Tuesday, 22 April 2025
คารมพลพรกลาง

‘รองโฆษกฯ’ เตือนผู้ปกครอง ระวัง ‘ขนมโรลออน’ หวั่นเด็กๆ ซื้อบริโภค ชี้ มีสารอันตราย ย้ำ!! ‘ผู้นำเข้า-จำหน่าย’ ไม่ได้ขออนุญาต มีโทษหนัก

(27 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมลูกอมลูกกลิ้ง ที่กำลังเป็นกระแสแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชนปรากฏทางสื่อออนไลน์ โดยขนมดังกล่าวยังไม่มีการยื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์ จากคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ฉลากและภาชนะบรรจุไม่ถูกต้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

นายคารม กล่าวว่า รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการกำชับผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ให้สื่อสารไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด เฝ้าระวังและติดตามการขายขนมลูกอมลูกกลิ้งรอบโรงเรียน อาจจะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของเด็กเมื่อกินเข้าไป และเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชน ร่วมสอดส่องดูแลการขายอาหารและขนมบริเวณรอบโรงเรียน หากพบเห็นสามารถแจ้งข้อมูลทางสายด่วน อย.1556 ทางไลน์ Line@FDAThai เฟซบุ๊ก FDAThai หรืออีเมล [email protected] ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ขอเตือนผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย มีความผิดตามกฎหมาย หากพบขนมรูปแบบโรลออน วางขายโดยไม่ขออนุญาตนำเข้า จะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หากตรวจวิเคราะห์แล้วพบใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และกรณีที่พบว่าภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘คารม’ เผยความคืบหน้าส่ง ‘แรงงานไทย’ ไปตปท. แล้วกว่า 6 หมื่นคน ย้ำ!! เร่งเดินหน้า เพื่อส่งเสริมให้ ‘มีรายได้มั่นคง-มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’

(25 พ.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสำเร็จความคืบหน้าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ว่า ล่าสุดกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 60,769 คน หรือร้อยละ 60.7 ใน 139 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ 

นายคารม กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องผ่านการอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รวมทั้งรู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย รวมทั้งแนะนำการสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อรับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด หากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะเป็นสมาชิกกองทุนฯ เช่น กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ กรณีประสบอันตราย ก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย กรณีประสบอันตรายจนพิการ กรณีถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม และกรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

“สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าวทิ้งท้าย

รัฐบาล เผย!! มูลค่าความเสียหาย ภัยออนไลน์จากมิจฉาชีพ มี.ค.65 - พ.ย.67 รวม 7.7 หมื่นล้านบาท เตือน ปชช. อย่าหลงกล

(15 ธ.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยถึงยอดแจ้งความออนไลน์สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.  2565 - 30 พ.ย. 2567 ผ่าน thaipoliceonline มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 560,412 บัญชี ยอดอายัดได้ จำนวน 8,627 ล้านบาท

นายคารม กล่าวต่อว่าทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  1 - 30  พ.ย. 2567 พบผลการแจ้งความออนไลน์ รวม 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,540 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 16,229 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,864 ล้านบาท ยอดอายัดได้ จำนวน 383 ล้านบาท

ประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้
1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 146  ล้านบาท
2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 526  ล้านบาท
3. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 444 ล้านบาท  
4. หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 99ล้านบาท
5. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 221  ล้านบาท 

“จากรายงานข้อมูลดังข้างต้น ยังมีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ขอประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่เชิญชวน ชักชวนโดยวิธีการต่างๆ หากถูกหลอก สามารถแจ้งที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000” นายคารม กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top