Wednesday, 23 April 2025
การปรับตัว

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top