Tuesday, 22 April 2025
ที่ดินทำกิน

GISTDA จับมือ สำนักงานฯ นโยบายที่ดินแห่งชาติ ใช้ข้อมูลจากอวกาศช่วยชุมชนจัดการที่ดินทำกิน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผน ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ณ ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดินในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีภูมิสารสนเทศ (Geo- Informatics) ที่มีความพร้อมสำหรับใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน

การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในครั้งนี้จะเน้นการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูงมากของประเทศไทยมาสนับสนุนในการจัดทำแผนที่ในโครงการ one map รวมถึงจะมีการบูรณาการข้อมูลจากดาวเทียมดวงอื่นของหน่วยงานพันธมิตรมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน และติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากข้อมูลดาวเทียมมีคุณสมบัติในการจำแนก วิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นโลก สามารถแยกแยะการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังช่วยติดตามความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทางของนโยบายของรัฐบาล 

MOU ในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน หลังจากที่ปัจจุบัน สคทช. และ GISTDA อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ คทช. นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงพื้นที่จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงจากการลงทุนของประเทศไทย เนื่องจากการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของ สคทช. ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) การพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องอาศัยการมีข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ซึ่ง สคทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ GISTDA มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสำหรับเป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชัน Dragonfly ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนและบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงจำหน่ายผลผลิตอย่างครบวงจร

63 ครอบครัว ‘แม่เมาะ’ เฮลั่น!! ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ช่วยได้ ประสาน กฟผ.เยียวยาเงินค่าที่ดินทำกิน 72 ล้านบาท 31 ม.ค.นี้

(27 ม.ค. 67) นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนและเข้าช่วยเหลือชาวบ้านพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เขตพื้นที่บ้านห้วยคิง 62 ครอบครัว และ ชาวบ้านเวียงหงศ์อีก 1 ครอบครัว รวม 63 ครอบครัว ที่มีความประสงค์จะรับเงินเยียวยาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้ เนื่องจากมีมติ ครม.ปี 2562 ที่ นร. 0505/15899 ลงวันที่ 2 พ.ค.2562 มีมติไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินเยียวยยา ค่าที่ดินทำกิน 72 ล้านบาท (เป็นค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน)

นางศิริวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องได้ดำเนินจาก กฟผ.ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามเลขที่หนังสือ กฟผ. s520A0/76526 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2566

จึงขอความอนุเคราะห์ได้นัดวัน เวลา เพื่อไปยื่นเรื่องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีนางศิริวรรณ และ ดร.นงค์เยาว์ อาทิตยานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เขต 3 ลำปาง เป็นผู้พาไปยื่นหนังสือดังกล่าว

นางศิริวรรณ กล่าวว่า ล่าสุด กฟผ.พร้อมที่จะเยียวยาเงินจำนวน 72 ล้านบาท ให้กับบุคคลในพื้นที่จำนวน 63 ราย และจะมีการมอบเช็คจำนวนเงินดังกล่าว ให้แก่ชาวบ้านในวันที่ 31 มกราคม 2567 นี้ เวลา 9.00 น.

'คลัง' เดินหน้า 'ธนารักษ์เอื้อราษฎร์' มอบสัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน 9 จังหวัด 1,900 ราย 7,000 ไร่ ใน 6 เดือน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล แถลงข่าวในโครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์  มอบสัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” ว่า

กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน และต้องการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำที่ดินราชพัสดุในความครอบครองของส่วนราชการ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า มาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทำให้เข้าถึงด้านสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ และบริการสาธารณะของภาครัฐ ด้วยอัตราค่าเช่าต่ำและผ่อนปรน

ซึ่งการมอบสัญญาเช่าที่ดินจะเกิดขึ้นใน 9 จังหวัด กว่า 1,900 ราย กว่า 7,000 ไร่ ภายใน 6 เดือน ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา 248 ไร่ เชียงราย 273 ไร่ เชียงใหม่ 281 ไร่ นครสวรรค์ 1,120 ไร่ นครพนม 661 ไร่ กาฬสินธุ์ 1,174 ไร่ ปัตตานี 29 ไร่ ราชบุรี 1,500 ไร่ และสุราษฎร์ธานี 2,100 ไร่ ทั้งหมดนี้ได้สั่งการให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 

โดยมี “ค่าเช่าต่ำและผ่อนปรน” ดังนี้ ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หากไม่เกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.25 บาท/ตารางวา/เดือน หากเกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.50 บาท/ตารางวา/เดือน และหากเป็นที่ดินเพื่อประกอบการเกษตร เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 20 บาท/ไร่/ปี และหากเกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 30 บาท/ไร่/ปี เป็นสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าของกรมที่ดินให้กับประชาชน แต่สามารถขอเป็นสัญญาเช่า 30 ปีได้ หากผู้เช่าประสงค์

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงการคลังต้องการพลิกชีวิต พลิกคุณภาพชีวิตของประชาชน

'เผ่าภูมิ' ตลุยสวนผึ้ง มอบสัญญาเช่าที่ดินพลิกชีวิต ปชช. 'ธนารักษ์เอื้อราษฎร์' กว่า 1,500 ไร่ ถูกสุด 20 บาท/ไร่/ปี

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการมอบสัญญาเช่าที่ดิน ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในโครงการ 'ธนารักษ์เอื้อราษฎร์' ว่า

โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ 'สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน' ของกระทรวงการคลัง จัดให้มีการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้ประชาชนในวันนี้ (21 ก.ย. 2567) เป็นการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 (บางส่วน) ต.ป่าหวาย ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวม 162 สัญญา เนื้อที่ 1,500 ไร่ 72 ตารางวา เป็นเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 55 สัญญา เนื้อที่ 139 ไร่  1 งาน 33 ตารางวา เพื่อประกอบการเกษตร จำนวน 107 สัญญา เนื้อที่ 1,360 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ในอัตราค่าเช่าต่ำ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

กระทรวงการคลังมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ช่วยให้ประชาชนมีที่ดินในการประกอบอาชีพ มีรายได้ และมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ ทั้งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ และยังสามารถสิทธิการเช่าที่ดินไปใช้ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างชีวิตใหม่ โอกาสใหม่ให้กับประชาชน 

โดยมีค่าเช่าที่ต่ำ เริ่มต้นที่ 20 บาท/ไร่/ปี สำหรับเนื้อที่ไม่เกิน 50ไร่

โดยในปีนี้ กรมธนารักษ์ ได้มอบสัญญาเช่าที่ดิน สร้างชีวิตใหม่ให้ประชาชนแล้วกว่า 2,800 ราย พื้นที่กว่า 9,000 ไร่ และที่ต่อไป สุราษฎร์ธานี ในเดือนพฤศจิกายนครับ

ชาวกาฬสินธุ์ แพร่ พังงา เฮ! 'เฉลิมชัย' ประเดิมมอบของขวัญปีใหม่ 68 อนุญาตที่ดินทำกินในเขตป่าให้ชุมชนที่รอมายาวนาน รวมกว่า 6,600 ไร่

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่าได้ลงนามอนุมัติการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อนำไปดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ แพร่ และพังงา รวมเนื้อที่กว่า 6,617 ไร่  

โดยพื้นที่แต่ละจังหวัดได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาแล้วตั้งแต่ปี 2564 และได้รับความเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายจากคณะกรรมการจัดหาที่ดินแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2564 – 2565 แต่เนื่องจากทั้ง 3 พื้นที่ มีพื้นที่บางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ในเขตจำแนกการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) ที่ต้องมีการจัดทำรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณารายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาอนุญาตการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังมีการปรับลดเปลี่ยนแปลงเนื้อที่จากทางจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบสภาพป่า ทำให้มีกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านต้องใช้ระยะเวลาในการรอคอยมาอย่างยาวนาน

“ในวันนี้ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แพร่ และพังงา ที่จะมีที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ได้รับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นตามมา เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ซึ่งหลังจากที่กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปของทั้ง 3 จังหวัด จะเข้าสู่ขั้นตอนของคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยประชาชนจะได้รับการจัดสรรที่ดินรายละไม่เกิน 20 ไร่ ก็ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับการจัดสรรเข้าถือครองพื้นที่ ร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ให้ดี ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้พื้นที่อย่างเคร่งครัดต่อไป ครั้งนี้ ถือเป็นการประเดิมมอบของขวัญปีใหม่จากกระทรวงทรัพยากรฯ ให้กับพี่น้องประชาชนเป็น 3 จังหวัดแรก ใน 3 ภูมิภาค และในปี 2568 ที่จะถึงนี้ จะเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่เหลือให้ครบตามเป้าหมายโดยเร็วต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

โดยพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ในครั้งนี้ ปะกอบด้วย พื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ เนื้อที่ 661 ไร่ 3 งาน 39.37 ตารางวา  จ.แพร่ เนื้อที่ 3,606 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา จ.พังงา เนื้อที่ 2,350 ไร่ 1 งาน 41 ตารางวา ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่มีกำหนดระยะเวลาการอนุญาต 30 ปี และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต รวม 26 ข้อ เพื่อการร่วมดูแลและรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่อไป

'เผ่าภูมิ' ส่งท้ายปี 67 มอบสัญญาเช่าที่ดิน สระบุรี 'เอาที่รัฐ ให้ราษฎร์ทำกิน' ถูกเพียงปีละ 200 บาท/ไร่

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวในโครงการ 'ธนารักษ์เอื้อราษฎร์' สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน ในอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ว่า

กระทรวงการคลัง มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้พี่น้องประชาชน ตามโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ 'สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน' 'เอาที่รัฐ ให้ราษฎร์ทำกิน' โดยในวันนี้เป็นการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สบ.689 ต.บ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี และแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สบ.5, สบ.275, สบ.325, สบ.642 รวม 120 ราย (154 สัญญา) เนื้อที่ประมาณ 46 ไร่ 1 งาน 94.40 ตารางวา เป็นเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 106 ราย (115 สัญญา) เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 1 งาน 47.40 ตารางวา และ เพื่อการเกษตร 39 สัญญา เนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ 47 ตารางวา ในอัตราค่าเช่าผ่อนปรน ดังนี้
- เช่าเพื่ออยู่อาศัย อัตราค่าเช่า ตารางวาละ 0.75 บาท/เดือน
- เช่าเพื่อประกอบเกษตรกรรม อัตราค่าเช่า ไร่ละ 200 บาท/ปี

โดยสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้ประชาชน ตามโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ 
1. ช่วยให้ประชาชนมีที่ดินทำกินในอัตราค่าเช่าถูก มีรายได้ที่มั่นคง และมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง 
2. เข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ ทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ (น้ำ ไฟ ฯลฯ)
3. นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ 
4. สามารถไปยื่นขอบ้านเลขที่ ขอทะเบียนบ้านได้
5. สามารถได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลในกรณีต่างๆ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม ฯลฯ

'ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส.' มอบสมุดที่ดินทำกินป่าสงวนแห่งชาติ ใน 5 อำเภอ จ.ปัตตานี

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เดินทางไปโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับสิทธิที่ดินทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ให้ประชาชน 454 ราย รวมพื้นที่ 2,300 ไร่  ได้อยู่อาศัยทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ครอบคลุม 5 อำเภอ ในจังหวัดปัตตานี (สายบุรี  โคกโพธิ์ อำเภอทุ่งยางแดง ยะรัง อำเภอกะพ้อ)

โดยมี นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา  นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   เเละรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้บริหารกรมป่าไม้ ร่วมเดินทางไปด้วย

ดร.เฉลิมชัย ย้ำถึงความสำคัญของการเร่งรัดกระบวนการช่วยเหลือที่ดินทำกินเพื่อความเป็นธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“ที่ดินทำกินเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับประชาชน กระทรวงทรัพยากรฯ จึงมุ่งมั่นในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้เร็วที่สุด ผมมอบนโยบายให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการ เพราะความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราจะช่วยเหลือประชาชนได้ ก็คือทำให้เร็วขึ้นให้ถึงมือประชาชนมากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะที่ดินทำกินจะเป็นขวัญและกำลังใจที่ดีให้กับประชาชน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อที่ดินถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะสามารถเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคได้ ทำให้พี่น้องประชาชน ได้มีถนน ไฟฟ้า และมีน้ำประปาใช้ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ในโอกาสนี้ กรมป่าไม้ยังแจกจ่ายกล้าไม้มีค่าให้ประชาชนปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ โดยขอความร่วมมือประชาชนร่วมดูแลรักษาป่าไม่ให้ถูกบุกรุก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top