Tuesday, 22 April 2025
ท่องเที่ยวไทย

เปิด 5 อันดับ นักท่องเที่ยวเข้าไทยสูงสุด (วันที่ 8-14 มกราคม 2567)

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เผยข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ช่วง 8-14 ม.ค. 67 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสูงกว่าที่คาดการณ์เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค 

โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าไทยมากที่สุดจำนวน 104,570 คน (เพิ่มขึ้น 27.75) รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 81,315 คน (เพิ่มขึ้น 26.95), เกาหลีใต้ 54,023 คน (เพิ่มขึ้น 23.08), รัสเซีย 50,705 คน (ลดลง 1.48) และอินเดีย 35,237 คน (เพิ่มขึ้น 16.67)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-14 ม.ค.2567 ทั้งสิ้น 1,300,363 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 63,205 ล้านบาท

‘นทท.ต่างชาติ’ เข้าไทย 15-21 ม.ค. ทะลุ 7 แสนคน อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า’ ไม่แผ่ว ‘นทท.จีน’ ทะลัก 1.2 แสนคน

(23 ม.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้มีการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุด โดยมีปัจจัยจากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศ และจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นของจีน การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน 

ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 715,579 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 20,753 คน หรือ 2.99% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 102,226 คน 

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 120,381 คน เพิ่มขึ้น 15.12% มาเลเซีย 73,085 คน บวก 14.37% เกาหลีใต้ 55,218 คน บวก 2.21% ส่วนรัสเซีย 48,114 คน ลดลง 10.12% และอินเดีย 40,300 คน ลดลง 5.11%

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า สัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน และจำนวนเที่ยวบินขาออกของจีนที่เพิ่มขึ้น วีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน การขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซีย และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล ทั้งภูมิภาคยุโรป และอเมริกา

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-21 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 2,015,942 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ประมาณ 97,911 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 306,805 คน มาเลเซีย 218,453 คน เกาหลีใต้ 153,135 คน รัสเซีย 150,286 คน และอินเดีย 105,740 คน

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยเสน่ห์ท่องเที่ยวไทย คือไมตรีของคนทุกท้องถิ่น

ไม่นานมานี้ สำนักข่าว บีบีซี (ภาคภาษาเวียดนาม) ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง 'ไทย แชมป์ อาเซียนด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ : เมื่อไหร่จะถึงคิวเวียดนามบ้าง?' โดยสืบเนื่องจากปี 2023 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเวียดนามแห่ไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และใช้จ่ายไปถึง 11,000 ล้านด่อง 

นักข่าวบีบีซีท่านนี้ที่ชื่อ Tran Vo ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย โดยนายวีระศักดิ์ ได้กล่าวชี้ชัดสั้น ๆ ไว้ว่า “เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย คือความเป็นมิตรไมตรีของคนไทยในทุกท้องถิ่น และรัฐช่วยอีกแรงด้วยการผ่อนคลายด้านวีซ่า”

ก่อนหน้านี้ เหงียน วัน มาย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามยอมรับด้วยว่า “ไทยเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวแม้ไม่ต้องมีนโยบายเปิดคาสิโนอย่างที่เวียดนามทำ เพราะไทยสามารถเปลี่ยน 'เรื่องพื้น ๆ' ให้เป็นเรื่องน่าเที่ยว และเมื่อบวกกับความต้อนรับขับสู้ในการให้บริการ ก็สามารถได้ความประทับใจโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย”

นอกจากนี้ ยังได้เอ่ยชื่นชม ททท.ไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมคุณค่าให้ของพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น น้ำหวานดอกมะพร้าวให้กลายเป็นสินค้าน่าประทับใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการพาชมหิ่งห้อยอัมพวา การใช้ผลไม้ที่เผาเป็นถ่านใช้ไล่ยุงในรีสอร์ต ว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเสน่ห์ที่แม้แต่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจยังยอมรับแบบหมดใจ 

ท่องเที่ยวไทย เสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็หลงใหล

สำหรับบทความเต็ม ติดตามอ่านต่อได้ใน >> https://www.bbc.com/vietnamese/articles/cxem54drekpo

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ยกท่องเที่ยวไทย ‘ยุคเศรษฐา’ มาถูกทาง เปิดทางเอกชนโชว์ฟอร์ม ส่วนภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุน

(4 มี.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็น การเติบโตที่นำโดยการท่องเที่ยว (Tourism-led Growth) ระบุว่า...

ต้องยอมรับว่า Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดเละเป็นไปได้ แต่ก็มีความท้าทายสูงในด้านการดำเนินการ (Implementation) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่แล้ว ต้องถือว่า Ignite Thailand มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ รวมทั้ง Medical Hub, Aviation Hub และ Financial Hub เป็นต้น การบริหารจัดการการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์นี้จึงหนีไม่พ้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี ททท. เป็นหน่วยงานหลัก แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นศูนย์กลางในสาขาทั้ง 8 สาขา ซึ่งจำเป็นต้องทลายกำแพงที่กีดขวางการทำงานแบบบูรณาการข้ามหน่วยงานของระบบราชการไทย

วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างมากจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจของภาครัฐแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่มาจากความสามารถของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม, ภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ 

การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นหนึ่งของโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องจัดโครงสร้างการบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวใหม่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ลดบทบาทภาครัฐให้เหลือเพียงการวางนโยบายและการกำกับดูแลรวม ทั้งการให้การสนับสนุน/อุดหนุนทางการเงินเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกับธุรกิจเอกชน บทบาทในการลงทุนและการบริหารจัดการต้องเป็นของภาคเอกชนเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นและอาจเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาล คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในด้านกฏระเบียบข้อบังคับ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันต้องถือเป็นข้อด้อยที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ข้อจำกัดทางกฎหมายของไทยมีอยู่มากมาย เพียงไม่กี่เดือนของรัฐบาลนี้ ได้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่ต้องชมเชยก็คือ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์และสุรานำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เครื่องดื่มมีราคาลดลง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่ก็พึงต้องดูแลให้เครื่องดื่มนำเข้าเหล่านี้เสียภาษีอย่างครบถ้วน

ประการสำคัญที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถเป็น Hub ในด้านต่างๆ ได้เลย หากภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยยังไม่เปิดเสรี แม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าไปมากแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายบริการ ทุน และแรงงานข้ามพรมแดนอยู่มาก แรงงานมีฝีมือยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์, วิศวกร, นักกฎหมาย การจะเป็น Hub ได้อย่างเต็มปากจำเป็นต้องมีบุคลากรมืออาชีพที่เป็นที่สุดของโลกด้วย

2 เดือนแรกปี 67 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.7 ล้านคน อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า-เพิ่มเที่ยวบิน’ โกยรายได้ 3.2 แสนล้านบาท

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวล่าสุด พบขณะนี้ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มกราคม - 3 มีนาคม 2567 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทย ทั้งสิ้น 6,730,914 คน สร้างรายได้ 326,034 ล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

-จีน 1,238,353 คน
-มาเลเซีย 889,948 คน
-รัสเซีย 444,837 คน
-เกาหลีใต้ 430,701 คน
-อินเดีย 327,768 คน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อัปเดตสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567) พบว่า ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 749,680 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 14,175 คน หรือ 1.86 % คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 107,098 คน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาเลเซีย แซงนักท่องเที่ยวจีน ขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากการการปิดภาคเรียนภายในประเทศ และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 11,897 คน จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาด 5 อันดับแรกที่เที่ยวไทยมากที่สุด พบว่านักท่องเที่ยวมาเลเซีย 130,120 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 10.06 % นักท่องเที่ยวจีน 124,037 คน นักท่องเที่ยวรัสเซีย 47,831 คน นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ 42,956 คน และนักท่องเที่ยวอินเดีย 34,639 คน โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ รัสเซีย จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน

‘มาคาเลียส’ วอนรัฐบาลช่วยภาค ‘การท่องเที่ยว’ ในประเทศ หลังคนไทยเริ่มไม่เที่ยวไทย หวั่น!! เกิดปัญหาระยะยาว

มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว คนไทยแห่เที่ยวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากค่าใช้จ่ายเที่ยวในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารสายการบิน ประกอบกับ นโยบายฟรีวีซ่า แนะภาครัฐและเอกชนควรหาทางออกโดยเร็ว หากปล่อยไว้กลายเป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวระยะยาว

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย อาทิ อัตราค่าโดยสารสายการบินภายในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีราคาสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ต่างจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

โดยตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ลาว เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาค่าโดยสายสายการบินต่างประเทศแข่งกันทำโปรโมชั่นพิเศษ บางสายการบินทำตลาดด้วยการเปิดเส้นทางใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์

มาคาเลียสมองว่าปัญหา ‘คนไทยไม่เที่ยวไทย’ เริ่มสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยพบว่าการจองที่พักในประเทศผ่านระบบของมาคาเลียสมียอดจองต่ำกว่า 50% ในทางกลับกันแพคเกจต่างประเทศกลับมียอดจองสูงขึ้นถึง 70% ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากภาครัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่เร่งมือในการแก้ไข ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีนโยบายเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.2567 ทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง และสายการบินเตรียมจัดโปรโมชัน เพื่อให้ราคาถูกลง เพิ่มเที่ยวบินในประเทศแต่ราคายังสูงเหมือนเดิม ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเป็นเพียงการแก้ไขแค่บางส่วน อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นความสนใจของนักเที่ยวชาวไทยได้มากนัก เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่จะได้รับกลับคืนมา

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องดำเนินการแบบ ‘บูรณาการณ์’ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

‘การเดินทาง’ (Transportation) ต้องปรับให้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง การเดินทางทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ มีมาตรฐานเดียวกัน คือ สะดวกในการจอง มีความปลอดภัย ตรงเวลา และราคาที่เหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่า นักท่องเที่ยวไทยปัจจุบันมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ บางคนชอบเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ นั่งรถไฟ นั่งเรือ แต่ติดปัญหาทั้งด้านราคา การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความยากในการเข้าถึงระบบการจองที่สะดวกและรวดเร็ว

‘ที่พัก ร้านอาหาร’ (Accommodation & Restaurant) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นหัวใจหลักในการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานทั้งด้านงานบริการ และราคาต้องเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ในแต่ละช่วงของฤดูกาลแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและสอดรับกับค่าครองชีพของคนไทย ส่วนบทบาทของภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้วยนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งควรให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ควรจำกัดเงื่อนไขเฉพาะบางตัวแทนจำหน่าย (Travel Agency) เพราะลูกค้าบางรายไม่ได้จองที่พักกับตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “เรื่องสุดท้ายคือ ‘ประสบการณ์การท่องเที่ยว’ (Travel Experience) เทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมองหารูปแบบการเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งประสบการณ์การพักผ่อน ประสบการณ์ความสนุกกับกิจกรรม ประสบการณ์การบริการที่เหนือระดับ และอื่น ๆ ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวไทยให้เที่ยวในเมืองไทยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องสอดแทรกประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ไปในบริการของตนเอง และทำการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการมาใช้บริการซ้ำ ในส่วนของภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเงินทุนปล่อยกู้สนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนารูปแบบบริการต่อไปได้”

'แกร็บ' ผนึก 'ภาครัฐ-เอกชน' จัดงาน 'GrabNEXT 2024' ชู 'T.R.A.V.E.L' ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า

(15 พ.ค.67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี ‘GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า’ ซึ่งจัดขึ้นโดย แกร็บ ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’

พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถือเป็นเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้ ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เรายังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงมีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท

โดยการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวงต้องขอขอบคุณ แกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไป”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญคือการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว และตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ แกร็บจึงได้จัดงาน GrabNEXT เพื่อนำความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็มของแกร็บที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและมหภาค และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

เพื่อเป็นการสานต่อแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการยกระดับการท่องเที่ยวให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ แกร็บจึงได้เผยกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

>> Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ แกร็บ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี หรือ การเชื่อมต่อกับ แอปพลิเคชันชั้นนำให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay

>> Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แกร็บ จึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ที่ล่าสุด แกร็บได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

>>  Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านที่เติบโตขึ้นถึง 38%1 ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดในเมืองหลักและเมืองรองได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แกร็บ จึงได้มุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

>> Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ

ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง แกร็บ จึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการการสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

>> Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน2 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บ จึงได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น 

>> Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น3 ไม่ว่าจะเป็น การไปเทศกาลประจำจังหวัดต่าง ๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน ดังนั้น แกร็บ ในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทยในมิติต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาด ด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางในการผลักดันท่องเที่ยวให้ตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทย การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยว การสนับสนุนประสบการณ์ท้องถิ่นชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน GrabNEXT 2024 ได้ที่ grb.to/GrabNEXT2024

'อ.วีระศักดิ์' ชี้!! 'โลกร้อน' อีกสาเหตุสำคัญทำเครื่องบินตกหลุมอากาศ พร้อมแนะทางออกภาคการท่องเที่ยวไทยในสภาวะโลกกำลังเดือด

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'เครื่องบินตกหลุมอากาศ กับ ภาวะโลกร้อน และการปรับตัวของภาคท่องเที่ยวไทย?' 

อ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นด้วยกับประเด็นที่ว่าการตกหลุมอากาศลึกกว่า 2 กิโลเมตร ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีสาเหตุจากอะไร? โดยกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าทำไมโลกถึงร้อน เพราะว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโลก มันสะท้อนกลับไปในอวกาศได้ไม่หมด เพราะมันมีก๊าซเรือนกระจกขวางอยู่ ตอนที่แสงส่องลงมามันเป็นคลื่นความถี่สูงทะลุทะลวงได้ดี เมื่อกระทบพื้นดินหรือพื้นน้ำ มันกลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้สะท้อนอยู่ภายในโลกของเรา อุณหภูมิของโลกจึงอุ่นขึ้น โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์โดยตรง น้ำจะระเหยเยอะ

ดังนั้น พอน้ำระเหย พวกมันจะเจอความร้อนตามขึ้นมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้ลอยตัวสูงมากถึงชั้นที่เครื่องบินกำลังลอยตัวกันอยู่ เรียกว่า ลมพายกลอยตัว 

ตอนลอยตัวขึ้นไปเจอกับความเย็น บางช่วงอากาศมันก็จะกดตัวลงเมื่อเจอกับความเย็น เหมือนเป็นท่อลำเลียงให้อากาศและไอน้ำลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งมันก็จะเทลง เครื่องบินที่บินมาอาจเจออากาศพายกขึ้น และถ้าเจออากาศที่มันกดลงพอดี เรียกว่า 'แรงเฉือนของลม'

ในโลกใบนี้ยังมีลมหมุนจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก หรือเรียกว่า Jet Stream (กระแสลมกรด) ส่วนใหญ่การตกหลุมอากาศมักเกิดขึ้นตอนกลางวัน และช่วงเย็น ๆ ทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ เวลาโดยสารเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามประกาศของนักบิน หรือถ้าบินในระยะทางสั้น ๆ บินเที่ยวเช้าก็น่าจะพอช่วยได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงผลกระทบจากโลกร้อน จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยด้วยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และต้องตั้งใจช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เราต้องทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สบาย สะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวในโลกนี้ต่อไปจากนี้ จะเป็นกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้นสภาวะโลกร้อนปัจจุบัน ที่เรากำลังเจอในลักษณะ ร้อน-แห้ง และร้อน-เปียก ต้องถูกวางแผนให้กับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ภาวะร้อน-แห้ง ควรจัดแผนการท่องเที่ยวอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่ร่มได้ ไม่เที่ยวกลางแจ้งมากนัก ส่วนภาวะร้อน-เปียก ควรจัดแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่การเลือกเส้นทางมีน้ำท่วมหรือไม่ ต้องวางแผนล่วงหน้า เป็นต้น 

ส่วนเรื่องการเดินทางควรสนับสนุนให้มีการซื้อประกันการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบประกันของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้มีความรู้สึกว่ามีมืออาชีพดูแลสร้างความสบายใจได้ตลอดทริป 

สรุปแล้วภาครัฐและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ ทำให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตไปกับภาวะโลกร้อนต่อไป

ส่อง 'เศรษฐกิจไทย' ในวันที่ขยายตัวช้า-ความเชื่อถือ (ข้าวไทย) ตกต่ำ วาทกรรม 'คนไทยจะมีกินมีใช้' จะเป็นจริงได้ใต้ทีม ศก.ยุคนี้จริงหรือ?

คลังฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.4% ต่ำลงจากประมาณการเดิม 2.8% ณ เดือนมกราคม 2567  

ภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล หากประเมินคงต้องบอกว่า 'ไม่ผ่าน' ทั้งที่ช่วงปลายปี 2566 ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 จะขยายตัวสูงถึง 3.2% หลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ยาวถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น เศรษฐกิจปี 2567 น่าจะต้องดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปรับลด ต่ำลงเรื่อย ๆ 

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะสร้างความหวัง ให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับขึ้นสูง เช่น พริกขี้หนูสวน ที่ราคาทะลุ กิโลกรัม ละ 800 บาท แพงสุดในประวัติศาสตร์...

ตามด้วยข่าวร้อน การแถลงข่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูล ข้าวโครงการรับจำนำ ที่เก็บมา 10 ปี พร้อมนำออกมาจำหน่าย 

ภาพแรก คือ การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา สื่อของประเทศไนจีเรียออกข่าว กังวลการสั่งซื้อข้าวจากไทยทันที กลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพข้าวไทยที่จะส่งออก ถึงแม้ต่อมา จะมีการส่งพิสูจน์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพข้าว ก็ตาม 

บางสื่อได้พยายามเสนอข่าว นำข้าว 10 ปี ไปหุงรับประทาน แต่หากถามผู้บริโภคทั่วไป ใครอยากกินข้าวค้าง 10 ปี บ้าง ? เอกชนบางราย จึงออกมาประกาศ ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว 10 ปี เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำงาน ก็คงต้องพึ่งพ่อค้า มาทำหน้าที่แทน 

และแน่นอนว่า ราคาข้าวที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี เกษตรกรเริ่มยิ้มได้ กลับมาโดนข่าวนี้ ทุบราคาข้าว การส่งออกข้าว ก็คงโดนกระทบตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวแล้ว แทนที่จะเร่งชูคุณภาพข้าว ยกระดับราคาข้าว กระตุ้นการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สรุปว่า จะนำข้าว 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตัน ในโครงการจำนำข้าวออกมา ‘ขาย’ งานนี้เพื่อใคร? 

การบริโภคภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิมตามการส่งออกที่ฟื้นช้าลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูง มูลค่าการส่งออกสินค้า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7%     

แรงส่งด้านอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่อ่อนแอ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงมาก 

อินฟลูเอนเซอร์สำนักต่าง ๆ ที่ทำ Content ในช่วง 2-3 ปีก่อน ว่า ‘ประชาชนจะอดตายกันแล้ว’ ปัจจุบันยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหมือนเดิมไหม ? ‘ประชาชน จะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้’ วลี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คงจะติดตราตรึง ไปอีกนาน

'นายกฯ' ส่งไม้ต่อ 'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับท่องเที่ยว ช่วงไตรมาส 4 ผุดเส้นทางรถไฟเที่ยวพิเศษ เจาะกลุ่มมุ่ง 'วัฒนธรรม-ธรรมชาติ'

(5 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง หารือร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากออกมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวแล้ว ได้เตรียมพร้อมเรื่องการเดินทางต่อ โดยบ่ายวันเดียวกันนี้ มีการหารือหลายเรื่อง โดยเรื่องแรกหารือกับทั้งกระทรวงคมนาคม การท่าอากาศยานไทย (AOT), การบินไทย, เวียตเจ็ทแอร์ไลน์ และการรถไฟฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง Low Season เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบริหารทั้งจำนวนเครื่องบิน และเที่ยวบินให้เพียงพอ รวมไปถึงให้ทาง AOT เตรียมพร้อมรองรับสายการบิน ตลอดจนนักท่องเที่ยว นักเดินทางที่เพิ่มขึ้นด้วย

"ผมได้สั่งการให้การรถไฟฯ เพิ่มเส้นทางการเดินรถไฟใหม่ ๆ ตลอดจนจัดรถไฟเที่ยวพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมของไทย หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เสน่ห์ของการเดินทางโดยรถไฟน่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกเยอะเลยครับ" นายกฯ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top