Monday, 21 April 2025
กำแพงเบอร์ลิน

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 วันทลาย ‘กำแพงเบอร์ลิน’ สัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกเริ่มทะลายกำแพงเบอร์ลิน หลังสหภาพโซเวียตใช้ปิดกั้นเป็นเวลานานถึง 28 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามถูกแบ่งประเทศออกเป็น 4 ส่วนภายใต้การควบคุมของ 4 ประเทศผู้ชนะคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน

ต่อมา อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ได้เกิดความแตกแยกทางอุดมการณ์ความคิด ทำให้ อังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศสที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมมาอยู่ฝั่งเดียวกัน และสหภาพโซเวียตที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ต่อมาเกิดเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็น เป็นผลให้มีการขีดเส้นแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน คือ เยอรมันตะวันออกภายใต้อำนาจของโซเวียต และเยอรมันตะวันตกภายใต้อำนาจ 3 ประเทศ

‘กำแพงเบอร์ลิน’ แยกคนชาติเดียวเป็น 2 ประเทศ สัญลักษณ์แห่งจุดเริ่มต้นและจุดจบ ‘สงครามเย็น’

กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade) และปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อเบอร์ลิน (Berlin Airlift) 

เรื่องราวทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอันเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยุติลงในปี 1945 โดยเยอรมนีแกนนำหลักของฝ่ายอักษะ (Axis) เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถูกฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) แบ่งประเทศออกเป็น 4 ส่วน ตามสนธิสัญญาปอตสดัม (Treaty of Potsdam) โดยประเทศมหาอำนาจตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ครอบครองดินแดนเยอรมนี 3 ส่วนร่วมกัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งให้สหภาพโซเวียตยึดครอง เหตุการณ์นี้นำไปสู่การแบ่งแยกเยอรมนีเป็น 2 ประเทศ และแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร เป็น ‘วิกฤตการณ์เบอร์ลิน 1949’ ดินแดนเยอรมนี 3 ส่วน หรือเยอรมนีตะวันตกได้ตั้งเป็นประเทศ ชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมนีตะวันตก) และสหภาพโซเวียตได้ตั้งเขตปกครองของตนในเยอรมนีตะวันออกเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมันตะวันออกอพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้โซเวียตต้องสร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นกลางในปี 1961 จึงทำให้กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเก่าของเยอรมนีต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเรียกว่า ‘เบอร์ลินตะวันตก’ และส่วนถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตเรียกว่า ‘เบอร์ลินตะวันออก’

กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กรุงเบอร์ลิน นครหลวงของเยอรมนีมีที่ตั้งอยู่ใจกลางประเทศเยอรมนีตะวันออก ดังนั้น เบอร์ลินฝั่งตะวันตก จึงถูกปิดล้อมด้วยพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกโดยรอบ ในระยะแรกนั้น การเดินทางเข้าออกระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นไปอย่างเสรี จนกระทั่งเมื่อเกิดการอพยพของชาวเยอรมันตะวันออกไปยังดินแดนของเยอรมนีตะวันตกเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกต้องเร่งสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้นการอพยพย้ายถิ่นของชาวเยอรมัน ตะวันออก วันที่ 13 สิงหาคม 1961 เป็นวันแรกที่มีการสร้างกำแพงเพื่อปิดล้อมกรุงเบอร์ลินตะวันตก และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น (Cold war)

กำแพงเบอร์ลิน ถูกใช้งานเป็นเวลา 28 ปี ในช่วงเวลานี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบของกำแพงถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งจะเพิ่มความแข็งแรง และความสูงของกำแพงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการหลบหนีของชาวเยอรมันตะวันออก เนื่องจากกำแพงกันระหว่างเยอรมนีตะวันออก และเยอรมนีตะวันตก มีจุดเปราะบางที่สุดที่กรุงเบอร์ลินนี่เอง กำแพงเบอร์ลินทั้ง 4 รุ่นมีพัฒนาการดังนี้

- กำแพงรุ่นที่ 1 เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1961 เป็นแนวรั้วลวดหนาม เป็นแนวป้องกันชั่วคราวเพื่อป้องกันการอพยพของประชาชน เป็นกำแพงเบอร์ลินรุ่นที่มีอายุใช้งานสั้นที่สุด
- กำแพงรุ่นที่ 2 เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ถูกสร้างขึ้นแทนกำแพงรั้วลวดหนามทันทีที่กำแพงรั้วลวดหนามเสร็จสมบูรณ์ แต่กำแพงก่ออิฐถือปูนนี้ก็ไม่แข็งแรงพอที่ปิดกั้นความปรารถนาในการแสวงหาเสรีภาพของประชาชน มีความพยายามในการหลบหนีด้วยการทำลายกำแพงเกิดขึ้นหลายครั้ง
- กำแพงรุ่นที่ 3 เป็นรั้วคอนกรีตสำเร็จรูป ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความแข็งแรง และความสูงเพิ่มขึ้น
- กำแพงรุ่นที่ 4 ถูกสร้างในปี 1975 เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 3.6 เมตร จำนวนกว่า 45,000 แผ่นถูกต่อเป็นแนวรอบกรุงเบอร์ลินตะวันตกเชื่อมต่อด้วยท่อคอนกรีตที่ด้านบนกำแพง กำแพงรุ่นนี้ถูกใช้งานจนกระทั่งถึงการล่มสลายในปี 1989 และเป็นกำแพงเบอร์ลินที่ชิ้นส่วนถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ และสถานที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ในการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินรุ่นที่ 4 ใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1,650 ล้านมาร์กในขณะนั้น 

ตำรวจเยอรมันตะวันออกนายหนึ่งขณะหนีจากเบอร์ลินตะวันออกด้วยการกระโดดข้ามลวดหนาม

ระหว่างที่กำแพงยังตั้งอยู่นั้น มีความพยายามหลบหนีข้ามเขตแดนราว 5,000 ครั้ง การลอบข้ามกำแพง เป็นความเสี่ยงที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต ด้วยรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกมีกฎที่ว่าผู้หลบหนีจะถูกยิงทิ้งทันทีที่พบเห็น โดยมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างพยายามหลบหนีข้ามกำแพงนี้ราว 136-264 คน กำแพงเบอร์ลินถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสงครามเย็น และเริ่มต้นถูกทำลายไปใน 1989 ขณะที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ยินยอมให้เยอรมนีทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซง ภายหลังจึงมีการรวมเยอรมนีเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า ‘สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี’

การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade) ในขณะที่คณะผู้บริหารร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส) ได้บริหารและทำการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในเยอรมันตะวันตก โดยที่สหภาพโซเวียตมุ่งเน้นการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก มีนาคม 1948 สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสดำเนินการปฏิรูปเงินตรา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กลับมีผลทำให้สหภาพโซเวียตเสียหาย เพราะประชาชนในเยอรมนีตะวันออกต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในเขตของตนตามนั้นบ้าง

วันที่ 12 มิถุนายน 1948 สหภาพโซเวียตได้ประกาศ 'ปิดปรับปรุง' ถนน Autobahn ซึ่งเป็นถนนจากเยอรมนีตะวันตกที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน อีกสามวันถัดมา การจราจรทางบกระหว่างเยอรมนีในส่วนยึดครองของโซเวียตกับส่วนอื่น ๆ ถูกตัดขาด และในวันที่ 21 มิถุนายน การจราจรทางน้ำสู่กรุงเบอร์ลินถูกตัดขาด วันที่ 24 มิถุนายน สหภาพโซเวียตประกาศว่าจะไม่มีรถไฟเข้าสู่กรุงเบอร์ลินอีกต่อไปเนื่องจาก 'ปัญหาทางเทคนิค' วันถัดมา สหภาพโซเวียตประกาศเลิกจัดส่งอาหารให้กรุงเบอร์ลินส่วนของประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ฝ่ายตะวันตกก็ไม่ได้เจรจาต่อรองใด ๆ กับสหภาพโซเวียต

พลเอก Lucius D. Clay ผู้บัญชาการยึดครองเยอรมนีส่วนของสหรัฐอเมริกา รู้สึกว่า โซเวียตทำเป็นเสแสร้งว่าไม่ต้องการให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม เขายื่นข้อเสนอให้ส่งขบวนรถติดอาวุธจำนวนมากไปตามถนน Autobahn มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลินตะวันตกอย่างสันติ แต่อาจใช้อาวุธได้หากถูกขัดขวางหรือถูกโจมตี ซึ่งประธานาธิบดีทรูแมนเห็นว่า การกระทำนี้ "เสี่ยงเกินไปที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมาในเดือนกรกฎาคม 1948 โซเวียตได้ปิดกั้นเส้นทางคมนาคมทางบกที่ผ่านไปยังเบอร์ลินตะวันตก ทำให้พันธมิตร 3 ชาติ ไม่สามารถส่งอาหารและสินค้าต่าง ๆ ไปยังเบอร์ลินตะวันตกได้ เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน การปิดล้อมครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 1 ปี

ขณะนั้นกรุงเบอร์ลินมีอาหารที่จะทำให้ทั้งเมืองอยู่ได้อีก 35 วัน และมีถ่านหินที่จะใช้ได้อีก 45 วัน ทหารอเมริกันและทหารอังกฤษมีจำนวนน้อยกว่าทหารโซเวียตมาก เพราะการลดขนาดกองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หากเกิดสงครามขึ้น ฝ่ายตะวันตกจะต้องสูญเสียกรุงเบอร์ลินให้โซเวียตอย่างแน่นอน ซึ่งพลเอก Clay กล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ว่าจะไม่ยอมถอยออกจากเยอรมนีเด็ดขาด "แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรักษาตำแหน่งของเราในเบอร์ลินไว้ได้ แต่มันจะต้องไม่ถูกประเมินด้วยเหตุผลนั้น... เรามั่นใจว่าการอยู่ในเบอร์ลินของเรานั้นสำคัญต่อเกียรติยศของเราในเยอรมนีและในยุโรป ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย สิ่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งหมายของอเมริกาไปแล้ว"

ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อเบอร์ลิน (Berlin Airlift) ระยะเวลาตั้งแต่ 19 มิถุนายน 1948  –  23 พฤษภาคม 1949 ชาติพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อช่วยให้เบอร์ลินอยู่รอด นักบินจาก สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ได้ช่วยกันใช้เครื่องบินลำเลียงสิ่งของ เช่น อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรคให้แก่ชาวเบอร์ลินตะวันตก ในแต่ละวันระหว่าง 3,475-12,941 ตัน รวมน้ำหนักตลอดภารกิจ 2,334,374 ตัน ซึ่งเกือบสองในสามเป็นถ่านหิน  รวม 278,228 เที่ยวบิน คิดเป็นระยะทางบินรวม 92ล้านไมล์ มีอุบัติเหตุเครื่องบินตก 25 ลำ ผู้เสียชีวิตรวม 101 นาย ซึ่งส่วนใหญ่การเสียชีวิตไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางอากาศ หลังจากการเจรจาอย่างเคร่งเครียดเป็นเวลาพอสมควร การปิดกั้นของโซเวียตได้สิ้นสุดลงภายในหนึ่งนาทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 สหรัฐฯ อังกฤษ และพันธมิตรสามารถขนส่งทางบกเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน(ตะวันตก) ได้อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ‘วิกฤตการณ์เบอร์ลิน’ เป็นผลทำให้สภาพเผชิญหน้ากันในสงครามเย็นทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น และมีการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกา และประเทศเสรีประชาธิปไตย เพื่อขจัดการแทรกแซงและขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเป็นระบบ เช่น สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับประเทศโลกเสรีก่อตั้งองค์การความมั่นคงตามสนธิสัญญาทางทหาร เช่น องค์การนาโต้ องค์การซีโต้ องค์การนานารัฐอเมริกา ตลอดจน การตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีที่ตั้งทางทหารนอกประเทศราว 800 แห่ง และยังคงเป็นประเทศที่มีกำลังทหารอยู่ภายนอกประเทศมากที่สุดในโลก แม้ว่าสงครามเย็นจะสิ้นสุดลงพร้อมทั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตประเทศแกนนำหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์แล้วก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top