Wednesday, 23 April 2025
ท่าเรือ

‘เทียนจิน’ เปิดเส้นทางขนส่ง ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ สายใหม่ เชื่อมท่าเรือสำคัญในยุโรป เพิ่มประสิทธิภาพการส่งออก

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, เทียนจิน รายงานว่า ‘เอชเอ็มเอ็ม’ (HMM) บริษัทขนส่งชั้นนำในเกาหลีใต้ เปิดบริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เส้นทางตรง เชื่อมระหว่างเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีนกับท่าเรือสำคัญหลายแห่งของยุโรป โดยจะใช้เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษ 24,000 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) จำนวน 12 ลำ ออกปฏิบัติงานทุกสัปดาห์

เส้นทางการขนส่งดังกล่าวจะเชื่อมต่อเทียนจินกับหลายท่าเรือสำคัญ ได้แก่ ท่าเรืออัลเจซิราสในสเปน ท่าเรือรอตเทอร์ดามในเนเธอร์แลนด์ ท่าเรือฮัมบวร์กในเยอรมนี และท่าเรือแอนต์เวิร์ปในเบลเยียม โดยมุ่งอำนวยความสะดวกและบริการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการส่งออกอุปกรณ์เครื่องกลและไฟฟ้า และสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ผลิตในจีน

ลีจูมยอง ประธานเอชเอ็มเอ็ม (ไชน่า) จำกัด (HMM (China) Co.) กล่าวว่าสินค้าที่ผลิตในจีน อาทิ เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ สามารถจัดส่งถึงยุโรปรวดเร็วขึ้นผ่านเส้นทางดังกล่าว โดยลดระยะเวลาการขนส่งเกือบร้อยละ 15 จึงประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับลูกค้า

อนึ่ง ท่าเรือเทียนจินเป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาคตอนเหนือของจีน โดยมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 21 ล้านทีอียูเมื่อปีที่แล้ว ครองอันดับที่ 8 ของโลก


ที่มา : https://www.xinhuathai.com/china/350018_20230407

‘เฮียล้าน’ โอด!! ท่าเรือสุดโบราณ ใช้งบเยอะแต่ไม่สวย ชง ‘ชัชชาติ’ ให้สัมปทานเอกชน ทำเรือติดแอร์-สถานีเชื่อมรถไฟฟ้า

‘เฮียล้าน’ ลั่น นี่ทำแล้วเหรอ? โอดท่าเรือสุดโบราณ ใช้งบเยอะแต่ไม่สวย ชงชัชชาติ ให้สัมปทานเอกชนทำ ‘เรือติดแอร์’ สร้างสถานีเชื่อมรถไฟฟ้า ในยุคของตัวเอง

(19 เม.ย.66) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีผู้เข้าร่วมได้แก่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมที่ปรึกษาฯ ตลอดจนเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุม

ในตอนหนึ่ง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือ เฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติ 7.4 เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครฯ ส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนและช่วยลดปัญหาการจารจรบนถนน ซึ่งเลื่อนมาจากวันพุธที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา

นายสุทธิชัยกล่าวว่า กทม.เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยตนเล็งเห็นว่าใน กทม.มีสถานีเดินเรือที่สามารถเดินทางได้ครอบคลุมทุกเขต คือเขตจอมทอง ซึ่งเป็นคลองที่มีขนาดใหญ่ ทั้งยังมีตลาดน้ำวัดไทร ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับการพัฒนา และจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าหากทำการพัฒนาสถานีเดินเรือแห่งนี้ให้น่าใช้งาน

“ถ้าสามารถสร้างตรงนี้ได้ มันจะเป็นยังไง และนักท่องเที่ยวต่างชาติมากันเยอะมาก ถ้าเขามาพัก ทำสถานีเดินเรือดีๆ มันจะสร้างเศรษฐกิจ และซอฟต์เพาเวอร์” นายสุทธิชัยกล่าว

ต่อมา นายสุทธิชัย ยังกล่าวถึงสถานีเดินเรือในปัจจุบันว่า มีความทรุดโทรมและมีความโบราณ ไม่ทันสมัย ประกอบกับบรรยากาศริมคลองที่ไม่มีความสวยงาม แต่กลับใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องนำมาตั้งข้อสงสัยต่อไปว่า ทำไมถึงยังเหมือนเดิม และเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดทำให้ประชาชนใช้งานด้วยความจำเป็น ซึ่งตนต้องการให้สถานีเดินเรือนั้นน่าใช้งาน เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้กับประชาชน ถึงแม้สำนักการโยธาจะทำโครงการพัฒนาไปหลายโครงการแล้วก็ตาม แต่ตนยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“ภูมิทัศน์ที่สำนักโยธาได้ทำ 4-5 โครงการ รุ่นที่เราเข้ามาใหม่ๆ จะเห็นได้เลยว่า ทำแล้วเหมือนไม่ได้ทำ สีสันบางทีขับผ่านต้องมานั่งถามว่าอันนี้ทำแล้วเหรอ มันดูไม่สวย” นายสุทธิชัยกล่าว

‘วันชัย’ อ้าง!! มุมลูกค้าตัวจริง บ.เดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ไม่มีรายไหนจะมาใช้ Landbridge เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

(4 พ.ย. 66) นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ อดีตรองผู้อำนวยการด้านข่าวและรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘Landbridge กับความเห็นของลูกค้าตัวจริง บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ’ ระบุว่า...

ผู้มีอำนาจฝันไปเรื่อย ไม่มีบริษัทเดินเรือขนส่งระดับโลกไหนจะมาใช้ Landbridge นี้หรอก เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้บริหารสายการเดินเรือระหว่างประเทศหลายคน ที่เป็นลูกค้าโดยตรงของโครงการนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังตรงกัน

ผลของการศึกษาของจุฬาฯ ก็ออกมาแล้วว่า ลงทุนไปหนึ่งล้านล้านบาท ไม่คุ้มค่าแน่นอน แต่รัฐบาลไม่ฟัง

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ด้วยมูลค่าการลงทุนโครงการนี้มากถึง 1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความกังวลถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการนี้

ผู้บริหารสายการเดินเรือให้ข้อมูลผู้เขียนต่อว่า…

“ลองคิดดูสิ หากเรือสินค้ามาจอดที่ท่าเรือชุมพร ต้องยกตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือที่ชุมพร แล้วยกขึ้นรถไฟไประนอง ยกลงจากรถไฟ ยกไปขึ้นเรือที่ระนองอีก ยกตู้ 4 ครั้ง โดนไป 4,000-5,000 บาทต่อตู้ ไหนจะค่าภาระท่าเรือ 2 แห่ง ค่าขนส่งทางรถไฟอีกประมาณ 100 กม. รวมแล้วค่าใช้จ่ายเยอะมาก ประมาณ 10,000-12,000 บาทต่อตู้ (US$ 300-400)

ปัจจุบันนี้ เรือขนส่งสินค้าจะมีระวางขับน้ำตั้งแต่ 100,000 -200,000 ตัน ยิ่งลำใหญ่ต้นทุนขนส่งสินค้าจะถูกลง สมมุติว่าเรือสินค้าขนาดระวาง 100,000 ตัน จะบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 10,000 ตู้ หรือเฉลี่ยตู้คอนเทนเนอร์ละ 10 ตัน ถ้ามีเรือเทียบท่าเรือระนองวันละ 10 ลำ ก็หมายความว่ามีตู้ต้องยกขึ้นรถไฟ 100,000 ตู้ ขณะที่รถไฟแต่ละขบวนขนได้ประมาณ 500 ตู้คอนเทนเนอร์ ลองคิดดูสิว่าจะเสียเวลากี่วันกว่าจะขนขึ้นขนลง

ขณะที่เรือไปถ่ายลำที่สิงคโปร์หรือมาเลย์เสียค่าใช้จ่ายตู้ละ US$ 80-100 เรือสินค้าลำหนึ่งขนตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 10,000-20,000 ตู้ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันลำละหลายสิบล้านบาท และกว่าจะขนถ่ายตู้นับหมื่นตู้ขึ้นลงรถไฟ และขนส่งตู้ระหว่างชุมพร-ระนองคงใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน ไม่ได้ประหยัดเวลาเลย

สรุปคือ ระยะเวลาก็ไม่ได้เร็วกว่า แต่ยังเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก แล้วลูกค้าเรือสินค้าที่ไหนจะมา

ความเห็นของผมคือ โครงการนี้ไม่น่าจะไปรอด ตำน้ำพริกละลายทะเลเปล่าๆ และคนในวงการเดินเรือส่วนใหญ่ส่ายหน้ากันมานานแล้วกับโครงการนี้ และอีกประการหนึ่ง รัฐบาลก็กำลังสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ เรือกินน้ำลึกเข้าจอดเทียบท่าได้ แล้วจะไม่เป็นการแย่งลูกค้ากันเหรอ?”

ต่อคำถามที่ว่าแล้วที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลังท่าเรือ และจะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามมา พวกเขามีความเห็นอย่างไร?

“การจะมีอุตสาหกรรมหลังท่าเรือตามมา มันจะต้องมีตู้ขนส่งสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่าน เกิดความหลากหลายของสินค้า จึงจะเป็นการดึงดูดให้เกิดอุตสาหกรรม แต่จะมีจริงหรือ เราเคยสร้างท่าเรือระนอง บอกว่าจะมีอุตสาหกรรมตามมา แต่คุณไปดูท่าเรือระนองเปิดมาสิบกว่าปี แทบไม่มีใครใช้ ตอนนี้ก็แทบจะร้างแล้ว”

ขณะที่รายงานฉบับสมบูรณ์ ‘โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย’ จัดทำโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ และ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีข้อสรุปว่า โครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่เสนอว่า...

“...ทางเลือกที่ ‘เหมาะสมที่สุด’ ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างเส้นทางเข้าถึงพื้นที่พัฒนา ตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ และดำเนินการพัฒนาต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด…”

โครงการลงทุน 1 ล้านล้านบาท คุ้มค่าจริงหรือ คำตอบมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะรับรู้หรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top