช่น การปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงตัวบุคคลในองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้มีความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. บางคน ที่ทำตัวเสมือนเจ้าอาณาจักรที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย

ข้อเสนอแก้หนี้ครัวเรือน กับผลงานชิ้นโบแดงของแบงก์ชาติ

(1 ก.ย. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ

ในบรรดาหลายมาตรการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เสนอในเวที Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน โดยแบ่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ครึ่งหนึ่ง (0.23% ของฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์) มาสมทบกับเงินของสถาบันการเงินเอง เพื่อ Haircut หนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูง

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการคิดนอกกรอบอีกครั้งหนึ่งของท่านนายกทักษิณ ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91% ของ GDP และเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน

ทันทีที่ข้อเสนอถูกเผยออกมา ผู้บริหารแบงก์ชาติถึงกับเกิดอาการอึ้ง เมื่อถูกสื่อสอบถามความเห็น แต่ก็ได้ให้ลิ่วล้อออกมาส่งเสียงคัดค้านว่าจะเกิดผลเสียต่อการบริหารหนี้ FIDF (Financial Institutions Development Fund) ต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่หนี้ FIDF ก้อนนี้ ซึ่งยังคงค้างอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. แต่ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางที่เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างขึ้นมาจากน้ำมือของ ธปท. เองล้วน ๆ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 หลายท่านอาจจำไม่ได้แล้วว่า ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) ธปท. ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จึงออกไป Defend ค่าเงินบาท ปกป้องไปปกป้องมาจนผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเสียเกลี้ยง จึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พร้อม ๆ กับการเข้าโปรแกรม IMF การปิดสถาบันการเงิน และการให้รัฐบาลประกาศรับประกันเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของหนี้จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งในที่สุด ธปท. ต้องร้องขอให้รัฐบาลแปลงจากหนี้ของกองทุน FIDF มาเป็นหนี้สาธารณะ (Fiscalization)

เนื่องจากหนี้ FIDF มีที่มาจากระบบสถาบันการเงิน จึงไม่เหมาะสมที่จะให้คนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศรับภาระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีความตกลงกันให้ ธปท. รับผิดชอบชดใช้เงินต้น และกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย แต่จนแล้วจนรอด ธปท. ก็ไม่ทำตามสัญญา โดยอ้างว่าไม่มีกำไร ในขณะที่ยังคงจ่ายโบนัสพนักงานอยู่เป็นปกติ 

เมื่อหนี้ไม่ลด การชำระดอกเบี้ย จึงไม่ลดไปด้วย โดยกระทรวงการคลังต้องขอตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนสูงถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท

เมื่อ ธปท. ไม่ชำระหนี้เงินต้นตามที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเพื่อชำระหนี้ FIDF จำนวน 0.46% ของฐานเงินฝาก ในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ FIDF อย่างเบ็ดเสร็จและตรงจุด และผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลสามารถลดภาระงบประมาณได้อย่างมากและลดยอดหนี้ FIDF คงค้างเหลือไม่ถึง 600,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ดังนั้นข้อเสนอของอดีตนายกทักษิณ แม้จะทำให้การชำระหนี้ FIDF ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นทางออกที่เหมาะสมในการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ ส่วนคนที่ควรรักษามารยาท ก็น่าจะเป็น ธปท. เพราะเป็นผู้สร้างปัญหามาแต่ต้น และก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นได้

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้!! ถึงเฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าไทยต้องลดตาม แจง!! การลดดอกเบี้ยของไทยควรขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก

(20 ก.ย. 67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ว่า กรณีเฟดไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด การที่เฟดลดดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ใน 3 ปัจจัย กล่าวคือ แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อ จะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และเสถียรภาพด้านการเงิน แต่การพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วย

ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวม ที่ต้องคำนึงถึงผ่าน 3 ปัจจัยนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับการตัดสินใจต่อนโยบายดอกเบี้ยของไทยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้เคยประเมินไว้ โดยยังคง Outlook Dependent ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสม ถูกต้อง

นอกเหนือจากนี้ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิม กับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากว่า การลดดอกเบี้ยนั้น ผลที่จะส่งต่อไปยังการลดภาระหนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การปรับลดดอกเบี้ย ผลที่จะได้รับอาจไม่มากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ และจะคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที คงไม่ใช่

'แบงก์ชาติ' แถลง!! พร้อมแทรกแซงหากผันผวนเกินไป หลังเงินบาทแข็งลงมาเหลือ 32.6 บาทต่อดอลลาร์

(25 ก.ย. 67) น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์

ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

🟢สรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Part 1)

📌หนังสือ 'เศรษฐศาสตร์เล่มเดียวอยู่' จากแบงก์ชาติ อธิบายถึงเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง เพราะเศรษฐศาสตร์คือเรื่องของการตัดสินใจท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัดและความต้องการที่ไม่สิ้นสุด การเข้าใจเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเงิน การลงทุน หรือการเลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

โดยได้อธิบายแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เราควรรู้ ได้แก่...

>>การตัดสินใจเลือก (Trade-offs) ทุกครั้งที่เราทำการตัดสินใจ เราต้องเลือกสิ่งหนึ่งและเสียอีกสิ่งเสมอ เช่น การเลือกทำงานพิเศษแทนการพักผ่อน

>>ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เมื่อเลือกทำบางอย่าง เราเสียโอกาสจากการทำสิ่งอื่น เช่น ถ้าเลือกลงทุนในหุ้นก็เสียโอกาสจากการฝากเงินธนาคาร และค่าเสียโอกาสก็คือเราอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่เราควรจะได้รับนั่นเอง

>>ทรัพยากรมีจำกัด (Scarcity) โลกนี้มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเวลา เราจึงต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top