Monday, 21 April 2025
ซาอุดีอาระเบีย

'บีโอไอ' เผยผลสำเร็จไทยเยือนซาอุฯ ยอดเจรจาธุรกิจ 100 คู่ จ่อลงทุนไทย ขนเงินลุย 'แลนด์บริดจ์-เกษตร-อาหารแปรรูป-การแพทย์-พลังงานสะอาด'

(15 ก.ค.67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการจัดคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมเป็นประธานเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ว่า...

การจัดงานประชุมภาคธุรกิจ 'Thai – Saudi Investment Forumอ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกว่า 200 บริษัท/หน่วยงาน และเกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ในหลากหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร, อาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, การจัดอีเวนต์และเทศกาล, เกมและอีสปอร์ต, การผลิตน้ำหอม และธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับบริษัทเอกชนของไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม Investment Forum และการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล้วยน้ำไท สมิติเวช และพระราม 9) อุตสาหกรรมพลังงาน (บริษัท ปตท. บ้านปู และกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (กลุ่มซีพี บริษัท เบทาโกร และสหฟาร์ม) อุตสาหกรรมบริการสนับสนุนการท่องเที่ยว (ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล) สถาบันการเงิน (ธนาคาร EXIM และธนาคารอิสลาม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมคณะด้วย 

โดยจากการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ พบว่า นักลงทุนซาอุดีฯ หลายรายให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจบริการ 

คณะฯ ยังได้เข้าพบกับบริษัทชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) ผู้นำด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ได้หารือแผนการลงทุนในไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท CEER Motors ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุน Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีฯ Foxconn จากไต้หวัน และ BMW จากเยอรมนี โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้บริษัทพิจารณาการลงทุนในประเทศไทยและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ รวมทั้งหารือถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะไปลงทุนที่ซาอุดีอาระเบียเพื่อป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตลาดตะวันออกกลางในอนาคต

นอกจากนี้ ในการประชุมทวิภาคีระหว่าง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ H.E. Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือไทย - ซาอุดีอาระเบียใน 4 ด้าน ได้แก่...

1) ความมั่นคงทางอาหารและเกษตร 2) ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงพลังงานสะอาด 3) ความมั่นคงทางมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และ 4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) 

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียต่างเห็นพ้องที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านธุรกิจและการลงทุน โดยซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลางให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในอาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีประชากรรวมกว่า 4,000 ล้านคน โดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองประเทศ 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและซาอุดีอาระเบียยังมีกำหนดจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีหารือในประเด็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันในทุกมิติต่อไป

ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเร่งผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนส่งเสริมการลงทุนครั้งสำคัญของซาอุดีฯ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลไทย

การเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศแห่งที่ 17 ของ  บีโอไอ และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ซึ่งซาอุดีฯ ให้ความสนใจในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและเป็นฮับแห่งใหม่ของซาอุดีฯ ในภูมิภาคนี้ โดยบีโอไอพร้อมใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือการร่วมกับธุรกิจไทย

‘Team Falcons’ ผงาดคว้าแชมป์โลก Free Fire รับ!! 10.8 ล้านบาท ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

เมื่อวานนี้ (16 ก.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘หัวตารางบอลไทย’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

“การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต เกม Free Fire รายการชิงแชมป์โลก Esports World Cup 2024 ที่เมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นการแข่งขันในรอบแกรนด์ไฟนอลส์

ผลปรากฏว่า ‘Team Falcons’ ตัวแทนจากประเทศไทย สร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยม ผงาดคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ ทำไป 106 คะแนน จากการเล่นทั้งหมด 6 รอบ ในรอบแกรนด์ไฟนอลส์

ส่งผลให้คว้าอันดับ 1 ไปครอง พร้อมกับคว้าเงินรางวัล 300,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 10.8 ล้านบาท

ส่วนอันดับสองเป็น EVOS จากอินโดนีเซีย ทำได้ 96 คะแนน และอันดับสาม Miners.gg จากบราซิล ทำไป 90 คะแนน

ทั้งนี้ ในขณะที่ผลงานอีก 3 ทีมตัวแทนจากประเทศไทย Buriram United Esports คว้าอันดับ 4 ทำไป 86 คะแนน

ตามมาด้วย All Gamers จบอันดับ 5 ทำไป 77 คะแนน และ Twisted Minds จบอันดับ 11 ทำไป 38 คะแนน”

'พีระพันธุ์' เยือนซาอุดีอาระเบีย ปิดดีลใหญ่!! ยกระดับความร่วมมือด้านพลังงาน ‘ไทย-ซาอุฯ’

ไม่นานมานี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภารกิจภายหลังการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะทำงาน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ในการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย

ส่วนที่สองเป็นการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการทำความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2565  โดยคณะของกระทรวงพลังงานไทยได้มีการหารือกับคณะเจรจาของกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย  และยังมีหน่วยงานชั้นนำของประเทศซาอุดีอาระเบียและของโลกเข้าร่วมหารือด้วย เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก บริษัท SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก บริษัท ACWA Power  ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในด้านภารกิจกระชับความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบียหลังจากที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในรอบ 32 ปีนั้น ได้มีการพูดคุยกันในกรอบการค้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์โดยภาพรวมต่อทั้งสองประเทศ ส่วนภารกิจด้านการติดตามความร่วมมือด้านพลังงานตาม MOU เดิมทั้ง 8 ข้อนั้น ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางซาอุดีอาระเบียในทุกข้อตกลง โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป

นายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยถึงข้อตกลงสำคัญๆ ในการหารือว่า ขณะนี้ทางซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต รวมถึงเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

"เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนาไฮโดรเจนจนได้ต้นทุนที่ถูกลง ก็จะสามารถนำพลังงานส่วนนี้มาชดเชยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และลดค่าไฟแก่พี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทางซาอุฯ ก็รับปากที่จะมาลงทุนในไทยในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยถือเป็นความร่วมมือระดับ 'บิ๊กดีล' ระหว่างไทยและซาอุฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศต่างก็มีเป้าหมายจะพัฒนาและลงทุนในด้านนี้

นอกเหนือจากข้อตกลงทั้ง 8 ข้อใน MOU เดิม นายพีระพันธุ์ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของไทย  ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่ 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคลากรพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน ในฐานะ รมว.พลังงานซาอุฯ รวมถึงบุคลากรระดับสูงของภาครัฐ และผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในซาอุดีอาระเบียต่างให้การต้อนรับคณะของกระทรวงพลังงานไทยเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน

"การเยือนซาอุฯ ครั้งนี้ เราได้รับการตอบสนองอย่างดีในทุกๆ เรื่อง และเราได้รับการต้อนรับที่ดีจริงๆ เราได้ชมกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงของบริษัทด้านพลังงานระดับโลก และทางซาอุฯ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับประเทศไทย เหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นความตกลงข้อที่ 9 ที่เราได้มา นอกเหนือจาก MOU ทั้ง 8 ข้อ ซึ่งล่าสุดทั้งสองประเทศก็ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกๆ ประเด็นความร่วมมือที่มีการพูดคุยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบียพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยทาง ซาอุฯ ได้ให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินระบบ SPR ของไทยทันทีเมื่อไทยมีความพร้อม

ขณะเดียวกัน ทางซาอุดีอาระเบียก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องของการผลิตพลังงานสะอาด และเน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานที่ต้องการผลักดันเพื่อไปสู่เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

สำหรับโอกาสการลงทุนในซาอุดีอาระเบียนั้น นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซาอุฯ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงส่งสัญญาณผ่านทางกระทรวงพลังงานของไทยไปถึงนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนโรงไฟฟ้าให้ที่ซาอุฯ ด้วย

"การไปเยือนและเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญของสองฝ่าย หลังจากที่ทาง ซาอุฯ เอง ก็รอไทยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเกือบสองปีเต็มนั้นยังไม่มีอะไร แต่วันนี้ความคืบหน้าของ 'ไทย-ซาอุฯ' เกิดขึ้นแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมก็จะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป นี่คือสัญญาณที่ดีมากๆ เพราะทุกการเจรจา ทุกความร่วมมือที่กล่าวถึง ทาง ซาอุฯ ไม่ได้มาเพียงเพื่อพูดคุยเล่นๆ แต่เขาเอาจริง" นายพีระพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย

Saudi Aramco บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก วิสาหกิจของซาอุฯ ที่ ‘พีระพันธุ์’ นำคณะไปสานความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้นำคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทยไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อ...

(1) กระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ 

(2) หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่สำคัญ ตามที่มีความตกลงร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยโดยกระทรวงพลังและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานเพื่ออนาคตคือ ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบันได้ริเริ่มความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hydrogen) ในไทย รวมทั้งโครงการ Downstream partnership ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ Saudi Aramco บริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสํารวจศักยภาพความร่วมมือด้านพลังงานและการลดคาร์บอน ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีร่วมกันในภูมิภาค

นอกจากนั้นแล้ว ‘รองพีร์’ ยังได้หารือกับซาอุดีอาระเบียในเรื่องของราคาน้ำมัน โดยหลังจากระบบการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของไทยเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะสามารถจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงราคามิตรภาพจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเก็บสำรองไว้ในคลัง SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50-90 วันต่อไป 

ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับคณะของ ‘รองพีร์’ เป็นอย่างดียิ่ง พร้อมทั้งจัดเครื่องบินพิเศษให้ ‘รองพีร์’ และคณะได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘Saudi Aramco’ บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เมือง Dhahran จังหวัดตะวันออก (Eastern Province) ซึ่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (90.19%) กองทุนการลงทุนมหาชน (Public Investment Fund) 4% และ Sanabil 4% 

Saudi Aramco มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Saudi Arabian Oil Group หรือเรียกสั้นๆ ว่า Aramco (ชื่อเดิมคือ Arabian-American Oil Company) เป็น บริษัทปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าของ ถือเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ในปี 2022 Saudi Aramco เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อวัดจากรายได้ โดย Saudi Aramco ถือครองน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณมากกว่า 270 พันล้านบาร์เรล (43 พันล้านลูกบาศก์เมตร) และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายวันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั้งโลก 

นอกจากนี้ Saudi Aramco ยังมีการดำเนินธุรกิจมากมายทั่วโลก ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย การสำรวจ การผลิต การกลั่น ปิโตรเคมีภัณฑ์ การจัดจำหน่าย และการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงพลังงาน โดยกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทจะถูกกำกับดูแลและตรวจสอบโดยกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียร่วมกับสภาสูงสุดด้านปิโตรเลียมและเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ก็มีบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบใน Saudi Aramco มากกว่าสภาฯ 

Saudi Aramco มีมูลค่าบริษัทกว่า 7.6 ล้านล้านริยาล (หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท) และติดอันดับ 4 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นรองเพียงบริษัทอเมริกันอย่าง Microsoft, Apple และ Nvidia ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2024 เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 90 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1933 ที่ซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญาให้สัมปทานบ่อน้ำมันกับบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ Standard Oil Company of California (SOCAL) หรือ Chevron ในปัจจุบัน 

ด้วยต้นทุนการผลิตน้ำมัน 1 บาร์เรลของ Saudi Aramco นั้นอยู่ที่ประมาณ 5-6 USD ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกที่ส่งออกน้ำมันปริมาณมหาศาล จึงแตกต่างไปจากบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดราคาจำหน่ายที่อิงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สามารถคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ด้วยการเพิ่มหรือลดอุปทานอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในปี 2023 Saudi Aramco ได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ว่าเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุดในโลก

ในปี 2022 ยอดเงินในการลงทุน Saudi Aramco อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2021 โดยประมาณการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2023 อยู่ที่ราว 4.5-5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.6-1.9 ล้านล้านบาท) รวมการลงทุนนอกประเทศแล้ว 

ด้วยความแข็งแกร่งและมั่งคั่ง รวมทั้ง Saudi Aramco เอง ก็มีความสนใจในการลงทุนนอกประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กอปรกับมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียจนกลับมาสู่สภาวะปกติ จึงทำให้ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ใช้ความพยายามโน้มน้าวและชักจูงอย่างเต็มที่เพื่อให้ Saudi Aramco ได้เพิ่มการลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในด้านพลังงานใหม่ 

โดยการหารือพูดคุยระหว่าง ‘รองพีร์’ กับเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ได้รับการสนองตอบด้วยท่าที และมิตรภาพอันดียิ่ง 

ดังนั้นการเยือนซาอุฯ ของ 'รองพีร์' ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากของไทย ทั้งในด้านความร่วมมือระหว่างกัน และด้านการลงทุนในไทยจากนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวที่ดีมากๆ สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในอนาคต

ความสัมพันธ์ 'ไทย-ซาอุดีอาระเบีย' กลับคืนปกติ-แน่นแฟ้นกว่าเก่า เพราะประเทศไทยเรา มีผู้นำชื่อ 'ลุงตู่' ที่ส่งไม้ต่อไปสู่ 'พีระพันธุ์'

ในอดีตไทยและซาอุดีอาระเบียเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง สังคม และวัฒนธรรม 

อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบีย ในปี 2532 และต่อเนื่องถึงปี 2533 ซึ่งเกิดขึ้นในไทย จากกรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย ลักลอบขโมยเพชรของสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียโดยคนงานชาวไทย และคดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ หนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียนั้น ได้นำมาซึ่งการระงับความสัมพันธ์ปกติเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี 

ผลลัพธ์บังเกิด!! ทำให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่นั้นเรื่อยมา เพียงแต่ในช่วงดังกล่าว ไทยและซาอุดีอาระเบีย ก็ยังคงมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนทางอ้อมผ่านประเทศที่สามบ้าง ทำให้ไทยยังคงมีความน่าเชื่อถือพอเหลืออยู่ในหมู่ชาวซาอุดีอาระเบียบางพวกบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม จากการออกแบบและจัดการโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียวของประเทศ และเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งต้องสร้างพันธมิตรใหม่และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากกว่าเดิม

แน่นอนว่า ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดีอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ แต่กระนั้น กว่า 30 ปี ของการระงับความสัมพันธ์ปกติระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคดังกล่าว แม้รัฐบาลไทยทุกชุดทุกสมัยตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นจะพยายามหาทางรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียให้กลับคืนมาเป็นปกติ แต่ก็ไม่ประสบผล

ฉะนั้น การเกิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 ขึ้น และซาอุดีอาระเบียก็ต้องการหาความร่วมมือกับประเทศใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว แสงแห่งการสานสัมพันธ์อย่างแท้จริงของสองประเทศจึงเกิดขึ้นแบบจริงจัง ภายใต้ 'รัฐบาลลุงตู่'

วันแห่งประวัติศาสตร์!! เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะผู้แทนระดับสูง ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นการเริ่มต้นเปิดศักราชความสัมพันธ์ปกติระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง 

‘ลุงตู่’ ได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับองค์มกุฎราชกุมาร โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินการภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระยะแรก และการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี รวมถึงได้หารือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีการยืนยันความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบต่าง ๆ ตลอดจนการประกาศการสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2030 ของซาอุดีอาระเบีย

และในปีเดียวกันนั้นเอง ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยถือเป็นการเสด็จฯ เยือนไทยครั้งแรกในระดับราชวงศ์และระดับผู้นำของซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ ‘ลุงตู่’ และการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ 

โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อีกด้วย ซึ่งการเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ของทั้งสองประเทศ

หากได้สังเกตโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ผู้นำของซาอุดีอาระเบียได้แสดงออกถึงความชื่นชมและประทับใจในการวางตัวของ ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ซึ่งมีบุคลิกท่าทางที่สุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน ตลอดจนการแสดงออกถึงความยกย่องนับถือผู้นำของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรงเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสำคัญของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียด้วย กอปรกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยเต็มรูปแบบ 

ดังนั้นสมาชิกของรัฐบาลส่วนใหญ่ จึงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทนำทั้งในรัฐบาลและราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียชุดปัจจุบัน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี

ความชื่นชมและประทับใจดังกล่าวได้ส่งผลถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดียิ่ง และถูกส่งต่อมายัง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ ‘ลุงตู่’ โดย ‘พีระพันธุ์’ ได้นำคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทยไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

โดยฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับคณะของ ‘พีระพันธุ์’ เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งได้จัดเครื่องบินพิเศษให้ ‘พีระพันธุ์’ และคณะได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘Saudi Aramco’ บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เมือง Dhahran จังหวัดตะวันออก (Eastern Province) 

ว่ากันว่า...สัมพันธ์อันดีของสองประเทศที่เกิดขึ้นได้นี้ ส่วนสำคัญมาจากการแสดงออกถึงความเป็นไทยของ ทั้ง 'ลุงตู่' และ 'ลุงพี' อันประกอบด้วย รอยยิ้ม ความสุภาพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงออกถึงความยกย่องนับถือ ให้เกียรติ และจริงใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษ อันเป็นทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของคนไทยที่สร้างความชื่นชมและประทับใจให้กับชาวต่างชาติมากมาย 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Soft Power ของประชาชนคนไทยโดยธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่สังคมไทยต้องสืบทอดและรักษาไว้ให้อยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป

‘MBS’ โพสต์แสดงความยินดีแก่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ หลังรับตำแหน่งนายกฯ ด้าน ‘นายกฯ ไทย’ ขอบคุณ พร้อมร่วมมือ ‘ซาอุฯ’ ในทุกมิติ

(21 ส.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ถึง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย (MBS) ภายหลังพระองค์ได้ทรงโพสต์แสดงความยินดีกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในโอกาสรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพระองค์ทรงหวังว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศ และประชาชนไทยพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง

ส่วนข้อความรีโพสต์ของทาง นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ระบุไว้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระกรุณามีข้อความแสดงความยินดีถึงข้าพระพุทธเจ้าในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยจากนี้ไปประเทศไทยจะเพิ่มพูนการเป็นหุ้นส่วนอันดีกับประเทศซาอุดีอาระเบียในทุกมิติ”

'ซาอุฯ' เตรียมใช้เรือไฟฟ้าเหินน้ำ Candela ใน NEOM อีกหนึ่งแพลตฟอร์มด้านขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์

(22 ส.ค.67) TNN Tech รายงานว่า ซาอุดีอาระเบีย เผยแผนการใช้เรือขนส่ง จากบริษัทผู้ผลิตเรือในสวีเดนอย่าง 'แคนเดลา' (Candela) ซึ่งพัฒนาเรือเฟอร์รี่โดยสารแบบไฮโดรฟอยล์ (Hidrofoil) พลังงานไฟฟ้ารุ่น พี-สิบสอง (P-12) ที่ได้ฉายาว่า 'เรือบินได้' เพื่อเตรียมรับส่งผู้โดยสารในเมืองอัจฉริยะ ภายใต้โครงการยักษ์ใหญ่ นีออม (NEOM)

โดยซาอุดีอาระเบีย ได้ซื้อเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า P-12 รุ่นใหม่ของบริษัทแคนเดลาจำนวน 8 ลำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเรือไฟฟ้าของแคนเดลาจะใช้ปีกใต้น้ำช่วยยกตัวเรือขึ้นจากผิวน้ำขณะแล่น เพื่อลดการลาก และช่วยให้เรือแล่นด้วยความเร็วสูงเหนือผิวน้ำ จนดูเผินๆ แล้วเหมือนกับว่า เรือกำลังบินได้ 

ตัวเรือออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 12-30 คน ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ขับเคลื่อนไฟฟ้า ซี-พอด (C-Pod) 2 ชุด และแบตเตอรี่ขนาด 63 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) จำนวน 4 ก้อน ทำความเร็วสูงสุด 30 นอต หรือราว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแล่นได้ไกลสุดที่ระยะทาง 40 ไมล์ทะเล หรือราว 74 กิโลเมตร ที่ความเร็ว 25 นอต หรือ 46 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับปีกใต้น้ำ เป็นปีกคาร์บอนไฟเบอร์ 3 ปีก ซึ่งควบคุมด้วยเซ็นเซอร์ ที่สามารถปรับมุมของปีก เพื่อให้แล่นได้อย่างราบรื่น โดยเคลมว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนน้อย เมื่อเทียบกับการใช้งานเรือเฟอร์รี่โดยสารแบบเดิมๆ เหมาะสำหรับการล่องเรือชายฝั่ง โดยจะนำไปให้บริการทั่วชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้บริษัทผู้พัฒนาเรือแคนเดลา ระบุว่า เรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า P-12 ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างระบบขนส่งทางน้ำที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ อีกทั้งการใช้ปีกแบบไฮโดรฟอยล์ ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อยกเรือขึ้นจากน้ำโดยอัตโนมัติ ทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น และทำให้เรือสามารถเดินทางเร็วขึ้นและไกลขึ้น โดยสำหรับโครงการสั่งซื้อเรือดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ในปี 2025 และต้นปี 2026 นี้

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ ชี้ ซาอุดีอาระเบีย สุดเนื้อหอม ที่แม้แต่พญาอินทรี - พญาหมี ยังมิอาจมองข้าม

(19 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ในวันที่ขายของในไทยยาก

ไปจีนหรืออื่นๆ ก็โดนกดราคาจากการแข่งขันที่สูง ไปยุโรปก็โดนกีดกันการค้า ถามหาเอกสารเต็มไปหมด ถนนทุกสายจึงมุ่งไปยังตะวันออกกลาง

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ระหว่างการรอเครื่องในยามเช้าตรู่ ในช่วงเวลาที่ทีมงานผมอยู่ระหว่างการทำตลาดในงาน Gulf foods ที่ Dubai ทำไมต้องดูไบ ดูดอกได้มั้ย ก็เพราะดูไบที่อยู่ใน UAE คือนครรัฐที่เปิดอิสระให้ต่างชาติในการค้าขายในตะวันออกกลางและเป็นเสมือน gateway ในการทำตลาดใน Gulf 6 ประเทศ ผมเคยเขียนไว้ว่า Filipino หรือปินอยด์คือชาติที่อยู่ในดูไบมากสุดกว่าล้านคน ตลาดสินค้าสำหรับปินอยด์จึงซ่อนอยู่ที่นั่น

ดูไบใหญ่เกินไป เกินหน้าเกินตาพี่ใหญ่ซาอุดี วันนี้จึงเกิด Vision 2030 ขึ้น 14 โครงการใหญ่ที่กำลังเดินหน้าซ้ายจรดขวา ตะวันตกยันตะวันออก จึงมีมูลค่ามหาศาล นครริยาดห์จึงเนื้อหอมให้ใครต่อใครเข้าไป ไทยเราเทรดเป็นเบอร์ 1 มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เงินไปตกอยู่รายใหญ่หมด ไม่ใช่ปลาใหญ่เก่ง แต่ปลาใหญ่จมูกไว และทำในสิ่งที่ปลาเล็กทำไม่ได้นะครับ..ตลาดที่นู่นเปิดทุก sector หากไม่สนใจ ไทยเราเสียตำแหน่งในสามปีนี้แน่นอน วันนี้แขกซาอุติด Series เกาหลี กินหมี่ Budok กันสนุก จีนขนคนไปลงอีก 80000 คน ไม่ใช่สแกมเมอร์นะ.. ท่านทราบมั้ยว่าวันนี้คนไทยไปที่นั่นกว่า 1 แสนคนแล้ว...

มีอะไรอีกเยอะสำหรับซาอุดี ไม่ใชแค่ริยาดห์ เจดดาห์ มะกะห์ แต่ที่นั่นคืออนาคตจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรไทย
ข้าวเหนียวมะม่วงจานละ 700 ฮะ ท่านผู้ชม ปี 2030 ซาอุจะโตแบบเท่าตัว โครงการ SEVEN หรือ Saudi Entertainment Venture กำลังขึ้น คิดดูเรามีอะไรไปแข่ง ...

เพิ่งได้ยินเสียงสายค้าปลีกไทยว่าเพิ่งลงนามขยายสองสาขาที่นั่นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน 
คิดดู ซาอุเนื้อหอมแค่ไหน 
ทำไมพญาอินทรี ไปพบพญาหมีที่นั่นก็ลองคิดดู โลกเปลี่ยนอย่างไว..

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ มอง ‘ริยาดห์’ ของซาอุฯ มาแรง ชี้ อีเว้นต์ใหญ่เพียบ ทั้ง World Expo 2030 - ฟุตบอลโลก 2034

(26 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเจาะตลาดซาอุดีอาระเบียต่อเนื่อง ในตอนที่ 2 ว่า หลังจากที่คุยกับ รศ.ดร นิสิต หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อยากเขียนเรื่องเมีย เมียที่ว่าคือ MEA หรือ Middle East Africa โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับ ซาอุฯนั้นโซนสำคัญคือโซนเมืองศาสนาทางตะวันตก ประกอบด้วยเจดดาห์ มักกะห์ เมดนะห์ โชนนี้มีศาสนสถานของมุสลิมอยู่และเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเดินทางแสวงบุญ ท่องเที่ยว อีก 4 วันจะถึงช่วงรามาฎอน แน่นหนาแน่นอนสำหรับโซนนี้ ปีก่อนมีนักเดินทางไปซาอุทางเครื่องบินถึง 128 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเยอะกว่าเมืองไทยอีก ขณะที่ซาอุฯ มีคน 35 ล้านคน 

“ผมพูดถึงโซนตะวันตกที่ติดทะเลแดง เมื่อก่อนเราส่งสินค้าไปเจดดาห์ ที่นั่นมี สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ไทยอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้หาเรือไปเส้นทางนี้ลำบากขึ้น เพราะการไปทะเลแดงต้องผ่านโซมาเลียที่มีโจรสลัด ดังนั้นจึงมีสายเรือน้อยและไม่มีเรื่องประกันภัย ถ้ามีเบี้ยก็จะแพง ในขณะการค้าขายถูกเปลี่ยนผ่านไปโซนตะวันออกที่ Ad Damman ตรงนั้นเลยดูไบ ใกล้กาตาร์ อยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่โซนตะวันออกจึงยืดหยุ่นมากกว่า และมีต่างชาติเริ่มไปที่นั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ดามมานใกล้ริยาดห์ครับ ห่างกันโดยขับรถประมาณ 4 ชั่วโมง ในขณะที่การขับรถจากริยาดห์ไปเจดดาห์ใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงทีเดียว”

สรุปสั้น ๆ ทำการค้า ไปทางตะวันออกน่าจะรุ่งกว่าในตอนนี้ โครงการยักษ์ ทั้งหลายเกิดที่ตะวันออกนี่หละ ไล่เรียง Timeline ดูครับ งานสำคัญๆ จะเกิดที่ซาอุตั้งแต่ Olympic e-sport ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ต่อด้วย World Expo 2030 ที่ริยาดห์ และต่อด้วยฟุตบอลโลก 2034 งานดึง tourist ไปที่นั่นนี่ชัดเจน

รัฐบาลริยาดห์ บอกว่า ธุรกิจตนจะพึ่งพาพลังงานอย่างเดียวไม่ได้ เลยพยายามกระจายการหารายได้ออกจากพลังงาน และท่องเที่ยวนี่แหละคือคำตอบ คนซาอุ โดยเฉพาะสตรีได้สิทธิเสรีมากขึ้น จำนวนผู้หญิงที่รัฐตั้งเป้าว่าปี 2030 จะมีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทการทำงานให้ได้ถึง 30% ปรากฏว่าวันนี้สิ้นปี 2024 ผู้หญิงออกมาทำงานแล้ว 35% ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจภาคท่องเทียวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายังต้องการคนไทยไปทำภาค services ที่นั่นมากครับ เราปั้นเด็กๆ จบมหาวิทยาลัยแล้วต้องชี้ช่องให้เด็กๆ ด้วย ไม่งั้นตัวเลขคนตกงาน 4 แสนคนในเมืองไทย ลดลงยากครับ ถ้ารัฐมัวแต่เชียร์แขกไปเก็บผลไม้ที่หลายประเทศ คนของเราจะขาดโอกาสใน Tourist sector และ Entertainment ดันให้ถูกตัว คั่วให้ถูกคนครับ ช่างเชื่อมที่ต้องการมากในอิสราเอล ถูกนำไปซ่อมรถถังทั้งนั้น ท้ายสุดเรื่องความปลอดภัยก็ดูแลยาก

‘เซเลนสกี’ เยือนซาอุฯ เข้าเฝ้าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หารือความร่วมมือทวิภาคีท่ามกลางสงครามยูเครน-รัสเซีย

(11 มี.ค. 68) สื่อซาอุดีอาระเบียรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้พบปะกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่พระราชวังอัล-ซาลาม ในเมืองเจดดาห์ เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (10 มี.ค.) โดยมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับทวิภาคีและระดับนานาชาติ

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังคงรักษาบทบาทเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจในระดับโลก

สำนักข่าวของทางการซาอุดีอาระเบียระบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้หารือถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนยูเครนในด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของสงคราม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตสำหรับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่

แหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านพลังงาน และการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดยได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางสันติภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการทางการทูตมาโดยตลอด

การพบปะครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของทั้งสองประเทศในการกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในหลายมิติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของหลายประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top