Wednesday, 23 April 2025
งบประมาณรายจ่ายประจำปี

‘สุวัจน์’ มอง!! สภาผ่านงบฯ 67 สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล เชื่อ!! สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน คาด!! ดัน GDP โต 3%

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินกว่า 3.48 ล้านล้านบาทแล้วนั้น

เมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 67) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นบรรยากาศที่ดี เพราะจะสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะขณะนี้เราต้องการเม็ดเงิน ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจเราเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า จีดีพีเพียง 2% กว่าเท่านั้น

ดังนั้นในจำนวนเงินงบประมาณที่ได้สภาให้ความเห็นชอบนั้น รัฐบาลต้องเร่งรัดในการดำเนินการใช้จ่ายเพื่อให้เงินถึงมือประชาชน เพราะอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ก็จะมีงบประมาณปี 2568 เข้ามาแล้ว 

สำหรับข้อห่วงใยและข้อคิดเห็นจากสภาฯ นั้น นายสุวัจน์ เชื่อว่า รัฐบาลและกรรมาธิการวิสามัญ จะรับฟัง และนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การใช้จ่ายเม็ดเงินต่าง ๆ ของงบประมาณ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคฯ ก็ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นกรรมาธิการด้วย ท่านก็จะใช้ประสบการณ์ช่วยกันปรับปรุงรายละเอียดตามข้อเสนอแนะของ ฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายสุวัจน์ เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเข้มแข็งกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพ จาก 300 กว่าเสียง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ได้ดี และเศรษฐกิจก็น่าที่จะกระเตื้องขึ้น ประกอบกับมาตรการ ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งมาตรการฟรีวีซ่า อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ลดภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย ก็เป็นตัวเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายสุวัจน์ ยังเชื่อว่าปีนี้ นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดคือ 40 ล้านคน อย่างน้อยปีนี้จะต้องได้ 35 ล้านคน ถ้าเร่งเครื่องกันเต็มที่ ช่วยกันโปรโมต จัดกิจกรรมแบบอินเตอร์โดยนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ นอกจากนี้การส่งออกปีที่แล้ว ยังไม่ขยายตัว ทำให้ฐานต่ำ เชื่อว่าปีนี้การส่งออกจะดีขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับการลงทุน ปีที่ผ่านมารัฐบาลไปเชิญชวน นักลงทุนไว้มากหากทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีนักลงทุนมาลงทุนจริง ๆ ก็จะมีเม็ดเงินมาสร้างงานเพิ่มมากขึ้น 

“เมื่อประกอบกับการเมืองที่มีเสถียรภาพ ก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง คือเรื่องความเชื่อมั่นต่าง ๆ เชื่อขยายตัวได้ จีดีพีอย่างน้อยต้อง 3% กว่า ซึ่งก็ต้องรอดูเรื่องดิจิทัลวอลเลต อีกนิดขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกฤษฎีกามาให้ความเห็นอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงในการดำเนินการ” นายสุวัจน์ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า หากมีการตั้ง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายสุวัจน์ กล่าวว่า ด้วยคุณสมบัติของคุณอุ๊งอิ๊ง ซึ่งเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย ดังนั้นด้วยคุณสมบัติ และประสบการณ์ต่าง ๆ ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการ ในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้า เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเองก็เป็นแกนนำด้วย ดังนั้นชาติพัฒนากล้าก็สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการบริหารประเทศที่ต่อเนื่อง ยิ่งรัฐบาลมีเสถียรภาพที่มั่นคง ก็ยิ่งทำให้เกิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี หรือไม่ นายสุวัจน์ กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน เหมือนขับรถออกจากบ้าน เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าจะเกิดยางแตกเมื่อไหร่ หรือจะเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นกับเรา แต่โดยพื้นฐานของรัฐบาลที่มี 300 กว่าเสียง ก็ถือว่ามีเสถียรภาพที่มั่นคง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่บริหารประเทศครบ 4 ปีก็มีสูง แต่ทั้งนี้ก็ไม่แน่ อาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองได้ แต่หากอยู่ครบ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อประเทศ รัฐบาลจะอยู่ครบหรือไม่ครบวาระ 4 ปี ก็เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย

‘สส.ศาสตรา’ ตัวตึงจาก ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ลุกขึ้นอภิปราย ในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมขอสร้อย ‘หลวงปู่ทวด’ จาก ‘ธนกร’ สาปแช่ง ‘คนที่โกง ค่าอาหารกลางวันเด็ก’

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.67) เพจ ‘เชียร์ลุง’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสีสัน ของการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ระบุว่า

เก็บตก...สีสันสภา
ใครโกงเด็กขอให้มัน Shipหาย!!!

นายศาสตรา ศรีปาน สส.ตัวตึงจากสงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสภา โดยได้ควักสร้อยคอหลวงปู่ทวดขึ้นมา พร้อมกับกล่าวสาปแช่ง 

“ขอให้คนที่โกงค่าอาหารกลางวันเด็กจง ship หาย”

ซึ่งสร้อยคอดังกล่าว ได้มาจากการขอยืม นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568

‘อนุชา รวมไทยสร้างชาติ' แนะรัฐใช้นโยบาย 'กึ่งการคลัง' หนุนเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเท่านั้น

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.67) นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยระบุว่า ตนอยากจะเสนอรัฐบาลให้ความสําคัญกับเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของสหประชาชาติที่เน้นย้ำในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาจัดลําดับความสําคัญและความจําเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันครอบคลุมทุกการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษี ๆ โดยให้มีเพียงเท่าที่จําเป็นเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังอยากเห็นรัฐบาลดําเนินการปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดของการขาดดุลการคลัง เตรียมการไว้สําหรับดําเนินนโยบายที่จำเป็นในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต เหมือนเช่นกับสถานการณ์ของโควิด-19  ซึ่งทำให้เราต้องปิดประเทศ ไม่สามารถเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ต้อง Work form home มีการปิดห้างร้าน รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อมาฉีดป้องกัน แต่ที่เราผ่านมาได้ ต้องบอกว่าประเทศไทยเรามีเสถียรภาพทางการเงินและมีความมั่นคงทางการคลัง ซึ่งเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นในอนาคตจะเกิดอะไรไม่มีใครตอบได้ แต่เราจะต้องเตรียมการให้พร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้”

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จัดทํางบประมาณแบบขาดดุลในปีนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังอยากเห็นการปรับลดขนาดการขาดดุลในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป โดยหวังว่าหากภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเต็มศักยภาพ รัฐบาลสามารถสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย รวมถึงการบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะสามารถจัดทํางบประมาณสมดุลในระยะที่เหมาะสมได้ในอนาคตอันใกล้นี้ 

นอกจากนี้ นายอนุชา ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลดําเนินนโยบายที่เรียกว่า กึ่งการคลัง ซึ่งหมายถึงการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ควรได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือในกรณีที่มีความจําเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ขอตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้า โดยภายหลังจากดําเนินโครงการแล้วหน่วยงานของรัฐก็สามารถยื่นคําขอจัดสรรงบประมาณโดยตรงกับสํานักงบประมาณต่อไปได้

ทั้งนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดําเนินนโยบายกึ่งการคลังมาโดยตลอด และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือในช่วงที่เกิดโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้น มีความจําเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกร ในช่วงที่ราคาสินค้า สินค้าการเกษตรตกต่ำ โดยปีงบประมาณปี 2565 ทางรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินโครงการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 186,000 ล้านบาท มีการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 16,700 ล้านบาท และลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยอีกกว่า 7,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า นโยบายกึ่งการคลัง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของรัฐบาลที่สามารถนำมาใช้แทนการกู้ยืมเงิน เพราะว่าเรื่องนี้เข้าข่ายตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดังนั้น จึงอยากจะขอเสนอให้รัฐบาลนํานโยบายกึ่งการคลังมาใช้ 

นอกจากนี้ อยากจะเสนอให้รัฐบาลให้ความสําคัญกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยกระจายไปทั่วภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและช่วยให้ประเทศไทยจะหลุดจากประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง โดยหนึ่งในนโยบายสําคัญที่อยากจะเสนอให้รัฐบาลได้เร่งพิจารณาก็คือการขยายการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังจากที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในส่วนของ EEC

โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ที่มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง สามารถเดินหน้าได้ทันที เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เช่น การนำยางพาราที่มีอยู่จำนวนมาก มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออก เป็นต้น และยังมีอีกหลายธุรกิจใน 4 จังหวัดนี้ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและส่งออกได้ ผ่านทะเล 2 ฝั่ง ทั้งอันดามัน และอ่าวไทย หลังจากสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งแล้วเสร็จ ส่วนการเชื่อมโยงให้สองฝั่งอันดามันและอ่าวไทยต่อเนื่องกันนั้นจะเป็นระยะถัดไป นั่นคือที่มาของแลนด์บริดจ์นั่นเอง

“จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของแลนด์บริดจ์ตั้งแต่ตั้งต้น เพื่อให้เข้าใจว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะต้องเกิดขึ้นก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราค่อยว่ากันเรื่องของท่าเรือ เรื่องของถนน จากนั้นจึงเป็นเรื่องของทางรถไฟ ทำเป็นเฟส ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินลงทุนนับแสนล้าน หรืออาจจะไม่ต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนเลยก็ได้ นี่คือปัจจัยและหัวใจของ SEC และโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และผมอยากเห็นอุตสาหกรรมใหม่ เข้ามาลงทุนใน SEC มากขึ้นด้วย เพราะจากการที่มีโอกาสได้ไปซาอุดีอาระเบีย 2 ครั้ง ทางซาอุฯ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเรื่องพลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจนในพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นและยอมรับไปเมื่อครั้งการประชุมAPEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมา”

‘เศรษฐา’ จัดรายการเทปแรก ยอมรับเป็น ‘นักการเมืองหน้าใหม่’ ต้นทุนเป็นรอง เน้น!! ลงพื้นที่ พบพี่น้องปชช. ด้วยตนเอง ไปทุกจังหวัด แม้ไม่มีสส. ของรัฐบาล

(22 มิ.ย.67) เมื่อเวลา 08.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ ซึ่งออกอากาศเป็นเทปแรก ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนายกฯ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวพับแขน กางเกงสีน้ำเงิน ในลุคสบาย ๆ เป็นการนั่งพูดคุย ตอบคำถาม ที่บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายธีรัตนถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกฯ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดรายการ ว่า รัฐบาลปัจจุบัน ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรีทุกคนได้ทำงานกันหนักมาก และยังไม่มีช่องทางที่นอกเหนือจากมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ ไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนโดยตรง เพื่ออธิบายให้ฟังว่ารัฐบาลทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และแผนงานระยะยาวคืออะไรบ้าง อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่

เมื่อถามว่า 10 เดือนที่ทำงานมา เห็นการทำงานของนายกฯที่บอกตั้งแต่วันแรกว่าทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เหนื่อยบ้างหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คงจะโกหก ตนว่านายกฯทุกท่านก็ทำงานกันหนัก มีทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเชื่อว่าทุกท่านแบกภาระหนักหน่วงนี้อยู่เยอะ ซึ่งตนเองคงพูดแทนท่านอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าถามตนว่าเหนื่อยไหมนอนคืนเดียวก็หาย แต่เราเสนอตัวเข้ามาทำงานทางด้านสาธารณชนแล้ว ถือว่าเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราเหนื่อยเท่าไหร่ ตนเชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่อยู่ที่ฐานรากของสังคมเขาเหนื่อยเยอะกว่าเยอะ ชีวิตของตนเองที่ทำมาเกือบ 40 ปีตลอดระยะเวลาทำงานมา ตนเองยึดมั่นใน 2 วินัยนี้ คือมีวินัยในการทำงานและทำงานให้หนัก แต่แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนคือเรื่องของการหลับนอนก็ต้องให้เพียงพอ

เมื่อถามว่าตลอดการทำงานของนายกฯลงพื้นที่ถี่มาก แม้ในพื้นที่นั้นอาจไม่มีสส.ของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ก็ตาม แต่ก็ไป มีแนวทางในการลงพื้นที่อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตนถือว่าตนมาในฐานะเป็นนายกฯของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นนายกฯของคนพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก และเป็นพรรคที่สนับสนุนตนมาตลอด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนคือประชาชนคนไทย ซึ่งนายกฯในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มีหน้าที่ต้องดูแล อันนี้ชัดเจน ตนเชื่อว่าการทำงานที่ผ่านมาโดยตลอดให้ความมั่นใจได้ว่าไม่ได้เลือกจังหวัดลงพื้นที่ ส่วนเรื่องแนวทางในการลงพื้นที่ต่างจังหวัด จริง ๆ ต้องยอมรับว่าตนมีต้นทุนที่เป็นรองนักการเมืองหลาย ๆ ท่าน ที่ท่านเติบโตมาจากการเมืองตั้งแต่อายุ 30 กว่า ซึ่งตนเองพึ่งเข้าสู่สนามการเมืองจริง ๆ เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่จริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับมือใหม่อย่างตน เพราะว่าตนไม่ได้ไปคลุกคลีกับประชาชนเท่ากับนักการเมืองที่อยู่ในการเมืองมานาน เพราะฉะนั้นการที่ต้องลงพื้นที่เยอะ ต้องการเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังแต่รายงานที่มาจากกระดาษ

เมื่อถามว่า จังหวัดภูเก็ตนายกฯลงพื้นที่หลายครั้งมาก สส.ก็ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเลย แต่ว่าไป แสดงว่ามองเห็นศักยภาพของภูเก็ต หรือปัญหาที่ภูเก็ตต้องได้รับการแก้ไขใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ครับ ในเรื่องของนโยบายเรือธงของรัฐบาล หรือหลาย ๆ นโยบายเรือธงของรัฐบาล ก็คือเรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ทำรายได้สูงมากให้กับประเทศ และมีศักยภาพสูงมาก ๆ ด้วยเหมือนกัน ในหลาย ๆ เรื่องหลาย ๆ ด้าน แต่ว่าปัญหาก็เยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของน้ำประปา เรื่องขยะ เรื่องสนามบิน เรื่องถนน เรื่องมาเฟีย เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย หลาย ๆ อย่าง ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

นายกฯ กล่าวว่า อาทิตย์แรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ลงไปจังหวัดภูเก็ตแล้ว เชิญรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ไปดูเรื่องการจราจร ซึ่งระยะหลังจากในเมืองไปสนามบินใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เสน่ห์ของภูเก็ตหายไปหมด ส่วนเรื่องน้ำประปาก็ลงพื้นที่ไปกับ สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปดูเรื่องน้ำประปาที่จะลากจากเขื่อนเชี่ยวหลาน แล้วนำมาดูแลจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าปัจจุบันเครื่องบินต่อชั่วโมงลงได้ 25 ลำ จะให้ได้มากกว่านี้ก็ลำบาก แต่ว่ามีความต้องการลงสูงมาก ก็ต้องดูเรื่องของสนามบินภูเก็ต แต่จริง ๆ แล้ว ภาคใต้ไม่ได้มีแค่ภูเก็ต มีพังงา มีกระบี่ มีระนองด้วย ถึงแม้สนามบินใหม่จะไปตั้งที่ตอนเหนือของภูเก็ต หรือว่าส่วนหนึ่งของจังหวัดพังงา เราก็อยากให้ตั้งชื่อว่าสนามบินอันดามัน เพราะพยายามจะให้ครอบคลุมให้ได้ 3 - 4 จังหวัด

เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในหลาย ๆ พื้นที่โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า นายกฯ กล่าวว่า เรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องไม่บอกล่วงหน้า คือไปตรวจราชการตามสถานที่ต่าง ๆ และนโยบาย Aviation Hub เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ เคยเป็นสนามบินระดับท็อป ๆ ของโลก แต่อันดับตกไปเยอะมาก เราไม่มีการลงทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่เราลงทุนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โซนหนึ่งเพิ่งเปิด โซนสองเพิ่งเปิด รันเวย์สามก็จะเปิด จะมีการขยายออกไป อันนั้นถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบันก่อนด้วย เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นนโยบายเรือธงของเรา จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอย่างมโหฬาร การเดินทางก้าวแรกที่เขาเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยเขาต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง ต้องไม่เข้าคิวนาน เรื่องกระเป๋า เรื่องแท็กซี่ที่มารับ

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้าตนเองไปโดยที่ไม่บอก ไปดูให้เห็นจริง ๆ ความลำบากคืออะไร คิวยาวเหยียดตั้งแต่บันไดวนลงมาเป็นตัวงู และไม่สามารถทำอะไรได้ ตนเองคิดว่าก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้า จะได้ไม่มีการเตรียมการดีกว่า ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ได้ไปจับผิด แต่ว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่ตนเองจะมาเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าก็ทำอย่างนี้ เวลาไปตรวจงานก็จะไปแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้า จะได้เห็นสถานภาพที่จริงมากกว่า แล้วมาแก้ไขปัญหากัน และไปถึงก็ไม่ใช่ไปด่าเขา ไปว่าเขานะ เราไปนั่งพูดคุยกันดีกว่าว่าปัญหามันคืออะไร เราก็จะได้เห็นจริง ๆ และก็ช่วยแก้ไขจริง ๆ

นายกฯ กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิพัฒนาได้อีก พัฒนาดีขึ้นเยอะ เพราะว่า KPI ที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 45 นาที ต้องได้รับกระเป๋า ส่วนมากก็น่าจะทำได้ หรือประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ไม่น่าเกิน และตอนขากลับจากที่เช็กอินตั๋วและเข้าไปข้างใน ต้องไม่เกิน 45 นาทีเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในแง่ของเรื่องเครื่องอัตโนมัติในการตรวจสอบ เรื่องของการจัดการทำงานของพนักงาน เหล่านี้ก็ถือว่าช่วยกันได้เยอะมาก

เมื่อถามว่า นายกฯเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชนเคยเห็นปัญหาหน้างาน คิดว่าเทคนิคนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สภาพแวดล้อมต่างกันพอสมควรเหมือนกัน ในส่วนภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจก็แตกต่างกันออกไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐบาลก็มีเยอะกว่า เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่าจริง ๆ เรื่องของความระมัดระวัง ทางด้านขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน ก็มีกลไกทางราชการ ซึ่งเราต้องเคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบก็เยอะ เราต้องมั่นใจว่าทุกอย่าง ทุกการกระทำของเราถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ตนเองก็มามองว่าความเดือดร้อนไม่คอยท่า ต้องการการบริหารจัดการออกไป แต่ระหว่างทางก่อนที่จะมีอะไรก็อาจจะมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราวที่พยุงปัญหาไปได้บ้าง บางทีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอะไรที่รวดเร็วทันใจอย่างเดียว ซึ่งมีหลายขั้นตอน เพราะเป็นระบบราชการ ซึ่งถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับตรงนี้
.
เมื่อถามถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปคุยกันและแก้ปัญหา นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่เป็นความลับอะไร ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่าน ก็ทำอยู่แล้ว เรื่องการมี ครม.สัญจร แต่รายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แน่นอนการที่ ครม.ทั้งคณะลงไปจังหวัดไหน พื้นที่ไหน ตนเชื่อว่าก็จะมีการตื่นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม.สัญจรนัดแรก ตนเองเลือกไปจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ GDP ต่ำที่สุด เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้ การที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัด จังหวัดข้างเคียงก็มีความสำคัญ เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุก ๆ จังหวัดมีความต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือเรื่องการเกษตร เรื่องน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ถือเป็นการมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตนเองเชื่อว่าการลงหน้างานมีส่วนช่วยเหลือ ทำให้เขามีความมั่นใจขึ้น แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดไม่ได้ไปคนเดียว ทั้งคณะรัฐบาลไปหมด ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปหมด มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสร้างความคาดหวังให้พี่น้องประชาชนในครั้งต่อไปที่เราจะไป ครม.สัญจร ว่าถ้าเกิดคณะรัฐมนตรีมาจังหวัดข้างเคียงจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่แต่ครั้งต้องแบ่งเป้าหมายเป็น 2 - 3 อย่าง หนึ่ง ในแง่ของมวลชน ต้องมีการพบปะมวลชน เพราะต้องการจะได้เห็นจริง ๆ ว่าในสายตาของเขามีความทุกข์ยากมากน้อยขนาดไหน เรื่องบางเรื่องที่เขาร้องเรียนมา บางทีเขาร้องเรียนมาแล้วตนไม่ได้ยิน เพราะถูกกันออกไป ตนก็อยากไปได้ยินเองเวลาไปลงพื้นที่ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรับฟังได้โดยตรง โดยไม่มีการกีดกันเลย การได้พบข้าราชการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าไม่ฉะนั้นโอกาสที่จะได้พบกับข้าราชการฝ่ายปกครองก็น้อย ได้พบกับนายอำเภอ ได้พบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่าง ๆ ตนเองเชื่อว่าเป็นอะไรที่ให้ความรู้กับทั้งกับตนและรัฐมนตรีหลายๆท่านในหลาย ๆ เรื่อง
.
.
เมื่อถามถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศจริงๆ แล้วตนไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟท์บังคับ เป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี

นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอกต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนก็ยังบอกกับทีมว่าถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเอง 2 ห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวกมากเพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง

นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนกลายเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินัล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปต่างประเทศไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้จะประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯเรื่องของการที่เราจะต้องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่ 3 เดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลย 9 เดือน 1 หนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ

เมื่อถามว่าอีก 3 ปีจากนี้มองเห็นประเทศไทยและตัวเองอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยจริง ๆ แล้ว เหมือนกับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก เหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6 - 7 สูบเท่านั้น แล้ว 6 - 7 สูบเราก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่เราก็ต้องค่อย ๆ ทำกันไป เพราะอย่างที่บอกมีหลายเรื่อง ไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายในคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลาย ๆ Initiatives ก็เป็น Initiatives ที่อาจจะมีคนแย้งบ้าง ก็ต้องทำเรื่องของประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่มีคนมีข้อกังขาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ พูดมาตรงนี้ทุกคนก็บอกว่าอยากได้หมด แต่ว่าอย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นก็แล้วกัน อย่างนี้เป็นต้น ตนเองก็เริ่มต้นทำการค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ และก็มีหลาย ๆ เรื่อง เช่น Entertainment complex ซึ่งเป็นธุรกิจสีดำอยู่ใต้ดินเป็นล้านล้าน เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้อยู่ต่อไปหรือ หรือเราจะยกมาบนดิน ก็ยอมรับไปแล้วก็เก็บภาษีให้ถูกต้อง และควบคุมด้วยความประพฤติ ควบคุมเรื่องอาชญากรรมได้ ตนเองคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นเขาก็มีแล้ว

ช่วงหนึ่งของรายการในวันนี้ นายกฯได้นำผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าขาวม้า กระเป๋ากระจูด ผ้าลายเพชรราชวัตร ที่ประชาชนมอบให้นายกฯ และนายกฯได้นำไปใช้ที่ต่างประเทศมาโชว์ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top