Tuesday, 22 April 2025
ดอยตุง

‘Onitsuka Tiger-ดอยตุง’ เปิดตัวรองเท้าลายผ้าทอคอลเลกชันพิเศษ ผสมผสานงานฝีมือดั้งเดิมไทยและกลิ่นอายแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่น

ประสบความสำเร็จจากครั้งแรก Onitsuka Tiger (โอนิซึกะ ไทเกอร์) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น มีความภูมิใจที่จะนำเสนอการร่วมมือกันเป็นครั้งที่ 2 กับ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งถือเป็นโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้สร้างสรรค์ รองเท้าที่เกิดจากความร่วมมือและความคิดริเริ่มในการก้าวข้ามพรมแดน ที่ได้นำลวดลายผ้าทอออริจินัลของดอยตุงมาเป็นการใช้วัสดุที่ได้รับการออกแบบใหม่และพัฒนาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผ้าทอในคอลเลกชันนี้จึงเป็นผ้าออริจินัลที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับ ‘Onitsuka Tiger’ โดยเฉพาะ

สำหรับสินค้าในคอลเลกชันนี้เป็นการผสมผสานระหว่างงานฝีมือแบบดั้งเดิมของช่างฝีมือในประเทศไทย เข้ากับรองเท้ารุ่นไอคอนิก อันเป็นเอกลักษณ์ของ Onitsuka Tiger ทำให้เกิดเป็นรองเท้าที่รวมไว้ซึ่งคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งแบบไทยและแบบเฉพาะของ Onitsuka Tiger โดยมีเป้าหมายคือการแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เหนือกาลเวลา โครงสร้างที่ทนทานและมอบความสบาย เมื่อสวมใส่ ซึ่งจะเหมาะสมกับผู้คนที่หลากหลายทั่วโลก 

รองเท้าทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัสดุที่ยั่งยืน ความร่วมมือกันในครั้งนี้ยังสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและการจ้างงานที่มีความหมายแก่ชาวดอยตุง รองเท้าอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นความยั่งยืน 

รองเท้าทุกรุ่นจะวางจำหน่ายในร้าน Onitsuka Tiger และบนอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งร้านดอยตุง ซึ่งนอกเหนือจากรองเท้าแล้วในคอลลาบอเรชันโปรเจกต์ปีนี้ยังมีเครื่องแต่งกายที่จะวางขายเฉพาะร้านดอยตุงอีกด้วย

สำหรับรองเท้าโอนิซึกะ ไทเกอร์ รุ่นไอคอนิกครั้งนี้มีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ 

-MEXICO 66 Thai-Exclusive Model มีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น 
-MEXICO 66 
-SERRANO CL
-MEXICO 66 PARATY

15 มกราคม พ.ศ. 2530 สมเด็จย่า เสด็จฯ เยือนดอยตุงเป็นครั้งแรก พร้อมทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เสด็จฯ เยือนดอยตุงเป็นครั้งแรก และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ด้วยพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา 

ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปีก่อน พื้นที่บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หากมองจากมุมมองของนก คงเป็นเพียงผืนดินสีน้ำตาลแดงของภูเขาหัวโล้นทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แซมด้วยจุดสีเขียวเล็กจ้อยกระจายตัวอยู่เพียงประปราย

ดอยตุงในอดีตคือดินแดนที่ผู้คนในพื้นที่แห่งนั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและขาดความรู้ด้านการเกษตร มีชีวิตที่แร้นแค้นและตกอยู่ในวังวนของปัญหา นำมาซึ่งการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ปลูกและค้าสิ่งเสพติดขายให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการขายและเสพยาเสพติด รวมถึงการค้าประเวณีเพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงในพื้นที่เมื่อสมเด็จย่าเสด็จฯ มาเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 และทรงตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ความยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา ซึ่งเป็นวัยที่หลายคนลงความเห็นว่าควรพักผ่อน แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะทรงงานต่อเนื่องดังที่เป็นมา

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่ม ‘ปลูกคน’ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บนความเชื่อสำคัญที่ว่า หากสร้างหนทางให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากวงจร ‘ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้’ ได้ ปัญหาสังคมและการทำลายธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จะหมดไปในที่สุด สมเด็จย่าจึงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา ดังพระราชดำรัสที่ว่า

โดยพระราชดำรัส “ตกลงฉันจะมาปลูกบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็จะไม่มาปลูกบ้านที่นี่ ฉันอยากปลูกป่ามาสิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครรับปากฉัน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top