การพัฒนาคุณภาพครูเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาทุกยุค ทุกสมัย เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในประเทศ และเป็นกระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขปัญหา ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังฝังรากลึกของสังคมไทยเสมอมา
แม้ในนโยบายคณะรัฐมนตรีที่นำโดย ‘นางสาวแพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบัน จะไม่ได้กล่าวถึง ‘การพัฒนาคุณภาพครู’ โดยตรง แต่การแถลงนโยบายมีส่วนที่พูดถึงปัญหาของการพัฒนาคุณภาพประชาชนชาวไทยไว้อย่างตรงประเด็นว่า…
“คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีในทุกทักษะ”
แต่ก็มีชุดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาติดตามมาเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งงานของรัฐบาลจะสำเร็จได้ต้องอาศัยกลไกที่สำคัญคือ ครู ที่เป็นกระดุมเม็ดแรก
>>แล้วขณะนี้ ‘ครู’ มีปัญหาในด้านการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง?
ในการสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า…ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42% จากการสำรวจนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัย คือ การวิเคราะห์ผลของการใช้เวลาในการปฏิบัติภาระงานสอนที่มีต่อประสิทธิภาพการสอนของครูในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย ผศ.ดร.จุไรรัตน์ สุดรุ่ง และนางสาวพรทิพย์ ทับทิมทอง โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคของการทำหน้าที่ครูมาจาก 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ภาระหนักนอกเหนือจากการสอน
2. จำนวนครูไม่เพียงพอ ต้องทำการสอนที่ไม่ตรงกับวุฒิ
3. ขาดทักษะด้านไอซีที
4. ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว
5. ครูสอนหนักส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น
6. ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน
จะเห็นได้ว่าปัญหาที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอนหนักไป โดยภาระงานส่วนนี้มีทั้งการทำธุรการต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมรับการประเมินที่มีจำนวนมาก ตลอดจนการทำหน้าที่อื่น ๆ ควบคู่กับการสอนหนังสือ
>>แล้วครูไทยจะหลุดพ้นจากปัญหา ‘ใช้เวลานอกห้องเรียนเยอะเกินไป’ ได้อย่างไร
สำหรับประเด็นนี้ จุไรรัตน์ สุดรุ่ง และผัสสพรรณ ถนอมพงษ์ชาติ ได้ระบุไว้ในหัวข้อ ‘การพัฒนาครู : แก้ปัญหาให้ตรงจุด Teacher Development: Solution to the Point’ โดยเสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 6 ข้อดังนี้
1. คืนครูสู่ห้องเรียน ให้ครูมีหน้าที่สอน ดูแลพัฒนานักเรียนเพียงอย่างเดียว รับผิดชอบนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น ซ่อมเสริมนักเรียนที่มีปัญหาให้มีพัฒนาการที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. ให้มีฝ่ายบุคลากรสนับสนุนการศึกษาที่ทำหน้าที่ธุรการ การเงิน พัสดุหรืองานสนับสนุนฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งงานแผนงาน งานประกันคุณภาพภายในโรงเรียน และควรกำหนดมาตรฐานวิชาชีพให้เขาได้มีความก้าวหน้าในสายงานที่ปฏิบัติที่แตกต่างไปจากมาตรฐานวิชาชีพครู
3. กำหนดนโยบายให้โรงเรียนจัดการนิเทศภายในอย่างชัดเจนเป็นระบบ มีการกำกับติดตามและประเมินจากหน่วยงานภายนอก
4. กำหนดให้ครูต้องสอบวัตประเมินความรู้ทั้งด้านเนื้อหาวิชาที่สอน วิธีการสอบทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีทุก 3 ปี
5. จัดตั้งศูนย์การพัฒนาครูในเขตพื้นที่การศึกษา มอบหมายให้หน่วยศึกษานิเทศก์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ กำกับติดตามโดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6. กำหนดให้มีการประเมินการจัดการเรียนการสอนของครูทุกสิ้นปีการศึกษา โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน และครูต้องนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้เห็นผลในเชิงประจักษ์
และแน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการคืนครูให้นักเรียน คือ นโยบายต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเมืองในแต่ละยุค มีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้ว ‘การคืนครูให้นักเรียน’ จะยังคงเป็นภาพฝันในจินตนาการไปอีกนานเท่านาน