Monday, 21 April 2025
จีน

จีนเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากยาน ‘ฉางเอ๋อ-6’ ด้านไกลของดวงจันทร์น้ำน้อยกว่าฝั่งใกล้ บ่งชี้ถึงความแห้งแล้ง

(10 เม.ย. 68) การค้นพบล่าสุดจากตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีนนำกลับมายังโลก เผยให้เห็นว่าชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในบริเวณด้านไกล มีน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับด้านใกล้ ซึ่งบ่งชี้ว่าซีกด้านไกลของดวงจันทร์ที่มักหันออกจากโลกนั้นมีแนวโน้มแห้งแล้งกว่ามาก

การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 9 เมษายน พบว่าตัวอย่างจากชั้นหินในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์มีน้ำเพียง 2 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งต่ำที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ ขณะที่ตัวอย่างจากด้านใกล้พบว่ามีปริมาณน้ำสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อกรัม

หูเซิน ศาสตราจารย์จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ กล่าวว่าความเข้มข้นของน้ำในตัวอย่างล่าสุดนี้อยู่ที่ 1-1.5 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งแม้แต่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดบนโลกยังมีน้ำอยู่ถึง 2,000 ส่วนต่อล้านส่วน

โดยในส่วนของการศึกษานี้ ยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ได้ลงจอดที่แอ่งขั้วใต้-เอตเคนของดวงจันทร์ และนำตัวอย่างหินมาจากด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อน

ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ รวมถึงความแตกต่างของด้านใกล้และด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งถูกพิจารณาว่ามีองค์ประกอบทางธรณีวิทยาและเคมีที่แตกต่างกันมาอย่างยาวนาน

แผนการสำรวจในอนาคตของจีน จีนได้ตั้งเป้าหมายสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์และการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2030 โดยการศึกษาเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว

ผลการศึกษานี้ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการศึกษาดวงจันทร์ แต่ยังมีนัยสำคัญในการช่วยผลักดันภารกิจการสำรวจในอนาคต และการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างฐานที่อยู่อาศัยมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว

จีนตอบโต้ศึกการค้า ประกาศลดนำเข้าหนังฮอลลีวูด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นการลงโทษที่แยบยล เจ็บตัวน้อยแต่ทำให้วอชิงตันต้องคิดหนัก

(11 เม.ย. 68) จีนประกาศแผนลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ยังคงร้อนแรงและไม่มีวี่แววผ่อนคลาย

โฆษกของ China Film Administration (CFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการอนุมัติฉายภาพยนตร์ในประเทศจีน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับสมดุลทางการตลาด” และ “สะท้อนความนิยมของผู้ชมชาวจีน” โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน รวมถึงภาพยนตร์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสนใจของผู้บริโภคในจีน

“เราจะยังคงสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจากทั่วโลก และเปิดรับเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภาพยนตร์จีน ซึ่งกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว” โฆษก CFA กล่าว

คริส เฟนตัน ผู้เขียนหนังสือ Feeding the Dragon: Inside the Trillion Dollar Dilemma Facing Hollywood, the NBA, and American Business กล่าวว่า การลดจำนวนภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ถือเป็น “วิธีที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงออกถึงการตอบโต้ โดยแทบจะไม่มีผลเสียใดๆ ต่อจีนเลย”

“การลงโทษฮอลลีวูดอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของปักกิ่ง ซึ่งวอชิงตันจะต้องสังเกตเห็นอย่างแน่นอน” เฟนตันกล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ออกมาปกป้องฮอลลีวูด โดยตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับข้อจำกัดใหม่ของจีนว่า “ผมคิดว่าผมเคยได้ยินเรื่องที่แย่กว่านี้”

แม้จะมีข้อจำกัดใหม่ แต่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมบันเทิงระบุว่า ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องที่มีฐานแฟนคลับในจีนยังสามารถเข้าฉายได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 'Thunderbolts' ของ Marvel Studios ที่จะเข้าฉายในจีน วันที่ 30 เมษายน 2568

บริษัท IMAX ซึ่งมีธุรกิจทั้งในจีนและต่างประเทศ ระบุว่า ข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่แข็งแกร่งสำหรับ IMAX ในจีน โดยไตรมาสแรกของปีนี้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

เซธ เชเฟอร์ นักวิเคราะห์จาก S&P Global Market Intelligence Kagan ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีข้อจำกัด แต่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ได้เข้าฉายในจีนมีเพียงราว 25% เท่านั้น และเปอร์เซ็นต์นี้ยังคงลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศจีนเอง

“แม้จะได้เข้าฉายในจีน รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจากจีนก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้รวมทั่วโลก” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์ 'Captain America: Brave New World' ซึ่งออกฉายในเดือนกุมภาพันธ์ และทำรายได้ในจีนเพียง 14.4 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมทั่วโลกที่ 413 ล้านดอลลาร์

ในอดีต ภาพยนตร์อย่าง 'ไททานิค' และ 'อวตาร' ประสบความสำเร็จมหาศาลในจีน ทำให้ดาราอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และผู้กำกับอย่าง เจมส์ คาเมรอน เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนภาพยนตร์จีนทุกวัย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2020 ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองสามารถครองสัดส่วนตลาดถึง 80% ของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ในปีก่อนหน้า

ในรายชื่อภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของจีน มีเพียงเรื่องเดียวจากต่างประเทศที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก นั่นคือ 'Avengers: Endgame' ที่ทำรายได้กว่า 4.25 พันล้านหยวน หรือราว 579.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพยนตร์ที่เหลือล้วนเป็นผลงานจากจีน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ที่กำลังมุ่งสู่การกระจายตัวมากขึ้น และลดการพึ่งพา 'อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ' ลงอย่างต่อเนื่อง

‘สีจิ้นผิง’ เตรียมเยือน ‘เวียดนาม-มาเลเซีย-กัมพูชา’ สัปดาห์หน้า หวังขยายความร่วมมือท่ามกลางสงครามการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างพันธมิตรในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

การเยือนเวียดนามจะมีขึ้นในวันที่ 14-15 เมษายน ตามด้วยการเยือนมาเลเซียและกัมพูชาในช่วงวันที่ 15-18 เมษายน ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า นี่คือการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนให้ต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับภาษีนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 46%, 24% และ 49% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศก็เริ่มตกอยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบนำชิป, ความร่วมมือทางทหาร และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ เผยไต้หวันอยู่ในกลุ่มเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ล็อตแรก ภาคธุรกิจชู ‘เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี’ หวังขยายตลาดในอเมริกา

(11 เม.ย. 68) ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน เปิดเผยระหว่างการพบปะผู้นำภาคธุรกิจว่า ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ใน 'กลุ่มแรก' ที่จะได้เปิดเจรจาด้านมาตรการภาษีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

“เราอยู่ในกลุ่มเจรจากลุ่มแรก และรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี” ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าการหารือครั้งนี้เป็นโอกาสทองสำหรับไต้หวันในการสร้างความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งรวมถึงไต้หวันที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 32%

ขณะเดียวกัน เดวิด ชวง (David Chuang) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไต้หวัน (TAMI) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรของไต้หวันจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการ 'เปลี่ยนประเทศต้นทาง' ผ่านประเทศที่สาม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสหรัฐ

ชวงยังเสริมอีกว่า ซัพพลายเออร์ชาวไต้หวันยินดีที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในอเมริกาในการผลิตเครื่องมือเครื่องจักร โดยระบุว่า “เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี”

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่ามีมากกว่า 70 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเปิดการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเวทีการค้าระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ลั่น! จีนไม่หวั่นสงครามการค้า ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร และจะไม่ยอมถอยท่ามกลางแรงกดดัน

“จีนไม่เคยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาประเทศตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราฝ่าฟันทุกอย่างด้วยความพยายามของตัวเอง” สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ หรือ 'กะพริบตา' ให้กับความไม่ยุติธรรม

แม้สงครามการค้าจะยังร้อนแรง แต่ผู้นำจีนยืนยันว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเอง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก

สำหรับ คำกล่าวของประธานาธิบดีจีนมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการภาษีนำเข้าและข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง

‘ราคาทอง’ พุ่ง!! ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนยุคเปลี่ยนผ่านของ ‘ระบบดอลลาร์สหรัฐฯ’ หลายประเทศ หันไปถือทอง มองเป็น ‘สกุลเงินที่แท้จริง’ ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

(12 เม.ย. 68) สำนักข่าว Sputnik International รายงานว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงผลจากความผันผวนระยะสั้นของตลาด แต่เป็นสัญญาณสะท้อนความสั่นคลอนของระเบียบการเงินโลกที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง

รายงานวิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตร การตั้งกำแพงภาษี และความปั่นป่วนในยุคทรัมป์ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงของเงินดอลลาร์ พร้อมทั้งหันไปถือครอง ทองคำ ซึ่งถูกยกให้เป็น 'สกุลเงินที่แท้จริง' ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

Claudio Grass นักเศรษฐศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิกว่า หลังสงครามเย็น โลกเคยรวมศูนย์อยู่กับระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ และดอลลาร์ได้รับอานิสงส์อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระแส 'แยกตัวออก' ไปสู่ความเป็นระเบียบหลายขั้ว (multipolarity) ที่ลดบทบาทของดอลลาร์ลง

Grass ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ 'ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบ'  (system transition) ซึ่งจะเต็มไปด้วยเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคง และความสูญเสียทางการเงิน พร้อมเสนอแนวคิดว่า “ประชาชนควรเป็นธนาคารกลางของตนเอง ด้วยการถือทองคำจริงและเงินแท่งไว้นอกระบบ”

ขณะเดียวกัน Tom Luongo นักวิเคราะห์การเงินอิสระกล่าวว่า ความผันผวนของโลกในขณะนี้เป็นสาเหตุให้คนหันกลับมามอง 'ทองคำ' ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากระบบที่กำลังเปลี่ยนโฉม

ทั้งนี้ สปุตนิกยังรายงานเสริมว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรายย่อยจำนวนมาก ต่างเร่งสะสมทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX risk) ในช่วงที่ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินตะวันตกเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า เราอาจอยู่ในช่วงต้นของ 'สงครามการเงิน' ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ยังรวมถึงความตึงเครียดกับยุโรป ที่พยายามตอบโต้การผลักดันนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการลดการพึ่งพาระบบดอลลาร์ของทรัมป์

รายงานของสปุตนิกสรุปว่า ราคาทองที่พุ่งสูงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธดอลลาร์โดยตรง แต่เป็นการ 'ป้องกันตัว' จากความวุ่นวายของระบบที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ระเบียบโลกใหม่!! อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘จีน’ อาจเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หาก ‘อเมริกา’ ยังเล่นบท ‘นักเลงภาษี’ อาจต้องตกเป็นรอง ในเวทีโลก

(12 เม.ย. 68) ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สนใจแล้วว่าโลกหมุนทางไหน เพราะตอนนี้เขาหยิบค้อนภาษีมาทุบใส่เกือบทุกประเทศแบบไม่แยกแยะ จีนโดนหนักสุดถึง 145% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจึงทวีความดุเดือดแบบไม่มีเบรก

ผลคืออะไร? ระเบียบโลกที่เราเคยรู้จักมาตลอด 80 ปีเริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงว่ามัน "ตายไปแล้ว" และสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น... มีจีนเป็นศูนย์กลาง

Cameron Johnson ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ถ้าคุณยังไม่กระโดดขึ้นรถไฟสายเอเชีย ก็เตรียมตัวถูกทิ้งไว้กลางทางได้เลย”

จีนในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘โรงงานโลก’ แต่กำลังกลายเป็นคู่ค้าที่ประเทศต่าง ๆ หันไปหาด้วยความจำเป็น (หรือสิ้นหวัง) โดยเฉพาะในวันที่อเมริกากลายเป็น ‘พ่อค้าเร่’ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

แผนยุทธศาสตร์สายพานและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนก็เหมือนกล่องเครื่องมือที่จีนหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และเงินทุนที่หลายประเทศใฝ่ฝัน ขณะที่อเมริกายืนกอดอกบอกให้ใครต่อใคร "มาลงทุนในบ้านเราแทน"

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับกลายเป็นโอกาสทองให้จีนได้ขยับบทบาท ยิ่งเมื่อประเทศในเอเชียเริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพิ่งจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ฝั่งยุโรปเองแม้จะยังไม่ถึงขั้น ‘หวานชื่น’ กับจีน แต่ก็เริ่มขยับเข้าใกล้มากขึ้น เมื่อประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีจีนจับสายตรงคุยกัน หารือความร่วมมือ และพยายามประคองความสัมพันธ์ให้ ‘มั่นคงต่อเนื่อง‘

ส่วนแคนาดา? เลือกแนวทาง ‘เสี่ยงต่ำ’ รอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แบบไม่กล้าเดินเข้าหา แต่ก็ไม่อาจเมินจีนได้เสียทีเดียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์คบอกว่า “จะมองข้ามจีนในโลกยุคนี้ ถือว่า...พลาด”

สรุป: โลกยุคใหม่อาจไม่มีผู้นำคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่หลายขั้วอำนาจลุกขึ้นมาเขียนกติกาใหม่ และถ้าอเมริกายังเล่นบทนักเลงภาษีต่อไป อาจจะต้องทำใจกับบทบาทพระรองในฉากสุดท้ายของเวทีโลกใบนี้

‘ดร.กอบศักดิ์’ เผย!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ทำสงครามการค้า ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อม ชี้!! ไทยมีโอกาสเข้าไปแทนที่ เปิดตลาดใหม่ ระบายสินค้า เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่คุยกัน

(12 เม.ย. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ในช่วงต่อไป ถ้าไม่มีใครยอมใคร

สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ และสินค้าสหรัฐที่ส่งไปจีน คงต้องหาตลาดใหม่ให้ตนเอง
สินค้าเหล่านี้ กำลังจะมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ

เราคงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไทย
สินค้าเหล่านี้ประกอบด้วย 

จากจีน - Smartphones, Laptops, Batteries, Toys, Telecom Equipment

จากสหรัฐ - Soybeans, Aircraft and engines, IC, Pharmaceuticals, Petroleum

มูลค่าไม่น้อย โดยเฉพาะสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และสินค้าจากสหรัฐฯ 143.5 พันล้าน สรอ. ต่อปี 

ประเทศใกล้ๆ อย่างไทย น่าจะเป็นเป้าหมายในการระบายสินค้าที่ดี

ส่วนผู้ส่งออก เมื่อเขาไม่ค้าขายกัน ไม่คุยกัน 

รายชื่อสินค้าเหล่านี้ เป็นเป้าหมายให้เราเข้าไปแทนที่ครับ

อย่าลืมว่า "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

‘Wicrosoft’ บริษัทร่วมทุน ‘Microsoft’ ปลดพนักงานในจีน 2,000 คน สะท้อนความรุนแรง!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่สั่นสะเทือน วงการไอที

เมื่อวันที่ (7 เม.ย.68) ที่ผ่านมา มีภาพหน้าจอมือถือที่เป็นอีเมลภายในของบริษัทเวยช่วงหร่วนเจี้ยน (Wicresoft,微创软件) บริษัทร่วมทุนกับไมโครซอฟท์ (Wicrosoft) หลุดออกมาทั่วโซเชียล โดยในอีเมลระบุว่า “ไมโครซอฟท์จะปรับแผนกลยุทธ์ทั่วโลก และจะยุติการดำเนินงานในจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025” ซึ่งหมายความว่าโครงการที่เกี่ยวข้องของไมโครซอฟท์จะถูกยุติลงพร้อมกัน แม้ว่าอีเมลดังกล่าวจะไม่ใช่ประกาศอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์ แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการไอทีในจีน

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกที่ไมโครซอฟท์ ลงทุนในจีน ปัจจุบันประธานบริษัทคือถังจวิ้น ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานไมโครซอฟต์จีน ซึ่งบริษัทฯ ถูกมองว่าเป็นบริษัทเอาต์ซอร์ส หรือ องค์กรภายนอกหลักของไมโครซอฟท์ในจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีศูนย์ให้บริการ 36 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทั้งจีน สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 2,500 ราย และมีพนักงานกว่า 10,000 คน

ช่วงบ่ายของวันที่ 7 เม.ย. สื่อจีนรายงานว่าพนักงานหลายรายกล่าวว่าการเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานในสำนักงานเซี่ยงไฮ้และอู๋ซีราว 2,000 คน พนักงานบางคนกล่าวว่าตอนเช้ายังสแกนบัตรเข้างานอยู่เลย ตอนเที่ยงก็โดนเลิกจ้างแล้ว ขณะที่บางคนบอกว่าไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างกะทันหัน และมีพนักงานจำนวนมากยกกล่องเอกสารออกมาจากบริษัทฯ

การเลิกจ้างในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งผู้บริหารหมายเลข 14117 ของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ “ประเทศที่ถูกจับตามอง” เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนของชาวอเมริกัน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านกฎระเบียบข้อมูลในระดับโลก หลายคนจึงสงสัยว่าบริการสนับสนุนด้านเทคนิคของสินค้าไมโครซอฟท์จะยังคงให้บริการต่ออย่างไร 

พนักงานยกกล่องออกจากบริษัทฯ ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร N+1

สื่อจีนรายงานว่ามีพนักงานจำนวนมากทยอยยกกล่องเอกสารออกจากอาคาร และในจำนวนนี้มีพนักงานชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ตรงข้ามอาคารคือสำนักงานของไมโครซอฟต์จีน สาขาหมิ่นซิ๋ง พนักงานไมโครซอฟท์คนหนึ่งยังเดินข้ามถนนมาดูสถานการณ์ พร้อมบอกว่าขณะนี้ภายในสำนักงานไมโครซอฟท์ยังไม่มีข่าวการเลิกจ้างลักษณะเดียวกันนี้

พนักงานนามสมมุติ 'หลี่เต๋อ' เปิดเผยว่าเขาเพิ่งสแกนบัตรเข้าออฟฟิศในตอนเช้า แต่กลับได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างทันที โดยทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิคของไมโครซอฟท์ที่เขาอยู่มีพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกเลิกจ้าง อีเมลภายในระบุว่าบริษัทจะจัดทำแผนการเยียวยาและเสนอการโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศให้พนักงานในสายงานเดิมของไมโครซอฟท์ก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม พนักงานเผยว่าขั้นตอนภายในสับสนวุ่นวาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร “N+1” เท่านั้น และมีเพียงส่วนน้อยที่อาจได้ย้ายไปต่างประเทศ

ไมโครซอฟท์จะยุติธุรกิจในจีนหรือไม่

ข่าวลือที่ว่า "ไมโครซอฟท์จะยุติการดำเนินงานในจีนตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025" ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมระบุว่ากิจการของ Wicresoft ควรให้ทางบริษัทเป็นผู้ชี้แจงโดยตรง 

หลิวหรุน อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ออกมายืนยันว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้จะยุติการดำเนินงานหรือหยุดโครงการเอาต์ซอร์สในจีน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการย้ายงานเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ใช้ในต่างประเทศไปยังภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังไมโครซอฟท์ได้ปรับลดขนาดธุรกิจในจีนหลายครั้ง สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

แม้ไมโครซอฟท์จะปฏิเสธการเลิกจ้างครั้งใหญ่ แต่การที่ทีมสนับสนุนของ Wicresoft ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,000 คนถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้ผู้ใช้งานหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ Wicresoft ถือเป็นพันธมิตรเอาต์ซอร์สรายใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านเทคนิคทั้งก่อนและหลังการขาย 

พนักงานกังวลหางานใหม่ไม่ทัน

ในมุมมองของจ้าวหู ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทไมโครซอฟท์ในจีน กล่าวว่าแม้ว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจระหว่างไมโครซอฟท์กับบริษัทเอาต์ซอร์ส แต่ในความเป็นจริงแล้วสะท้อนถึงแนวโน้มเชิงลึกยิ่งกว่า นั่นคือการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรง และการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดขึ้น 

ทั้งยังส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเริ่มทบทวนกลยุทธ์การจ้างงานและกลไกการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านข้อมูลในจีน การเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คนในครั้งเดียวถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยในแวดวงอุตสาหกรรม และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามไปถึงพนักงานประจำของไมโครซอฟท์ หรือแม้แต่กระทบต่อแนวทางด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างชาติในจีนโดยรวม

สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ความท้าทายที่ต้องเผชิญคือ ตลาดแรงงานจีนในระยะสั้นไม่สามารถรองรับบุคลากรสายสนับสนุนด้านเทคนิคจำนวนมากเช่นนี้ได้ จ้าวหูกล่าวว่านี่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนเส้นทางอาชีพ เสริมทักษะเชิงลึก และเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและพื้นที่การทำงาน

จีนแต่งตั้ง ‘หลี่ เฉิงกัง’ อดีตทูตฯ WTO ตัวแทนเจรจาการค้าคนใหม่ แทนที่ ‘หวัง โซ่วเหวิน’ รับมือศึกภาษีเดือดกับสหรัฐฯ

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนประกาศแต่งตั้ง นายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) วัย 58 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่แทนที่ นายหวัง โซ่วเหวิน (Wang Shouwen) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนตัวผู้เจรจาเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจกำลังเผชิญภาวะ “สงครามภาษี” ครั้งใหม่ โดยรัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 125%

หลี่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับการมองว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการคลี่คลายความตึงเครียด และอาจนำพาการเจรจาให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกมองว่ามาอย่างกะทันหัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้กะทันหันมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน” 

ผู้เชี่ยวชาญรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า นายหวัง โซ่วเหวิน มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ชุดแรก และการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์จีนของ Conference Board วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง... และเริ่มการเจรจาในที่สุด”

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้มีนัยทางการเมืองมากนัก โดยมองว่า “อาจเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งแบบปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเหอ หลี่เฟิง ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระดับสูงของจีน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ด้าน ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐฯ “พร้อมเจรจาข้อตกลงการค้า” กับจีน แต่ต้องการให้ 'ปักกิ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน' ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top