Tuesday, 22 April 2025
จอร์แดน

'จอร์แดน' เลือกข้าง!! ช่วยอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่าน สกัดกั้น 'ขีปนาวุธ-โดรน' จากอิหร่านที่ผ่านน่านฟ้าจอร์แดน

ถือเป็นการเปิดหน้าอย่างชัดเจน เมื่อจอร์แดนได้ช่วยเหลืออิสราเอลระหว่างการโจมตีของอิหร่าน ด้วยการสกัดกั้นขีปนาวุธทุกลูกและโดรนทุกลำจากอิหร่านที่มุ่งสู่อิสราเอลผ่านน่านฟ้าของจอร์แดน 

โดยรัฐบาลจอร์แดนภายใต้การปกครองของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 กล่าวว่า “เราจะสกัดกั้นโดรนหรือขีปนาวุธทุกตัวที่ละเมิดน่านฟ้าของจอร์แดนเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายใด ๆ สิ่งใดก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อจอร์แดนและความปลอดภัยของชาวจอร์แดน เราจะเผชิญหน้ากับมันด้วยความสามารถและทรัพยากรทั้งหมดของเรา”

นอกจากนี้ จอร์แดน ยังเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินรบของอิสราเอลและสหรัฐฯ ปฏิบัติการอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศอิสราเอลนายหนึ่งกล่าวว่า จอร์แดนอนุญาตให้เครื่องบินรบของอิสราเอลบินในน่านฟ้าของตนเพื่อยิงสกัดขีปนาวุธและโดรนของอิหร่านให้ตก โดยกองทัพจอร์แดนและอิสราเอลได้รับการประสานงานจากกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลและจอร์แดนทำการรบเคียงข้างกัน 

ทว่า การตัดสินพระทัยของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ในครั้งนี้ น่าจะทำให้ประชาชนชาวจอร์แดนที่เป็นมุสลิมกว่า 95% ของประชากรทั้งประเทศราว 10 ล้านคนไม่พอใจอย่างแน่นอน

ประธานวุฒิสภาจอร์แดน จวกประเทศตะวันตก ปฏิบัติสองมาตรฐานในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพ

(26 มี.ค. 68) สำนักข่าวอาหรับนิวส์รายงานว่า นายไฟซอล อัลฟาเยส (Faisal Al-Fayez) ประธานวุฒิสภาของจอร์แดน ได้กล่าวระหว่างการประชุมกับสภายุโรปที่จัดขึ้น ณ เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ว่า “ประเทศตะวันตกมีการปฏิบัติสองมาตรฐานในเรื่องของประชาธิปไตยและเสรีภาพของมวลชน”

อัลฟาเยสเน้นย้ำว่า “คุณค่าแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงจังและความเสมอภาคในเรื่องสิทธิมนุษยชน” พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวทางของบางประเทศตะวันตกที่เขามองว่ามีการใช้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างไม่สม่ำเสมอในบริบทที่แตกต่างกัน

“ประชาชนชาวปาเลสไตน์อดทนต่อความทุกข์ยากมากว่า 80 ปี แต่เพียงเพราะเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 พวกเขากลับถูกซ้ำเติม ถูกกำหนดให้เป็นเป้าแห่งความโหดร้ายของการรุกรานของกองทัพอิสราเอล ทั้งในเขตเวสต์แบงก์และในฉนวนกาซา” เขากล่าวว่า “ประชาชนหลายหมื่นคนต้องพลีชีพ ต้องบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ๆ ผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียชีวิตจากการรุกรานในครั้งนี้” และเรียกร้องให้โลกหันมาสนใจและดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงต่อประชาชนเหล่านี้

นอกจากนี้ นายอัลฟาเยสยังได้กล่าวถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการบิดเบือนข้อมูลและความจริง ซึ่งได้สร้างความเกลียดชังและการแบ่งแยกระหว่างคนในสังคม โดยเน้นว่า “การบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวทำให้ความเป็นประชาธิปไตยถูกท้าทายและถูกละเลย”

อัลฟาเยสทิ้งท้ายเรียกร้องให้ทุกประเทศมี “ความมุ่งมั่นในการช่วยปกป้ององค์กรและสถาบันระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ธำรงความยุติธรรม” โดยเน้นว่าไม่ควรแทรกแซงการทำงานขององค์กรเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง

สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางบริบทของความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และการถกเถียงเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกนำไปใช้ในระดับสากล โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งหลายประเทศมองว่าตะวันตกมีแนวโน้มใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันเมื่อต้องตัดสินนโยบายของรัฐอื่นๆ

การวิพากษ์วิจารณ์ของอัลฟาเยสได้รับความสนใจจากผู้แทนสภายุโรปและนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าเป็นสัญญาณของความไม่พอใจที่หลายประเทศในภูมิภาคอาหรับมีต่อนโยบายของชาติตะวันตกในปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top