Monday, 28 April 2025
ดอกมะลิ

‘ดอกมะลิ’ ขอนแก่น แพงทะลุ กก.ละ 1,200 บาท ต้อนรับวันแม่ ผู้ค้าตรึงราคาเริ่มต้นพวงละ 50 บาท ลดปริมาณดอกลงตามต้นทุน

(12 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าว จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการจำหน่ายพวงมาลัยดอกมะลิและดอกพุดเนื่องในวันแม่แห่งชาติ บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาล 1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น ย่านการค้าดอกไม้สดและพวงมาลัยรายใหญ่ของจังหวัดขอนแก่น พบว่าพ่อค้าแม่ค้าแทบทุกร้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดอกมะลิปีนี้ราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาจำหน่ายพวงมาลัยดอกมะลิเริ่มต้นที่พวงละ 50 บาท

น.ส.ยุวธิดา จันทดวง อายุ 46 ปี แม่ค้าขายพวงมาลัย กล่าวว่า วันนี้ซื้อดอกมะลิมาราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท ถือว่าราคาสูงมาก เพราะปีที่แล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 900-1,000 บาท วันแม่ปีนี้มีลูกค้ามาเลือกซื้อพวงมาลัยดอกมะลิอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เงียบกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจ

น.ส.ยุวธิดา กล่าวต่อว่า ส่วนพฤติกรรมการซื้อก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนจะมีคนมาซื้อพวงละ 200 บาทจำนวนมาก แต่ปีนี้ส่วนใหญ่จะซื้อแค่พวงละ 50-100 บาท ทำให้ร้านต้องจัดทำพวงมาลัยและคงราคาจำหน่ายเริ่มต้นคือพวงมาลัยทั้งดอกพุดและดอกมะลิ เริ่มต้นพวงละ 50 บาท แต่ต้องลดจำนวนดอกลง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งลูกค้าทุกคนก็เข้าใจในสถานการณ์

วัดดังเมืองตรังปลูก 'เมล่อน-ดาวเรือง-ดอกมะลิ' ในวัด ให้ชาวบ้านเก็บฟรี เผย!! เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามโครงการ 'วัด-บ้าน-โรงเรียน'

(29 เม.ย. 67) ที่วัดเกาะมะม่วง หมู่ที่ 1 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง พระอธิการพานิช ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดเกาะมะม่วง ใช้เงินส่วนตัวสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เมล่อนสีทองมาปลูกไว้ที่หน้ากุฏิจำนวน 22 ต้น โดยทำเป็นซุ้มให้โค้งเข้าหากันทั้งสองด้าน ไม่มีโรงเรือน ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ใช้ถุงสีเหลืองและสีขาวจากชุดสังฆทานที่ชาวบ้านนำมาถวาย มาตัดทำเปลให้เมล่อนนอน โดยใช้เวลาปลูกประมาณ 70-75 วัน ปรากฏว่าเมล่อนรุ่นแรกให้ผลดีเกินคาด

บรรดาญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เห็นเข้าต่างแห่จับจองเป็นเจ้าของ แม้ว่าเจ้าอาวาสจะบอกว่าไม่ได้ขาย จะปลูกไว้ฉันเองภายในวัด แต่สุดท้ายทนชาวบ้านรบเร้าไม่ไหว เพราะเห็นว่าลูกใหญ่ สีสวย ปลอดภัยจากสารพิษ เจ้าอาวาสฯ จึงให้เขียนชื่อติดไว้ จนมีไม่พอต่อความต้องการของชาวบ้าน และมีการเก็บไปกว่า 10 ลูกแล้ว โดยไม่มีการคิดมูลค่า แล้วแต่จิตศรัทธา แต่พระในวัดยังไม่ได้ฉันแม้แต่ลูกเดียว

ส่วนบริเวณหน้าโกศ (ภาคใต้เรียกหน้าบัว) หรือที่ใส่กระดูกคนตาย พระสงฆ์ได้ช่วยกันปลูกดอกดาวเรืองไว้จำนวน 600 ต้น เพื่อให้บานทันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องซื้อดอกไม้ให้เก็บมาใช้ได้ แต่ดาวเรืองบานช้ากว่ากำหนดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้หลังสงกรานต์ก็ยังมีดอกดาวเรืองบานสะพรั่ง สีเหลืองสวยงาม เป็นที่ถูกตา ต้องใจบรรดาแม่ค้าขายดอกไม้เป็นอย่างมาก

โดยได้มาขอซื้อวันละ 2,000-3,000 ดอก เพื่อนำไปร้อยมาลัยและขายต่อให้กับแม่ค้าเจ้าอื่น แต่เจ้าอาวาสให้เก็บฟรี ส่วนชาวบ้านใครจะใช้ดอกดาวเรืองก็มาเก็บฟรีได้เช่นกัน ซึ่งบางวันหากแม่ค้าเก็บไม่ทัน พระสงฆ์ในวัดก็ช่วยกันตัดส่งให้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามโครงการ วัด บ้าน โรงเรียน ซึ่งในแปลงปลูกดอกดาวเรือง ยังมีแตงโมปลอดสารให้เก็บกินฟรีด้วย

นอกจากนี้พระสงฆ์ยังช่วยกันปลูกดอกมะลิไว้จำนวน 1,200 ต้น เพื่อให้มีกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ววัดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บไปใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ ได้ ซึ่งทุกอย่างฟรีหมด แต่เจ้าอาวาสออกเงินส่วนตัวซื้อเองทั้งหมดและเป็นแบบนี้มานานหลายปีแล้ว ทำให้พระสงฆ์ของวัดนี้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ส่วนผลไม้และต้นไม้ต่าง ๆ ปลูกไว้เป็นร่มเงา เพื่อให้ชาวบ้านได้นั่งพักผ่อน หรือใช้เป็นสถานที่นั่งปฎิบัติธรรม ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองตรัง ประมาณ 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น

ด้านพระอธิการพานิช ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดเกาะมะม่วง กล่าวว่า เมล่อนปลูกที่ซุ้มหน้ากุฏิเพื่อความสวยงามไม่ได้ปลูกขาย แต่โยมมาจองหมด ซึ่งก็แล้วแต่จะให้ลูกละ 10 บาท 20 บาท แต่ไม่มีใครเอาฟรี ส่วนมากก็ให้ลูกละ 200 บาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งรอบนี้ปลูกประมาณ 22 ต้นเพราะมีเนื้อที่จำกัดและปลูกในกระถาง โดยตั้งใจจะปลูกไว้ฉันเอง แต่พอโยมมาเห็น ต่างพากันจอง ซึ่งที่เจ้าอาวาสจองไว้ โยมยังขอเลยยกให้

โดยรอบต่อไปจะปลูกแตงโมในกระถาง ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เหลือเท่าไหร่ก็กินเท่านั้นและปลูกดาวเรืองไว้ 600 ต้นอาไว้ใช้ช่วงสงกรานต์แต่มีทั้งบานก่อนและหลังสงกรานต์ เกินเวลาที่คำนวณไว้ ซึ่งมีโยมมาตัดไปขาย ถ้าพระว่างก็ใช้พระตัดให้ แต่ส่วนมากพระไม่ได้ตัดให้ เพิ่งวันนี้วันแรก ส่วนมะลิปลูกไว้จำนวน 1,200 ต้น แต่ไม่ได้ปลูกเพื่อขายโดยบอกญาติโยมว่าถ้ามีงานมงคลหรืองานอะไรก็แล้วแต่ไม่ต้องไปซื้อที่ตลาดให้มาเอาที่วัดเกาะมะม่วงได้เลย แล้วแต่จะเอาไปใช้อะไร แต่ไม่ได้ขาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top