(28 ต.ค. 67) จากกระแสข่าวระหว่าง ‘ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด’ กับ ‘เจ๊อ้อย’ ถึงเงินพิพาทกว่า 71 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นนำมาสู่ข้อสงสัยให้กับสังคมว่า ‘การให้โดยเสน่หา’ คืออะไร
การให้โดยเสน่หา หรือ การให้ อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 ลักษณะที่ 3 ให้ และอยู่ในบรรพที่ 3 คือ เอกเทศสัญญา
ดังนั้น การให้ หรือ ให้โดยเสน่หา คือ สัญญารูปแบบหนึ่งนั้นเอง
โดยมาตรา 521 ได้บัญญัติไว้ว่า “อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น”
สรุปง่าย ๆ คือ การมอบทรัพย์สินของตัวเองให้คนอื่น โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนนั้นเอง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่าในบางกรณีผู้ให้โดยเสน่หา หรือ ผู้ให้สามารถขอทรัพย์สินของตนเองคืนได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 531 ความว่า
“อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้”
ซึ่งจากการสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็น Case Study สำหรับเรื่องกฎหมายแล้ว พบว่าส่วนใหญ่เรื่องที่ขึ้นศาลเกี่ยวกับการให้ จะเกี่ยวข้องกับการขอทรัพย์สินคืน เนื่องจากประพฤติเนรคุณจากเหตุทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง ผ่านการหมิ่นประมาทผู้ให้นั่นเอง