‘โอลิมปิคแห่งประเทศไทย’ รับผิด!! สื่อสารเรื่องชุดพิธีการผิดพลาด เคาะ!! ให้นักกีฬาสวมชุดจากแกรนด์สปอร์ต ร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก 2024
หลังจากที่เกิดกระแสเกี่ยวกับชุดพิธีการของนักกีฬา ทีมชาติไทย ที่เดินทางไปแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะงานออกแบบที่ถูกโลกโซเชียล วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ล่าสุด (19 ก.ค. 67) ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย นัดแถลงข่าว
จากการที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับภาพนักกีฬาสวมชุดไทยพระราชทาน ผมพบว่าความเข้าใจผิดในวงกว้าง จึงขอนุญาตชี้แจง ข้อเท็จจริงกี่ยวกับประเด็นต่างๆดังกล่าว
ในวันนี้ผมในฐานะตัวแทน คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ต้อง
ขอขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็น และน้อมรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่
จะออกความเห็นร่วมกันอย่างเท่าเทียม ภายใต้ความสุภาพและเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกัน
และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้สำหรับความเข้าใจผิด และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากทีมงานไม่ว่าจะใน
ส่วนไหน เนื่องด้วยที่ผ่านมาทางโอลิมปิค มิได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าชุดไหนใช้สำหรับงานช่วงใดใน
โอลิมปิคครั้งนี้
เนื่องจากทางคณะกรรมการโอลิมปิค และทีมงาน มีความตั้งใจในการเผยแพร่ ศิลปะ วัฒนธรรม ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยเรา ผ่านวัฒนธรรมผ้า และสิ่งทอไทย จึงได้มอบหมายให้ทีมออกแบบของแต่ละแบรนด์ ทำมาเสนอ ซึ่งก็จะมีในส่วนของ ชุดกีฬา แจ๊คเก็ต
ชุดไทยพระราชทาน รองเท้า กระเป๋า ต่าง ๆ ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิค เป็นผู้คัดเลือกออกแบบตัดเย็บเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ ทรงสมัย ทางคณะกรรมการโอลิมปิค ดำเนินการคัดเลือกผ้าเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด การออกแบบตัดเย็บ เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการโอลิมปิค ทั้งหมดไม่มีหน่วยงานใด ๆ เกี่ยวข้องทั้งสิ้นครับ จากเหตุการณ์ทั้งหมด ทางคณะกรรมการโอลิมปิค ขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ ในส่วนของชุดไทยพระราชทานสีฟ้าที่ปรากฏนั้น ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้นักกีฬาใช้สวมใส่ ในวาระโอกาส งานพิธี ที่เป็นทางการ
ส่วนชุดที่จะใช้ในพิธีเปิด จะเสื้อแจ็กเก็ตสีน้ำเงินจากแกรนด์สปอร์ต ในการประชุมผมและคณะกรรมการได้ย้ำคอนเซปต์กับทางทีมผู้ออกแบบและตัดเย็บ ว่าขอให้เป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด เข้ากับสภาพอากาศ แต่ต้องแฝงด้วยเรื่องราวและอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีความทันสมัยและเป็นสากล ซึ่งมองว่าทางแกรนด์สปอร์ตทำออกมาได้ดี
ในตอนแรก ผมยังคิดอยากนำเสื้อลายช้างที่เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว ๆ ต่างชาติ ให้ทัพนักกีฬาสวมใส่ ขึ้นเรือ เพราะเห็นว่าเนื้อผ้าใส่สบายมีความพลิ้วไหวดี แต่ก็กังวลจะเกิดประเด็นว่าไม่เหมาะสมดูสบาย ๆ ไป จึงได้คิดใหม่ ทำใหม่อย่างระมัดระวังมาโดยตลอด
สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่านร่วมมือกันแสดงพลังความรัก ความสามัคคี ที่มีในคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมมือกันรักษา สืบสาน ขับเคลื่อนศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ต่อยอดสิ่งดี ๆ ประสบการณ์ดี ๆ ของคนรุ่นก่อน ๆ ประเทศไทยประกอบไปด้วยประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ ทุกเพศทุกวัย และทรัพยากรพร้อมในทุกอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ กำลัง ความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ก็จะสามารถช่วยกันผลักดันนำพา Soft Power อันดีงาม คงความเป็นอัตลักษณ์ไทย มีความเป็นสากล ทันสมัย ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกได้
ที่ผ่านมามองว่าการแต่งกายที่ออกแบบในโอลิมปิกเกมส์ระดับนานาชาติ ตั้งแต่ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ เราใช้สูทธรรมดา สากล ปีนี้เป็นปีที่เรามองว่าเป็นสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยจริง ๆ หลายประเทศใส่ชุดพื้นเมืองต่าง ๆ เยอะแยะไป สามารถมองต่างมุมได้ ยอมรับว่าบางครั้งอาจจะมองในภาพที่สวยหรูเกินไป หรือ มองในภาพที่ผิดไป ก็ต้องขอรับผิดชอบในสิ่งนี้ด้วย
“สิ่งที่เราได้พยายามทำ ทำเพื่อประเทศ และชื่อเสียงประเทศเท่านั้นไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่เคยมีผลประโยชน์ตอบแทน มีแต่เพียงสนับสนุนกีฬาเท่านั้น ที่เราต้องการแสดงออกว่าประเทศไทยไม่ใช้ประเทศที่ไม่มีความสามารถ เราเป็นหนึ่งในโลกที่สามารถแข่งขันกับใครก็ได้ เราผ่านควอลิฟายถึง 51 คน จาก 17 กีฬา อยากให้ร่วมใจให้กำลังใจกับนักกีฬาที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกดีกว่าที่จะมานั่งมองถึงปัญหานี้”
“ในส่วนของชุดดังกล่าว ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ มีงานพิธีอีกหลายงานระหว่าง 26 ก.ค.-11 ส.ค. เราต้องมีชุดต่าง ๆ ที่ใส่ในงานเพื่อความเหมาะสมต่าง ๆ รวมถึงพิธีปิด โอลิมปิกเกมส์ 11 ส.ค. จะให้ ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาเป็นผู้พิจารณา”
“พูดตรง ๆ ผมรับผิดชอบเรื่องนี้ เห็นว่าให้นโยบายไปกับ ธนา ไชยประสิทธิ์ ชุดที่ใส่ไปก็ควรแสดงอัตลักษณ์เพราะเป็นการแข่งขันที่ 4 ปีมีครั้ง แล้วออกแบบมาเป็นชุดพระราชทานเท่านั้นเอง และคณะทำงาน เห็นชอบ ร่วมกับ รวมทั้งสีต่าง ๆ ที่เลือกกัน เห็นว่าควรจะใส่ในพิธีเปิด แต่มีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นเรื่อง สถานการณ์ต่าง ๆ อากาศร้อน จึงจะเปลี่ยนไปใช้ชุดแจ็กเก็ตนักกีฬา ต่อข้อถามเรื่องกระบวนการของเสื้อผ้าชุดพิธีการนั้น ทางเราเห็นชอบในด้านการออกแบบ ส่วนตั้งแต่กระบวนการตัดเย็บนั้น เป็นทรงสมัย ที่จัดการทั้งหมดกระทั่งส่งถึงมือนักกีฬา แต่ส่วนตัวผมดูแล้ว ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่มีเอกลักษณ์ มองต่างมุม ไม่ใช่แค่ใส่แต่สูทอย่างเดียว
ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องของทรงของชุดนักกีฬา ในเรื่องของการตัดเย็บที่ไม่เข้ากับรูปร่างของนักกีฬานั้น ในส่วนนี้ ทรงสมัยรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการตัดเย็บ หนหน้าจะพิจารณาว่าควรต้องทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหา เพราะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย “พร้อมเปิดกว้างใช้ เอไอ เจเนเรตก็ได้ หรือถ้ามีร้านที่ตัดสวยก็แนะนำมาได้
ส่วนชุดที่ปรากฏนั้น ในส่วนของ ‘ปอป้อ’ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันทีมชาติไทยนั้น เราได้สอบถามไปยัง ทรงสมัย ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะชุดพระราชทานควรจะเข้ารูป แต่ มาทราบว่า ทรัพย์สิรี บอกให้เอาแขนยาว ตัวยาว มันก็เลยออกมาแบบนี้”
