Sunday, 11 May 2025
ทูตจีน

'ทูตจีน' เยือนจันทบุรี ย้ำสัมพันธ์ไทยจีนแน่นแฟ้น ปลื้มชาวสวนทุเรียนไทยให้ความสำคัญกับมาตรการ GAP Plus เผยจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่ม 87%

'เฉลิมชัย' พอใจยอดส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยไปจีน 4 เดือนปีนี้กว่า 4.3 แสนตัน ทำลายสถิติส่งออกมากกว่าปี 2564 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) แสดงความพอใจต่อรายงานการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยไปจีน ระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณ 433,809.92 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีปริมาณ 425,000 ตันซึ่งเป็นทำลายสถิติการส่งออกของฤดูกาลปี 2564 ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนแล้ว 91% ส่งออกแล้ว 87% สำหรับมังคุดเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 73% และส่งออกแล้ว 60%       

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย และคณะ เดินทางศึกษาดูงานด้านการเกษตร ณ จันทบุรี ในวันที่ 10 มิถุนายน โดยมีส่วนราชการ ได้แก่ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพิษณุ คล้ายเจตน์ดี ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และนายภานุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

โดยคณะได้เดินทางไปยังสวนทุเรียนรักตะวัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จากนั้นเข้าเยี่ยมชมและหารือกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ ดราก้อน เฟรชฟรุ๊ต อ.มะขาม จ.จันทบุรี เพื่อรับทราบมาตรการ GMP Plus ที่มีการควบคุมดูแลผลไม้ส่งออกที่ปลอดโรคแมลงศัตรูพืชและปลอดโควิด-19 จากนั้นได้เดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่ได้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าแบบครบวงจร

ทั้งนี้นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “ทุเรียนถือว่าเป็นราชาแห่งผลไม้หรือคิงออฟฟรุตที่ได้รับความชื่นชอบจากชาวจีนและชาวไทย ผมและคณะของผมก็เป็นผู้บริโภคทุเรียนของไทย การเดินทางมาดูสวนทุเรียนครั้งนี้ ในด้านนึงก็เพื่อศึกษาเรียนรู้การผลิตทุเรียน รวมถึงมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมโควิด-19 อย่าง GAP Plus และที่สำคัญในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียน  อยากแสดงความเคารพต่อผุ้ผลิตทุเรียน ที่ผลิตทุเรียนที่อร่อยผู้บริโภคชาวจีนจึงได้ชิมทุเรียนที่อร่อยสุดๆ 

"ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ชิมทุเรียน คือ ได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ตอนนี้ทุเรียนไทยมีขายทั่วไปในประเทศจีน เพราะฉะนั้นผมเองก็อยากขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดจันทบุรี สมาคมทุเรียนไทย และท่านสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ชวนผมมาดูสวนทุเรียนประเทศไทย 

"จีนกับไทยเป็นประเทศฉันท์มิตร ตามคำกล่าวที่ว่า จีนไทยพี่น้องกันใช่อื่นไกล ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองประเทศจะไปมาหาสู่กันลดลง แต่ว่าทั้งสองประเทศได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ความสัมพันธ์ไทยจีนแน่นแฟ้นกันมากขึ้นผ่านการต่อสู้เรื่องโควิด-19 ซึ่งระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีน คือการค้าขายสินค้าทางด้านเกษตร ซึ่งปีที่แล้วสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งไปจีน มูลค่าทะลุ 11,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3 แสนล้านบาท) เติบโต 33 % มีสินค้าทุเรียนที่ส่งไปจีนมูลค่า 5,430 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1.6 แสนล้านบาท) เติบโต 87% 

"ตั้งแต่มีโควิดขึ้นมาพวกเราก็มีมาตรการต่างๆเพื่อป้องกัน และฝ่ายจีนก็ใช้มาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีน ยกตัวอย่างเช่น มนฑลกว่างสี ในเรื่องการการอำนวยความสะดวกส่งผลไม้ไทยไปจีน ก็ได้ขยายเวลาทำการจากวันละ 8 ชั่วโมง เป็นวันละ 10 ชั่วโมง และจากทำการจากอาทิตย์ละ 5 วัน เป็นอาทิตย์ละ 7 วัน 

"ผมได้ยินว่าปีนี้ประเทศไทยมีทุเรียนออกมาเยอะมาก แต่ผมก็มั่นใจว่าการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนจะประสบความสำเร็จ ในเรื่องของการขนส่งก็ได้มีการเปิดรถไฟลาว-จีน เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีนได้ทางรถไฟอีกทาง ตอนนี้จีนกับไทยก็ผลักดันการสร้างรถไฟไทย-จีน อนาคตจะมีการขนส่งสะดวกขึ้นเพื่อส่งสินค้าของไทยไปจีนมากขึ้น 

"ทาง นายกสมาคมทุเรียนไทยบอกผมว่าจะมีการปลูกต้นทุเรียนร่วมกัน ซึ่งผมเชื่อว่าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของไทย-จีน ผมเองก็หวังว่าต้นทุเรียนที่เราได้ร่วมปลูกกันจะเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ที่ได้มีร่วมกัน"

นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบถึงมาตรการนำเข้าสินค้าของประเทศจีนที่ต้องการให้เป็น Zero Covid จึงได้ดำเนินมาตรการคุมเข้มและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างมาตรฐานการส่งออกผลไม้ที่ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการในสวน โรงคัดบรรจุ และการขนส่ง รวมทั้งได้มีการเพิ่มมาตรการของเกษตรกร จากมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับทุเรียน (GAP) เป็น GAP Plus โดยเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ในสวน เพื่อลดเชื้อและการปนเปื้อนในผลผลิต สำหรับโรงคัดบรรจุจะเพิ่มมาตรการจากหลักเกณฑ์ในการจัดการขั้นตอนพื้นฐานของกระบวนการผลิต (GMP) เป็น GMP Plus โดยจัดทำมาตรการความปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ (Covid Free Setting) และมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในผลไม้

ขณะเดียวกัน จังหวัดจันทบุรีได้ตระหนักและมีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกไปจีน จึงได้มีการวางมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การตรวจ ATK แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุเป็นประจำ การจัด Big Cleaning เพื่อทำความสะอาดโรงคัดบรรจุ และการฉีดพ่นน้ำยาก่อนการบรรจุและก่อนการขนส่งจนสินค้าที่ส่งออกเป็นที่ยอมรับ และมีการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

‘ทูตจีน’ ปาฐกถาพิเศษ 10 ปี ‘1 แถบ 1 เส้นทาง’ ชี้!! คนรุ่นใหม่ไทย-จีน เป็นพลวัตสร้างอนาคตร่วมกัน

ทูตจีนปาฐกถาพิเศษ 10 ปี 1แถบ 1 เส้นทาง ชี้แนวโน้มแข็งแกร่ง ‘คนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ เป็นพลวัตสร้างอนาคตร่วมกัน

(24 เม.ย.66) ที่ห้องประชุมจันทร์จรัส อาคารอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีการจัดงานสัมมนาหัวข้อ ‘จีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน’ โดย ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน สถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย และศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ร่วมกับ มรภ.จันทรเกษม, สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมฟังเสวนาอย่างคับคั่ง โดยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ใจความว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน สำหรับโครงการ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นข้อริเริ่มจากข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเจริญร่วมกัน

โดยในวาระครบรอบสิบปีของการริเริ่มโครงการ นับเป็นโอกาสดีที่คนรุ่นใหม่จะได้พูดคุยกัน ไทยและจีนมีสายเลือดเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เป็นเพื่อนบ้าน และเป็นหุ้นส่วนที่ดี ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การร่วมพัฒนาโครงการสายแถบและเส้นทางได้ประสบความสำเร็จมากมายในการเชื่อมต่อนโยบายภายใต้แนวคิดการพัฒนาใหม่ สร้างระบบใหม่แบบเปิดกว้างและครอบคลุม

รัฐบาลไทยได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง และนโยบายของทั้งสองประเทศมีการการครอบคลุมอย่างรอบด้าน

ปัจจุบันโครงการรถไฟจีน-ไทยระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ระหว่างไทยจีนและลาว

ในอนาคตจีนและไทยจะกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบการร่วมมือนี้ ปัจจุบันจีนกำลังเจรจากับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีไทยเป็นผู้ประสานงาน เชื่อมั่นว่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งประชาชนจีนและไทย

ในปี 2565 จีนมีการลงทุนใน 158 โครงการ ทำให้จีนเป็นแหล่งทุนต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ดึงดูดผู้ผลิตของจีนกว่า 180 บริษัท สามารถสร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 45,000 ตำแหน่ง จีนได้จัดตั้งธนาคารหลักเงินหยวนในต่างประเทศ จีนและไทยได้ช่วยเหลือกันและกันอย่างจริงใจในช่วงโควิด ทำให้มิตรภาพแน่นแฟ้นมากขึ้น

นอกจากนี้ จีนจัดให้ไทยเป็น 1ใน 20 ประเทศแรกนำร่องเพื่อไปท่องเที่ยวที่ประเทศจีน และประเทศไทยก็รับนักท่องเที่ยวจีนเช่นกัน ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา คนจีนมาเที่ยวไทยประมาณ 500,000 คน สะท้อนความสัมพันธ์อันดีที่มีให้กันมาตลอด โดยในอนาคตจะเห็นภาพสายแถบและเส้นทางอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์ใหม่ ๆ และจะเป็นการส่งเสริมให้จีนและไทยมุ่งสู่ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top