Wednesday, 23 April 2025
ค่าโง่โฮปเวลล์

ศาลปกครองสูงสุด รับคำร้อง คมนาคม -รฟท. สั่งรื้อคดี ค่าโง่โฮปเวลล์ พิจารณาใหม่อีกครั้ง

4 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีคำร้องที่ 394-396/2564 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้พิจารณา โดยอ้างว่า การนับระยะเวลาหรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ซึ่งกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีในคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221-223/2562 ให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 2,850,000,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,479,800 บาท กับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเคยมีมติในคราวประชุมใหญ่ ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ว่า “ในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้น ต่อมา หลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขณะที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมยังไม่ครบกำหนด แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น จะเป็นการฟ้องคดีปกครองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 50 หรือมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 

ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการเป็นต้นไป” ก็ตาม และต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาโดยอาศัยข้อกฎหมายกรณีการเริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงมติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

‘พีรพันธุ์’ ยกย่อง ‘ยิ้ม’ ผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง อาสาช่วยสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์ โดยไม่เรียกเงินซักบาท

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คนดีที่ยังมีในประเทศไทยและในโลก

วันก่อนผมเขียนชื่นชม “ยิ้ม” (นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง) พนักงานนิติกร การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ “ปิดทองหลังพระ” ในคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญให้ผมทำงานแก้ไขปัญหาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ให้พี่น้องชาวไทยจนสำเร็จ จนมีผู้คนชื่นชมและชมเชยยิ้มกันอย่างมากมายแบบที่ผมไม่คาดคิดมาก่อน

เมื่อวานผมได้ข่าวว่ายิ้มได้รับการเลื่อนระดับ ผมจึงโทรศัพท์ไปแสดงความยินดี ทำให้ได้พูดคุยเรื่องส่วนตัวกันเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองปี 

ผมจึงได้ทราบจากยิ้มว่ายังมีทีมงานที่การรถไฟที่ผมไม่เคยพบมาก่อน “เสียสละและทุ่มเท” กันอย่างเงียบๆ มาเป็นปีแล้วโดยไม่เคยบ่นไม่เคยเรียกร้องใดๆ 

ไล่เลียงมาตั้งแต่เพื่อนที่มาช่วยขับรถรับส่งยิ้มที่ผมได้เล่าไปแล้ว ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นคนวิ่งเตรียมเอกสารและส่งเอกสารคำร้องต่างๆ ต่อศาลและทุกหน่วยราชการให้ทันเวลาด้วย ชื่อ สุขี ผ่องอำไพ ซึ่งได้รับการเลื่อนระดับพร้อมกับยิ้มด้วย และยังมีน้องๆ ที่มาช่วยยิ้มอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “พู่” “พลอย” “บาส” และลูกจ้างเฉพาะงานอีกหลายคน 

คนเหล่านี้ทุ่มเทและเสียสละเวลาส่วนตัวและประโยชน์ที่พึงได้รับจากการทำงานนอกเวลาและทำงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาเป็นปี เพียงเพราะกลัวว่าจะค้นเอกสารและเตรียมข้อมูลให้ผมไม่ทัน เนื่องจากทุกอย่างมีกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่ยิ้มและคนเหล่านี้ไม่เคยบ่น ไม่เคยปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ผมทราบมาก่อน 

ผมถามยิ้มว่าการรถไฟจ่ายค่าล่วงเวลาอย่างไร ยิ้มบอกว่าไม่ทราบ

อ้าว! ทำไมไม่ทราบ

คำตอบที่คาดไม่ถึง คือ เพราะยิ้มไม่เคยใช้สิทธิเบิกเงินค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดในคดีนี้เลย

และเมื่อยิ้มซึ่งเป็นหัวหน้าไม่ใช้สิทธิเบิกแล้ว น้องๆ ที่มาช่วยทำงานก็ไม่มีใครกล้าใช้สิทธิเบิกตามไปด้วย เลยไม่รู้ว่าจะได้ค่าตอบแทนนี้เท่าไหร่  

คนเหล่านี้มีเพียงเงินเดือนกันคนละเล็กคนละน้อย ยังต้องนั่งรถเมล์ ยังต้องดูแลพ่อแม่และครอบครัว แต่พวกเขา “เสียสละและทุ่มเท” กับการเตรียมข้อมูลเตรียมเอกสารต่อสู้กับผู้ที่จ้องจะตะครุบเงินแผ่นดินเป็นหมื่นๆ ล้าน โดยไม่คิดถึงผลตอบแทนของตัวเองเลยแม้แต่น้อยนิด ซึ่งตามปกติน่าจะมีอยู่เพียงในนิทานหรือในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น

'ศาลปกครองกลาง' มีคำสั่งงดบังคับคดีโฮปเวลล์ รอจนกว่าจะการพิจารณาใหม่เสร็จสิ้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินการคดีโฮปเวลล์ระหว่างกระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้องที่ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) ว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำขอให้รับพิจารณาคดีใหม่ และได้มีการรับพิจารณาคดีใหม่แล้วจึงเข้าเงื่อนไขการงดบังคับคดี ตามข้อ 131 วรรคหนึ่ง (1) แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีค่าโฮปเวลล์นั้น สืบเนื่องเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาใหม่ในคดีโฮปเวลล์ จากนั้น เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสือถึงศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ขอให้งดการบังคับคดี พร้อมทั้งแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้สำนักงานบังคับคดีปกครองทราบด้วย

สำหรับคดีดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ภายใน 180 วัน ซึ่งเมื่อศาลฯ มีคำสั่งงดบังคับคดี จะส่งผลให้คำสั่งชดใช้ค่าเสียหายข้างต้น รวมดอกเบี้ยจะถูกชะลอออกไปก่อน

‘พีระพันธุ์’ เผยข่าวดี ไทยชนะ ‘คดีโฮปเวลล์’ สิ้นสุดมหากาพย์ เอกชนเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน

(18 ก.ย. 66) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ไทยชนะคดี ‘โฮปเวลล์’ แล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ‘ไทยชนะคดีโฮปเวลล์’ ซึ่งเป็นมหากาพย์อภิมหาโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ถูกเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย

โดยนายพีระพันธุ์โพสต์เฟซบุ๊กสั้น ๆ มีเนื้อหาว่า “ไทยชนะคดีโฮปเวลล์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท”

สำหรับกรณีการฟ้องร้อง โครงการโฮปเวลล์ มาจาก บริษัทโฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

ย้อนคำพูด ‘พีระพันธุ์’ ชื่นชม ‘ยิ้ม สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ ชายผู้ปิดทองหลังพระ อาสาช่วยสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์

เมื่อหลายวันก่อน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศข่าวดีแก่คนไทยทั้งประเทศว่า ประเทศไทยชนะคดีค่าโง่โฮปเวลล์ คดีที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท 

วันนี้ THE STATES TIMES ขอพาย้อนอดีต ยกคำบอกเล่าและชื่นชมจากนายพีระพันธุ์ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์) ที่ได้กล่าวชื่นชมนาย ‘สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ หรือ ‘ยิ้ม’ พนักงานการรถไฟ ผู้มีส่วนช่วยรวบรวมข้อมูล เอกสาร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะคดีค่าโง่โฮปเวลล์

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ปิดทองหลังพระ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจและยินดีกับผลงานคดี ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ที่คาราคาซังมายาวนานกว่าสามสิบปี

กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ง่ายเลย ตนใช้เวลาเกือบทั้งหมดตั้งแต่กลางปี 62 เหนื่อยไปกับการสะสาง ตรวจสอบ ตรวจทาน และเรียบเรียงเอกสารต่าง ๆ ที่หมักหมมมานานกว่าสามสิบปี เปลี่ยนมาหลายรัฐบาล จนขึ้นใจทุกขั้นตอน  

เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดอีกหลายคน แม้บางคนบางรายการอาจจะขาดอายุความในการเอาผิดแต่ก็สมควรที่จะต้องกระชากหน้ากากให้รู้ว่าตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาใครเป็นใคร ใครทำอะไรไว้บ้าง เราถึงต้องมาตามแก้เป็นลิงแก้แหในวันนี้ แม้วันนี้ คดีก็ยังไม่จบ ยังต้องทำอีกหลายเรื่อง

นายพีระพันธุ์ ระบุอีกว่า ขณะนี้เรากำลังฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์เป็นโมฆะตามกฎหมาย เท่ากับว่าบริษัทนี้ไม่เคยมีตัวตนในโลกนี้ ผลคือการใด ๆ ที่ทำไปในนามบริษัทนี้เป็นโมฆะทั้งหมดไปด้วย

อย่างไรก็ตามตนต้องขอบคุณและชื่นชมคนคนหนึ่งบ้าง คนที่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครรู้จัก เป็นคนเล็ก ๆ ที่ทำงานเงียบ ๆ ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวหรือเป็นข่าว คนคนนี้เป็นคนที่ตนไม่คิดว่าจะมีในโลก ตนอยากได้คนแบบนี้มาช่วยงานนานมาแล้ว นานมาก คือตั้งแต่ตนเริ่มทำงานใหม่ ๆ เมื่อสี่สิบปีก่อน แต่ไม่เคยหาได้ ตนเลยต้องทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองอย่างแสนเหน็ดเหนื่อยตามลำพังตลอดมา จนมาทำเรื่องโฮปเวลล์
ตนโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยคนหนึ่งมาช่วยงาน คนคนนี้ชื่อ ‘สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ ชื่อเล่นว่า ‘ยิ้ม’

‘ยิ้ม’ เป็นพนักงานการรถไฟตำแหน่งอาณาบาล เรียกง่าย ๆ ว่านิติกร ยิ้มเป็นคนเดียวที่ช่วยงานเรื่องนี้ตนมาตั้งแต่ต้น 

งานชิ้นนี้ถ้าไม่ได้ยิ้มก็อาจไม่มีวันนี้ เพราะตนอาจทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลาตามกฎหมาย ผลคือ ‘ยื่นเรื่องไม่ทัน’ หรือไม่อย่างนั้นคงไม่ต้องนอนสามสี่วันติดกันในแต่ละเรื่อง เพราะเอกสารและข้อมูลเยอะมาก กว่าจะเขียนแต่ละเรื่องเสร็จใช้เวลามากและต้องค้นเอกสารและข้อมูลแบบท่วมหัว ปรากฏว่ายิ้มจำได้หมดทุกเรื่อง 

ไม่ว่าตนจะติดขัดหรือสงสัยข้อมูลอะไรตรงไหน ถามยิ้มตอบได้ทันทีทุกเรื่องทุกขั้นตอน สามารถยกร่างเรื่องต่าง ๆ ได้โดยเว้นว่างข้อความหรือข้อมูลที่ยังนึกไม่ออกในเวลานั้นไว้ได้โดยไม่ต้องหยุดพักไปค้นข้อมูลก่อน เสร็จแล้วก็ส่งให้ยิ้มช่วยเติมความให้เต็มได้อย่างถูกต้อง

บางเรื่องตนบอกแนวทางบอกประเด็นให้ยิ้มยกร่างเบื้องต้นมาก่อนเพื่อที่ตนจะได้ไปทำงานอื่นได้แล้วค่อยกลับมาปรับนิดหน่อยก็เสร็จ ทำให้ตนสามารถเดินหน้าเตรียมการเรื่องอื่น ๆ ได้พร้อม ๆ กันมากขึ้น

"ผมถามยิ้มว่าทำไมตอบผมได้หมด เขาบอกว่าเขาอ่านและเตรียมการล่วงหน้าไว้หมดนานมาแล้ว ผมหาแบบนี้มานานครับเพิ่งจะเจอ ยิ้มเขาบอกผมว่าทุกวันนี้เขาเป็นห่วงการรถไฟและบ้านเมืองกับปัญหาคดีนี้มาก ก่อนจะมารู้จักมาทำงานกับผมเขาได้ศึกษาค้นคว้าเตรียมข้อมูลตลอดมาแม้ไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เขาบอกว่าเขาอยากทำด้วยใจจริงไม่ใช่เพราะตำแหน่งหน้าที่"

ทำงานกันมาหลายปีตนก็เห็นยิ้มอยู่ที่เดิมตำแหน่งเดิม ทั้ง ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาโฮปเวลล์ให้การรถไฟต้นสังกัดและช่วยตนแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้คนทั้งประเทศมานาน ตนถามยิ้มว่าที่ทำงานไม่มีตำแหน่งว่างที่จะโยกย้ายสูงขึ้นเลยหรือ เขาบอกว่ามี หัวหน้าเขาเพิ่งจะเกษียณพอดี 

ตนบอกว่าคิวคุณขึ้นตำแหน่งนี้ได้ไหม เขาบอกว่าได้แต่ขอให้อีกคนหนึ่งขึ้นจะดีกว่า เพราะหากต่อไปต้องสู้คดีโฮปเวลล์ในศาลแล้ว อีกคนหนึ่งจะทำงานได้ดีกว่าเขา ตนบอกว่าคุณลองไปคิดดูว่าคุณจะไปไหนได้บ้าง เขากลับมาบอกตนในเวลาต่อมาว่าคิดได้แล้วว่าจะขอไปอยู่แผนกพยาบาล 

"ผมงงมากว่าจะไปทำอะไรที่แผนกพยาบาล คำตอบคือ เขาคิดว่าที่แผนกพยาบาลไม่มีงานอะไรมากเขาจะได้ใช้เวลาเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เรื่องโฮปเวลล์มาช่วยผมได้เต็มที่ ถ้ายังอยู่ที่เดิมก็ต้องทำงานอื่นด้วย ถ้าเขาทำเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ต้องกินแรงเพื่อนให้ทำเรื่องอื่นแทนเขา" 

ตนถามว่าไปอยู่แผนกพยาบาลแล้วต่อไปจะกลับไปแผนกอื่นได้อย่างไร เขาบอกว่าไม่เป็นไร ตนบอกว่าแล้วมันจะก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างไร เขาบอกว่าไม่เป็นไร 

ตนถามว่าคุณคิดอะไรของคุณ เขาบอกว่าเขาคิดเพียงว่าขอให้เขามีเวลาทำงานเรื่องโฮปเวลล์ให้สำเร็จแค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว แม้เขาต้องหยุดชีวิตราชการไว้ที่แผนกพยาบาลเขาก็ยอม

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า เชื่อหรือไม่ว่าคนแบบนี้ยังมีในโลกจริง ๆ เวลายิ้มมารายงานเรื่องต่าง ๆ กับตน จะมีเพื่อนมาด้วยคนหนึ่ง แรก ๆ ก็คิดว่าเป็นทีมงานของเขา แต่สังเกตว่านายคนนี้ไม่ค่อยพูดจาอะไร ตนเลยถามว่าคนนี้เป็นใคร คำตอบคือเป็นเพื่อนที่ขับรถพาเขามาหาตน เพราะเขาขับรถไม่เป็น เวลาไปไหนมาไหนเขาใช้รถเมล์ แต่มาหาตนต้องรีบ กลัวตนรอนานเลยวานเพื่อนให้ขับรถมาให้ หลายครั้งที่ประมาณสี่โมงเย็นตนจะตามยิ้มไม่เจอ วันหนึ่งตนถามยิ้มว่าคุณหายไปไหนตอนเย็น ๆ เขาบอกว่าต้องขอโทษเพราะเขาต้องไปดูแลแม่ที่แถวรังสิต ตนถามว่าแล้วไปอย่างไร คำตอบคือนั่งรถไฟแล้วไปต่อรถเมล์

นี่คือ ‘ยิ้ม’ คนที่ทำงานทุ่มเทกับการต่อสู้คดีให้บ้านเมืองเป็นหมื่นล้าน แต่ยังไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์ตลอดเวลา

"เมื่อวานพอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเสร็จผมบอกยิ้มว่าเห็นมีนักข่าวรออยู่ข้างล่างเดี๋ยวช่วยอธิบายเรื่องราวให้นักข่าวฟังด้วย ยิ้มขอโทษผมบอกว่าเขาเป็นแค่พนักงานการรถไฟและต้องรีบกลับไปทำงาน นี่แหละครับที่เรียกว่า ‘ปิดทองหลังพระ’ ตัวจริง"

วันนี้หลายคนชื่นชมและชมเชยผม แต่ผมขอชื่นชมและขอชมเชยยิ้ม ‘นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานตัวเล็ก ๆ ที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปิดทองหลังพระเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง

'เพจดัง' ไขข้อกระจ่าง หลัง 'สส.ทวิวงศ์ ก้าวไกล' เข้าใจผิดเรื่องโฮปเวลล์ เกิดขึ้นในยุค 'พล.อ.ชาติชาย' ส่วนยุค 'ลุงตู่' ไล่เคลียร์จนหลุดค่าโง่

(7 มิ.ย.67) เพจ 'Bangkok I Love You' ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนถึงโครงการ โฮปเวลล์ ไว้ว่า...

กราบเรียนท่าน สส. Tawiwong Totawiwong ท่านอาจจะเข้าใจผิด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้เป็นคนอนุมัติโครงการ โฮปเวลล์ และที่สำคัญ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เจรจา และสู้คดีในชั้นศาลจนกระทั่งประเทศไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่ ให้กับโฮปเวลล์ ถึง 24,000 กว่าล้าน

ปล. ปัจจุบันซากของโฮปเวลล์ได้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง และอีกไม่นานก็คงจะมีการอนุมัติโดยรัฐบาลของนายกเศรษฐา ทวีสิน ไปถึง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของท่าน (สส.ทวิวงศ์)

ปล.2 เผื่อท่านไม่ทราบ โครงการโฮปเวลล์อนุมัติในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (คุณปู่ของ สส.ธิษะณา ชุณหะวัณ จากพรรคก้าวไกล) เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว

ปล.3 พัฒนาการที่เปลี่ยนไป จากแท่งปูนผุพัง อนุสาวรีย์ และมหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์เกือบสามหมื่นล้าน (รัฐบาลไทย ชนะคดีไม่ต้องจ่ายค่าโง่) พลิกฟื้นมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง หนึ่งในโครงสร้างหลักระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีความทันสมัยที่สุดของกรุงเทพมหานคร ก็ได้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พาไทยชนะคดีนี้ สิ้นสุดมหากาพย์อภิมหาโครงการด้านคมนาคมยาวนานถึง 33 ปี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top