Wednesday, 23 April 2025
ขนส่ง

‘สนามบินลาซา’ ใน ‘ทิเบต’ เผย ยอดผู้โดยสารปีนี้ทะลุ 5 ล้านคน เสริมความเด่นระบบขนส่ง-ชูเครือข่ายทางอากาศครอบคลุมทั่ว ‘จีน’

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ลาซา รายงานข่าว ปริมาณผู้โดยสารหมุนเวียนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติลาซา ก้งก๋า ในนครลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่ในปีนี้ได้สูงเกิน 5 ล้านคนแล้ว ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

รายงานระบุว่าท่าอากาศยานฯ เริ่มต้นดำเนินงานในปี 1965 และมีบทบาทโดดเด่นเพิ่มขึ้นในระบบขนส่งของทิเบต โดยมีการสร้างเครือข่ายทางอากาศครอบคลุมเมืองขนาดกลาง และใหญ่ทั่วจีนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

สำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน ส่วนภูมิภาคทิเบต เผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานฯ ได้เปิดเส้นทางบิน 135 เส้นทาง เชื่อมต่อกับ 68 จุดหมาย รวมถึงหนึ่งจุดหมายในต่างประเทศ

ท่าอากาศยานฯ ได้เพิ่มแรงกระตุ้นใหม่ แก่ นครลาซา ซึ่งรับรองนักท่องเที่ยวจากในประเทศและต่างประเทศรวม 34.2 ล้านคน และทำรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 4.24 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.12 แสนล้านบาท) ในช่วงสามไตรมาสแรก (มกราคม-กันยายน) ของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 และร้อยละ 46.7 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘สนามบินฮ่องกง’ ครองแชมป์ ‘ขนส่งสินค้า’ มากสุดในโลกปี 2023 จ่อเดินหน้าขยายระบบ เพื่อรับรองสินค้า 10 ล้านตันต่อปีในอนาคต

เมื่อวานนี้ (17 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงทางตอนใต้ของจีนยังคงครองตำแหน่งท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยรวมมากที่สุดในโลกในปี 2023 ซึ่งถือเป็นการครองตำแหน่งดังกล่าวติดต่อกัน 13 ครั้ง เมื่อนับตั้งแต่ปี 2010

ด้าน แจ็ค โซ ประธานการท่าอากาศยานฮ่องกง กล่าวว่า การครองตำแหน่งดังกล่าวพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมและการบริการขนส่งสินค้าระดับโลกของท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง ซึ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำของท่าอากาศยานฯ ท่ามกลางสภาพการณ์อันท้าทาย

ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของภาคโลจิสติกส์และการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม โดยการท่าอากาศยานฮ่องกงจะเดินหน้าความพยายามร่วมมือกับอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับโลก

อนึ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงกำลังขยายระบบสามรันเวย์ (Three-Runway System) เพื่อตอบสนองความต้องการในระยะยาว โดยระบบดังกล่าวที่มีกำหนดสร้างเสร็จสิ้นภายในปี 2024 จะช่วยให้ท่าอากาศยานฯ สามารถรับรองผู้โดยสาร 120 ล้านคน และสินค้า 10 ล้านตันต่อปี

KEX ไร้แผนถอนหุ้น ปิด-ขายกิจการ ยันเดินหน้าขยายธุรกิจในไทยและอาเซียนต่อเนื่อง

(2 ธ.ค. 67) บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข่าวลือเรื่องการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยยืนยันว่า บริษัทไม่มีแผนหยุดดำเนินธุรกิจหรือถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเน้นความมุ่งมั่นในการเติบโตระยะยาวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส  ระบุว่าการรีแบรนด์จาก Kerry เป็น “KEX” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการส่งพัสดุด่วน โดยได้รับการสนับสนุนจาก SF Express ทั้งในด้านการดำเนินงานและการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อนำเสนอบริการที่รวดเร็ว น่าเชื่อถือ และเปี่ยมด้วยนวัตกรรม  

โดยในปี 2567-2568 บริษัทวางแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และขยายฐานลูกค้ากลุ่มกลางถึงสูง ทั้งรูปแบบ C2C และ B2B พร้อมปรับปรุงบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า  

KEX ดำเนินการปรับปรุงทรัพยากรในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิด-ปิด ย้ายที่ตั้ง หรือรวมศูนย์กระจายสินค้า (DCs) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสีย การเพิ่มทุนล่าสุดมูลค่า 5.6 พันล้านบาท ตอกย้ำถึงการสนับสนุนจาก SF Express เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร   KEX เป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของ SF Group ในภูมิภาคนี้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการที่ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระยะยาว  

ปักหมุดไทยทุ่มพันล้าน เปิดโรงงานแห่งแรก ชิงส่วนแบ่งรถบรรทุก ตั้งเป้าเริ่มผลิต 1,800 คันต่อปี

(2 ธ.ค. 67) “โฟตอน” ค่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ของจีน ได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดโรงงานผลิตรถบรรทุก “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” (FOTON CP Motor) แห่งแรกในประเทศไทย ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โรงงานนี้จะเป็นฐานการผลิตรถบรรทุกรุ่นพวงมาลัยขวา โดยมีแผนผลิต 1,800 คันต่อปี สำหรับตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% คาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 7,200 คัน

การเปิดโรงงานในครั้งนี้ตอกย้ำการเติบโตของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย และเปิดโอกาสสำหรับการขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปีนี้ยอดขายของ “ซีพี โฟตอน” เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นายชาง รุ่ย (Mr. Chang Rui) ประธานโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดโรงงานในไทยเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างโฟตอนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยโรงงานนี้จะผลิตทั้งรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อรองรับความต้องการของตลาดไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พร้อมกับการขยายฐานการผลิตและความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรม เช่น Foton Cummins และ Yuchai

นายชัชชัย นาคประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด กล่าวถึงการตั้งโรงงานในไทยว่าเป็นการตอกย้ำความมั่นคงในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย โดยยอดจำหน่ายรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) ของบริษัทเติบโต 260% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเปิดโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยสู่อนาคต โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาดและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกและขยายฐานการผลิตไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

การตั้งโรงงานในประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ “โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป” ในการขยายธุรกิจทั่วโลก โดยในปี 2023 โฟตอนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ 131,000 คัน และตั้งเป้าหมายส่งออก 150,000 คันในปี 2024 รวมถึงมุ่งหวังเพิ่มจำนวนการผลิตให้ถึง 300,000 คันในปี 2030

การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในด้านพลังงานใหม่และโลจิสติกส์แห่งอนาคตอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top