แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทาง ปตท.จะแถลงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี โดยมีกำไรสุทธิรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 พร้อมๆ กับการเปิดเผยภาษีนำส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท และส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
แต่สิ่งที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอสใหญ่คนใหม่ ดูจะย้ำในงานแถลงครั้งนี้บ่อยครั้ง กลับไม่ใช่การเน้นในเรื่องของความสำเร็จจากผลการดำเนินงานจากกลุ่ม ปตท.เท่าไรนัก
เหตุผลหนึ่ง เพราะ ดร.คงกระพัน รู้ดีว่ากลุ่มธุรกิจเดิมของ ปตท.ที่มีอยู่ เริ่มส่งสัญญาบางอย่าง เช่น การเติบโตขึ้นบ้าง ทรงๆ บ้าง และบางกลุ่มอาจจะเหนื่อยในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของพลังงานรูปแบบเดิม ซึ่งในอนาคต เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปจากอิทธิพลของ 'สภาพภูมิอากาศ' ในโลกที่บีบให้มนุษย์ต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น
ขณะเดียวกันแนวโน้มพลังงานฟอสซิลพลังงานเดิมที่ใช้อยู่ ก็จะค่อยๆ ลดลงในอนาคต ภายใต้การคาดการณ์ว่า ถ่านหินจะลดลงเร็วกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ถัดมาคือน้ำมันก็จะลดลงต่อไป ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงช้า ปตท.ยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ LNG และมุ่งมองหาพลังงานหมุนเวียนอื่นมาพลังงานทดแทน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมไปถึงไฮโดรเจน
ดังนั้น สิ่งที่ ดร.คงกระพัน ได้ประกาศในเชิงของเป้าหมายจากนี้ จึงชัดเจนไปที่ การมุ่งสร้างธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้เมืองไทย ที่อยู่บนพื้นฐานความถนัดของ ปตท. และต้องทำกำไรได้ในระยะยาว ซึ่งก็คงไม่พ้นการปรับทิศหันหาพลังงานสะอาดที่เด่นชัดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
"การทำให้ ปตท.เติบโตยั่งยืนอย่างสมดุลจากนี้ จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่จะสร้างความ "แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD...
"ขณะนี้เรากำลังทบทวนตัวเอง (Revisit) เพื่อเดินหน้าแผนกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่ ปตท. ก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตในกลุ่ม Oil Major ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมองเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ส่งผลให้ทุกรายกระโดดเข้าไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากเรื่องน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีทั้งธุรกิจที่ถนัดบ้างไม่ถนัดบ้าง มีการลองผิดลองถูก แต่ในส่วนของเราจากนี้ คงต้องเลือกทำแบบโฟกัส เพราะเงินเราไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด"
ดร.คงกระพัน เผยต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจของ ปตท.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจ Hydrocarbon & Power ที่ครอบคลุม การสำรวจและผลิต ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ค้าปลีกน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรามีความถนัด ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนกำไร 99% ของกำไรรวมของ ปตท. แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องปรับตัว ทำให้ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น การหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน
อีกกลุ่มคือ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ (Mega Trend) อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่ม ปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย
อย่างไรกับก็ตาม การจะ Revisit ตัวเองนั้น ดร.คงกระพัน มองว่าจะต้องวิเคราะห์ 2 มุมมองให้ออก คือ...
1) ธุรกิจที่ทำใน Value Chain นั้นยังเป็นธุรกิจที่ดีอยู่หรือไม่ เพราะ 3-4 ปีที่แล้วกับวันนี้คนละเรื่องกัน
และ 2) ปตท. มี Right to play หรือจุดแข็งในการจะเข้าไปทำธุรกิจกลุ่มนี้หรือไม่
"ถ้ามีทั้ง 2 อย่าง แปลว่าธุรกิจยังน่าสนใจอยู่ เราสู้ ทำต่อ หรือบางธุรกิจอาจจะต้องเร่งเครื่องด้วย บางธุรกิจอาจจะต้องออก เช่น กรณีที่ธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ ปตท. ก็มีทางออกหลายวิธี เช่น อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะต้องดูความสามารถในการแข่งขันว่าเหมาะสมกับเราไหม สามารถเข้าหรือออกได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกอดสินทรัพย์ (Asset) ไว้เยอะเกินไป เราจึงควรต้องทำให้ตัวเบา" ดร.คงกระพัน กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการทบทวนตัวเองของ ปตท. ก็มีการพูดถึง 'CCS – ไฮโดรเจน' เข้ามาเป็นสมการสำคัญอยู่อย่างชัดเจนขึ้นด้วย
"อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้เราทำ Strategy Plan เสร็จแล้ว ซึ่งก็จะเริ่มบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจไหนจะเร่งเครื่อง? ธุรกิจไหนจะถอย? อย่างไฮโดรคาร์บอนจะทำไฮโดรเจน คู่กันกับ CCS ช่วงปลายปีก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ต้องกู้เท่าไร ต้องปันผลอย่างไร จะมีความสามารถที่จะลงทุนแค่ไหน ก็เอามาเทียบกับโครงการที่จะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าอยู่ในแผนการ...
"นั่นก็เพราะ 'ไฮโดรเจน' (Hydrogen) จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอน สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หากปรับเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากเราสามารถใช้ไฮโดรเจนทดแทนไฮโดรคาร์บอนได้ 5% ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5% เช่นกัน"
(***แนวโน้มราคาต้นทุนผลิตไฮโดรเจนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ ปตท.อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผน)
ดร.คงกระพัน เสริมอีกว่า "ก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งท่านก็คุยเรื่องไฮโดรเจนเหมือนกัน ทาง ปตท. ก็ได้มีคุยกับท่านแล้ว ทางซาอุดีอาระเบียก็อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะตลาดนี้มีศักยภาพใหญ่กว่า Mobility เป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว"
"ส่วนการลงทุนเรื่อง CCS (การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) จะอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปีแน่นอน และไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ ปตท.สผ. ทำก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการของ ปตท.สผ. นั้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเบื้องต้น แต่โครงการนี้กลุ่ม ปตท. เราวางแผนกลยุทธ์การกักเก็บคาร์บอนร่วมกัน หรือก็คือใครปล่อยก็เก็บ เช่น IRPC, GC, GPSC, TOP จะต้องดักจับคาร์บอนมาจากโรงงานตัวเอง การเก็บไม่ได้แปลว่า ต้องปล่อยแล้วก็เก็บ บางทีอาจจะเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อยเลยก็ได้ โดยมี ปตท. เป็นคนลงทุนเรื่อง Infrastructure และทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบ และให้ ปตท.สผ. ช่วยดูแลปลายทาง ในเรื่องการเก็บลงหลุมเช่น ใต้ทะเล"
อย่างไรก็ตาม ดร.คงกระพัน มองว่า ในส่วนของเทคโนโลยี CCS นั้น ในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการลงทุนทำกันมาเยอะในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งหากปตท.จะลงทุน ก็อาจจะลงทุนพัฒนาร่วมกับพันธมิตร หรืออาจจะไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเอาเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ ก็เป็นไปได้หมด
สุดท้าย ซีอีโอ ปตท. ให้บทสรุปว่า ไม่ว่าจะมีความท้าทายในด้านพลังงานอย่างไร ปตท.ต้องมีทิศทางชัดเจน ดังวิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' ซึ่งต้องสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ภายใต้การเติบโตทางธุรกิจที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงยึดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ