Tuesday, 22 April 2025
ข้อมูลเท็จ

'สว.สมชาย' เดือด!! ‘เนชั่น’ ตีข่าวทริป สว.ออนทัวร์ทั่วโลก งบ 81 ล้าน วอน!! เช็กความถูกต้องก่อนลง เพราะตนก็เป็น ปธ.กมธ.เศรษฐกิจอยู่

(18 เม.ย. 67) ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Somchai Harinhirun' ระบุว่า... 

"ลงข่าวแบบนี้ได้ไงครับ เช็กความถูกต้องหน่อยครับพี่บากบั่น...มั่วไปนะครับ เสียชื่อ Nation หมดครับพี่ กมธ. เศรษฐกิจฯ ผมเป็นประธาน ครับ ถามได้เพ่"

ทั้งนี้ สำนักข่าวเนชั่น ได้นำเสนอภาพกราฟิกในหัวข้อ 'เปิดทริป สว.ออนทัวร์ทั่วโลก' กับงบ 67 จำนวน 81 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจต่อผู้รับชมข่าว ที่ออกมาบอกว่า สว. แทบไม่ได้ไปไหนเลย นอกจากไปช่วย รพ.บ้าง วัดบ้าง ถือเป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นกลาง และเป็นสื่อการเมืองเลือกข้าง

‘ดีเอสไอ’ แจงภาพข่าว ‘ดีเอสไอสอบผู้บริหารปตท. ทุจริต’ เป็นข่าวเท็จ ชี้! หากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง ต้องทำอย่างเป็นทางการ

(28 พ.ย.67) โฆษกดีเอสไอ เผยภาพข่าว ‘ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร ปตท. และ โออาร์ ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ’ จากการตรวจสอบพบเป็น ‘ข่าวเท็จ’ ขณะที่ ตลท.ขอให้ PTT-OR-DSI แจงข่าวเข้าตรวจสอบกรณีบังคับขายบี 100 จาก GGC ในราคาต่ำ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากที่มีภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกตินั้น ทางดีเอสไอได้ตรวจสอบภาพข่าวดังกล่าว ภาพที่ปรากฏไม่ใช่ภาพประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอ เพราะหากมีการตรวจสอบและออกข่าวจริง จะต้องเป็นภาพที่เป็นทางการจากดีเอสไอเพราะเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งเรื่องการตรวจสอบ บจ.ต่างๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะดำเนินการจะต้องรอบคอบ จะต้องมีการนำเสนอเชิงลึกก่อนเปิดเผยประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการสอบถามเข้ามา ทางดีเอสไอพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ประสานและสอบถามไปยัง PTT และ OR รวมถึงดีเอสไอขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนข้อกล่าวหาผู้บริหาร PTT และ OR ว่าได้ทำธุรกรรมการซื้อขายไบโอดีเซล B100 กับบริษัทในเครืออย่างผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพข่าวที่ออกมาตามสื่อออนไลน์ระบุว่า การสอบสวนสืบเนื่องจากนายสยามราช ผ่องสกุล อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของ PTT บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ยื่นคำร้องต่อดีเอสไอตั้งแต่ปี 66 ขอให้สืบสวนว่า OR ได้สั่งให้ GGC ขาย B100 ราคาต่ำกว่าราคาแนะนำให้รับซื้อ ของสำนักงานนโยบายบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำให้ GGC ขายในราคาขาดทุน เป็นการผ่องถ่ายกำไรของ GGC มายัง OR ผู้ยื่นคำร้องระบุการกระทำนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดในลักษณะการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทในเครือ อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 281/2 มาครา 307 และ มาตรา 311 และเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

‘3 Account อวตาร’ รับงานปล่อยข่าวปลอม ตั้งป้อมโจมตีกล่าวหา ‘ผู้บริหาร ปตท.’ ด้วยข้อมูลเท็จ

(29 พ.ย.67) จับตาตำรวจไซเบอร์ พุ่งเป้า ‘3 Account อวตาร’ รับงานปล่อยข่าวโจมตี-กล่าวหา ‘กลุ่มผู้บริหารปตท.’ ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ เตรียมเอาผิดข้อหาหนัก เผยผู้อยู่เบื้องหลังคือ 'กลุ่มที่ทุจริตปาล์มน้ำมันอินโดฯ-สต๊อกลม' ที่ดิ้นพล่าน ต้องการดิสเครดิตผู้บริหารในปัจจุบัน

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จทางโลกออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่แอบอ้างว่า “DSI สรุปสำนวน เชื่อว่าผู้ว่าฯปตท.และ CEO OR เข้าข่ายทุจริต ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ, ฟอกเงิน และฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเนื้อหาของข่าวดังกล่าว เป็นการระบุแบบคลุมเครือ ไม่ได้มีการระบุชื่อตัวบุคคลอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการอ้างตำแหน่ง เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลทั่วไปที่รับข่าวสารทางโลกสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังมีการรวบรวมหลายประเด็นที่เกิดขึ้นใน 'อดีต' แล้วนำมาร้อยเรียงรวมกันแบบเหวี่ยงแห โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งทำลายตัวบุคคลที่ยังอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต อื้อฉาวใน 'อดีต' แต่อย่างใด

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ : ศปอส.ตร.) ถึงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จดังกล่าวนี้ ทำให้ทราบว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบ Account ที่มีการโพสต์ประเด็นดังกล่าว ไปยังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนการโพสต์ ดังนี้

-ราชสมัคร xxx จำนวน 4 โพสต์
-ออสติน พระxxxxxx จำนวน 2 โพสต์
-Tom Srixxx จำนวน 1 โพสต์

และเมื่อได้ตรวจสอบพฤติกรรมของ Account ทั้งหมด พบว่า 3 Account ดังกล่าว ได้มีการทิ้งระยะห่างเวลาในการโพสต์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เน้นไปที่ 'กลุ่มการเมือง' ที่เปิดเป็นสาธารณะ อีกทั้งยังมีการใช้รูปภาพเเละเนื้อหาเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

1.Account : ราชสมัคร xxx โพสต์ประเด็นดังกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมา หน้าโปรไฟล์มักเเชร์ข่าวเกี่ยวกับ 'การออม/การเงิน/การลงทุน'

2.Account : ออสติน พระxxxxxx และ Tom Srixxxx มีการเข้าร่วมกลุ่ม เเละโพสต์ประเด็นดังกล่าวร่วมกัน

3.ทั้ง 3 Account ไม่ใช้รูปตนเอง เเละตั้งรูปโปรไฟล์เป็นรูปรถ, รูปการ์ตูน เเละรูปสัตว์ทะเล

ข้อมูลเท็จ-บิดเบือน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จ-ข่าวปลอมในเรื่องนี้ คือกลุ่มบุคคลกลุ่มที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และ บุคคลกลุ่มเดียวกันนี้ ยังเกี่ยวข้องกับกรณี 'สต๊อกลม' ของ GGC มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท บางคดียังคงอยู่ในกระบวนการสอบสวน ซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้าในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บางคดี ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่า อดีตผู้บริหารของ GGC และผู้ค้า “ร่วมกันกระทำความผิด” ในกรณีดังกล่าว

ที่ผ่านมา ยังพบว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าว ยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์จากการขายไบโอดีเซลให้กับกลุ่ม ปตท. ในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก เช่น การปฏิเสธการฮั้วประมูลไบโอดีเซล รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีในกรณี “สต๊อกลม” ทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการตอบโต้ มีการใช้ 'ทนายความ' ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม ปตท. จำนวน 100 หุ้น โดยที่ไม่มีประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน จากนั้นได้มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ โดยพุ่งเป้ามาที่ 'ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน' ที่มีบทบาทในการดำเนินมาตรการป้องกันดังกล่าว ประกอบกับข้อร้องเรียนที่ได้มีการยื่นมา โดยอ้างสถานะการเป็นผู้ถือหุ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว และ 'ไม่พบข้อบกพร่อง' หรือ 'ประเด็นที่มีมูลความผิด' ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด

ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้แจ้งว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า

1.การกด Like ฐานข้อมูลหรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงเสี่ยง เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

2.การกด Share ข้อมูลที่มีความผิดโดยไม่ไตร่ตรองก่อน ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

3.การเป็นแอดมินเพจ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯอย่างชัดเจน ถือเป็นความผิดมาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

4.การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น โดยเฉพาะการใส่ข้อความ รูปภาพ อันเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถือเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top