Tuesday, 22 April 2025
กากแคดเมียม

‘ประธาน กมธ.อุตฯ’ เร่งล่าตัวคนผิด กรณีขนย้ายกากแคดเมียม ลั่น!! ไม่ยอมให้เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นตัวประกัน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ในวันนี้ (17 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา กมธ.อุตสาหกรรมได้เชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 6 หน่วยงานหลักที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดำเนินการกับกากแร่แคดเมียม มาประชุมที่สภาฯเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ โดยเฉพาะการขนย้ายกากแคดเมียม

เนื่องจากประชาชนกังวลใจว่า จะขนย้ายอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด การประชุมในวันพรุ่งนี้จะมีแผนงานที่ชัดเจนออกมาแจ้งให้ประชาชนทราบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะดำเนินการอย่างไรบ้าง

กมธ.ได้รับการร้องเรียนว่า กากแคดเมียมที่อายัดไว้ทำไมปล่อยทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ไม่หาตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุกากแคดเมียม กมธ.มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าวจึงจะไปเร่งรัดให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนการขนย้ายจะเข้าไปดูรายละเอียดว่าขนย้ายอย่างไร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ขนอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะประชาชนเป็นห่วงมาก และขอบอกประชาชนว่า ไม่ต้องเป็นห่วง กมธ.จะตรวจสอบการขนกากแคดเมียมของหน่วยงานภาครัฐอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทางจนถึงปลายทาง

นอกจากนี้ จะได้สอบถาม กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษว่าได้ติดตามดำเนินการกรณีนี้ที่เป็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนและมีผลการดำเนินการเป็นอย่างไรแล้วบ้าง

สำหรับ การสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด กมธ.จะติดตามสอบถามกับบก.ปทส.ว่า สอบสวนถึงไหนแล้ว การขนย้ายกากแคดเมียมเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนการสอบสวนดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของบก.ปทส. ในเบื้องต้นยืนยันได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องนี้แน่นอนจึงสามารถขนย้ายกากแร่อันตรายจากจังหวัดตากมาเก็บไว้ที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วกระจายไปยังจุดต่าง ๆ ทั้งชลบุรีและกรุงเทพมหานครได้ ทาง กมธ.อุตสาหกรรมมีข้อมูลเชิงลึกแล้ว

นายอัครเดช ขอยืนยันว่า จะติดตามตรวจสอบเอาคนทำความผิดที่รับผลประโยชน์และทำผิดกฎหมายมาลงโทษให้ได้กมธ.จะไม่ยอมให้เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นตัวประกัน จะติดตามหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสบายใจ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่ได้เงียบ กมธ.ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แล้วจะรายงานผลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ล่าสุด (17 เม.ย. 67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมกมธ. ได้เชิญ 6 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาแก้ปัญหากากแร่แคดเมียม โดยให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาบูรณาการหลักร่วมกับ 5 หน่วยงาน โดยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาชี้แจง ซึ่งคงจะได้ทราบข้อเท็จจริง 

อย่างไรก็ตามได้รับทราบจากข่าวว่าจะมีการเริ่มเคลื่อนย้ายกากแร่แคดเมียมในวันที่ 7 พ.ค. ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าทำไมถึงช้า เพราะอะไร ดังนั้นตนจะได้สอบถามในที่ประชุมว่าจะเลื่อนการเคลื่อนย้ายให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค. ได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องการจัดการกากแร่แคดเมียมที่ตรวจพบทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และจ.ตาก จะดำเนินการอย่างไร

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ถ้ามีขนย้ายควรจะมีตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายของแคดเมียมได้อย่างไร เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง โดยจะมีการเสนอให้ซีลสองรอบ และใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแล้วค่อยขนย้ายไป จ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้รัฐก็ต้องนำงบประมาณไปดำเนินการก่อน ส่วนขั้นตอนการฟ้องร้องค่าใช้จ่ายต้องให้รัฐไปฟ้องร้องกับผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะหากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน 

เมื่อถามว่าทางกมธ.ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของกมธ.ได้มีการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่เรามีแผนที่จะลงไปติดตามการฝังกลบแคดเมียมที่ จ.ตาก ซึ่งเดิมวางไว้ประมาณต้นพ.ค. แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการกำหนดการขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค. ก็ต้องมาหารือในที่ประชุมกมธ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริง ๆ แล้วจะสามารถขนย้ายได้เมื่อไหร่แน่ เพราะเดิมทราบจากรมว.อุตสาหกรรมการว่าจะเริ่มมีการขนย้ายประมาณวันที่ 17 เม.ย. จึงต้องสอบถามเหตุผลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาชี้แจงว่าทำไมจึงเลื่อนเป็นวันที่ 7 พ.ค.

ต่อข้อถามว่ามองการทำงานของรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติด้วยกันอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของรมว.อุตสาหกรรมเป็นฝ่ายบริหารท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ส่วนตนในฐานะประธานกมธ.อุตสาหกรรมเราก็ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพราะเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญเราก็ทำงานคู่ขนานกันไป ถึงแม้เราจะมาจากพรรคเดียวกัน แต่บทบาทหน้าที่ก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งตนและน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้พูดคุยกันเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งเฉย และลงพื้นที่ติดตามปัญหาจนได้คืนกากแคดเมียมเกือบครบแล้ว 

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ที่ทางกมธ.ระบุว่ามีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางไหน นายอัครเดช กล่าวว่า เราทราบเหตุการณ์นี้เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายที่ร้องมา ทางกมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือนม.ค. เรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่าต้นทางอยู่ที่ จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยกมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวช้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้รปะชาชนเฝ้าระวัง 

“ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ว่าต้องให้พี่น้องประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าพี่น้องประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร” นายอัครเดช กล่าว

เมื่อถามว่าเจ้าหน้ารัฐที่ถูกต้องเรียนเป็นระดับท้องที่ต้นทาง ปลายทาง หรือกำกับดูแลใบอนุญาต นายอัครเดช กล่าวว่า ในเอกสารที่มีการส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาจากระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหนขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง ดังนั้นในที่ประชุมกมธ.ก็จะมีการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนที่จะเตรียมการส่งออก ละเมิดกฎหมายและผิดกฎหมายข้อไหน และหน่วยงานไหน จะดำเนินคดีอย่างไร

เมื่อถามว่าการขนย้ายไปฝังกลบที่จ.ตาก มีความเสี่ยงระหว่างขนย้าย รวมทั้งผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงจะดำเนินการอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในอีไอเอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุชัดเจนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อนุญาตคือ จ.ตาก ประกอบการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ซึ่งในใบอนุญาตมีอีไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีการฝังกลบที่จ.ตาก ฉะนั้นเมื่อมีการละเมิดอีไอเอ เอาออกมานอกพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งทางปกครองไปแล้วว่าให้ขนกลับไปเก็บที่เดิมภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมาย ฉะนั้นต้องขนกลับไปเก็บที่เดิมก่อน 

ส่วนอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะย้ายที่ฝังกลบหรือจะดำเนินการอย่างไรกับกากแร่แคดเมียม ซึ่งวันนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ต้องไปทำอีไอเอเพิ่ม และต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าอนุญาตให้ทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักวิชาการหรือใครอยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อน และถ้าไม่เปิดช่องให้ในอนาคตมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เราในฐานะ สส. ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่แก้กฎหมายเราก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด 

ต่อข้อถามว่ามีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการข่าวทราบว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีน เตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมืยม ที่ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการคนจีนที่กมธ.อุตสาหกรรมเคยทำเรื่องนี้ พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว 

จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครสุดท้ายต้นทางที่จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิ์หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.กำลังจะสอบว่าจริง ๆ แล้วมีการกระทำความผิดตามที่ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย 

“ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนก็กระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวชลบุรีอย่างต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทางกมธ.เคยสอบสวนและให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว” นายอัครเดช กล่าว

เมื่อถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบหรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ที่ จ.สมุทรสาครได้รับทราบจากจังหวัดว่ามีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุมกมธ. วันนี้จะได้รับทราบจากจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย และอีกส่วนที่สำคัญคือสารที่ตกค้างไม่ว่าในดิน อากาศ น้ำ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างไรให้ประชาชนมีความอุ่นใจ เพราะ จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรม จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

'รมว.ปุ้ย' ยัน!! แผน 'หลัก-รอง' ขนย้ายกากแคดเมียมไป จ.ตาก พร้อม!! ชี้!! มีความรัดกุมทุกขั้นตอน 'ถุงบรรจุ-รถขน-เส้นทาง-หน้าบ่อกลบ'

(18 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการขนย้ายกากแคดเมียมไปยัง จ.ตาก ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการตรวจสอบการขนย้ายกากแคดเมียม ตลอดจนการสืบหาข้อเท็จจริงและข้อบกพร่องในแต่ละขั้นตอนร่วมกับ 6 กระทรวง โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักและให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการนั้น 

ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาอีก 1 ชุด คือคณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้ประชุมทุกวัน และได้เรียกบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) มาหารือถึงขั้นตอนในการเตรียมการขนย้าย ซึ่งตนได้ย้ำว่า จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เป็นไปตามกระบวนการ EIA และถูกต้องตามกฎหมาย จนได้ข้อสรุปวันขนย้าย รวมถึงวิธีการขนส่ง ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ลงไปดูพื้นที่หน้างานแล้ว โดยเฉพาะบ่อที่รับกากแคดเมียม มีความแข็งแรงทนทาน เพื่อทำการฝังกลบหรือไม่ ซึ่งในวันนี้จะมีการรายงานมายังตนเอง

ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการดำเนินการจัดการเรื่องการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมและการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ดูหน้างาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการเป็นคนของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ส่วนตัวอยากให้มีองค์ประกอบที่หลากหลาย จึงขอเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานภายนอกด้วย 

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกหนึ่งชุด และให้ นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

“คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ปปง., บก.ปทส. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความชำนาญ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้หายคลางแคลงใจ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จะขนย้ายให้เร็วที่สุด โดยวางไว้เบื้องต้นในวันที่ 7 พฤษภาคมและจะพยายามทำให้ได้รวดเร็ว แต่ขั้นตอนการเตรียมการมีค่อนข้างเยอะ เช่น ถุงที่บรรจุแคดเมียมต้องแข็งแรง รถขนส่งก็ต้องเป็นรถเฉพาะที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตราย เส้นทาง และจำนวนรถ ที่ต้องทำให้ถูกต้องตามระบบความปลอดภัยของ EIA โดยความตั้งใจจริงอยากทำให้รวดเร็ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด วันนี้สามารถทำได้เร็วขึ้นคือการเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น แต่หน้าบ่อที่จังหวัดตาก ก็ต้องมีความพร้อมเช่นกัน ยืนยันว่า มีแผนหลัก และแผนสำรองในการขนย้าย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

‘ดร.เอ้’ แนะ!! รัฐบาล-กทม. 4 วิธีขนย้าย ‘แคดเมียม’ ให้ปลอดภัย พร้อมย้ำ ขอให้คิดถึง-ห่วงใยประชาชนเหมือนคนในครอบครัว

(19 เม.ย.67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกทม. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเตรียมขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปยังบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก ที่รัฐบาลให้ข้อมูล จึงขอแนะนำ กทม. และรัฐบาล รีบทำ 4 ข้อ ด่วน คือ

1. ต้อง ‘บรรจุถุงกากแคดเมียมเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วปิดมิดชิด’ รอการยกขนย้าย ทำตามหลักมาตรฐานสากล
2. ต้องรีบลำเลียงไปพื้นที่ปลอดภัยโดยด่วน ‘เพราะยิ่งอยู่นาน’ ไม่มีใครการันตีว่า สารพิษจะไม่รั่วไหล ยิ่งมีโอกาสฝนตกได้ทุกวัน รัฐบาลแจ้งผ่านสื่อปลายทาง ไม่พร้อม ชาวบ้านก็เสี่ยงสูง อันตรายมากถ้ายังนิ่งอยู่ที่เดิม และเท่าที่ทราบพื้นที่ของรัฐที่ว่างเปล่า ห่างไกลแหล่งน้ำ ชุมชน หรือเช่าพื้นที่เอกชนก็มีว่างเปล่าปลอดภัย ไกลชุมชนมากมาย

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า 3. ต้อง ‘เตรียมพื้นที่ฝังกลบ’ ควรเคลียร์พื้นที่ให้พื้นผิวเรียบ ก่อนจะใช้ HDPE (High Density Polyethylene) พลาสติกพอลิเอทิลีน พลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง ในการรองรับแคดเมียมจำนวนมาก ทนต่อแรงฉีกขาด และควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชุมชน หากจะกลับไปที่เดิม คงทำแบบเดิมไม่ได้ อันตรายมาก ฝุ่นจากการถมกากแคดเมียมจะเข้มข้น เป็นพิษร้าย กระจายคลุ้ง ชาวบ้านรับเต็ม ๆ

และ 4. ต้อง ‘เตรียมรถบรรทุกที่รับตู้คอนเทนเนอร์แบบปิด’ การขนย้ายไม่ใช่ใส่รถบรรทุกฝาเปิด แคดเมียมระเหยสู่อากาศ หากฝนตกยิ่งอันตราย สารพิษกระจาย และต้องไม่ขนถ่ายไปถ่ายมา อันตรายที่สุด มีความเป็นห่วงคนทำงานเพราะเสี่ยงมะเร็ง ดังนั้นตู้คอนเทนเนอร์ต้องเปิดได้สองครั้ง คือ เปิดตอนบรรจุถุงกากแคดเมียม กับเปิดตอนนำออกมาฝังกลบในที่ปลอดภัยเท่านั้น

“ขอให้คิดถึงและห่วงใยประชาชนเหมือนคนในครอบครัวท่าน เพราะหากสารพิษอยู่ติดรั้วบ้านท่าน ท่านจะรอไหมครับ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เร่งย้ายกากแคดเมียมกลับตาก ปลายเม.ย.นี้ พร้อมปรับบ่อฝังกลบใหม่ ให้ประชาชนเชื่อมั่น

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  คณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงานฯ โดยสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับกากตะกอนแคดเมียมทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นมาของเหมืองแร่และโรงถลุง ข้อมูลการพบกากตะกอนแคดเมียม ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของแผนการบริหารจัดการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมกลับโรงงานตาก และปิดบ่อฝังกลบกากแคดเมียมนั้น โดยภาพรวมมีความครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน ซึ่งที่ประชุมมีมติในประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงบ่อกักเก็บกากแคดเมียมเพื่อเตรียมนำกากกลับไปฝังกลบ กำหนดให้ใช้การฉาบพื้นผิวบ่อใหม่ทั้งหมดซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในพื้นที่  

อย่างไรก็ดี จะเร่งขนกากตะกอนแคดเมียมที่กระจายอยู่ที่พื้นที่ต่าง ๆ ทั้งสมุทรสาคร, ชลบุรี และ กรุงเทพมหานคร มาเก็บที่โรงเก็บแร่ที่จังหวัดตากก่อน โดยต้องปรับปรุงโรงเก็บแร่ไม่ให้มีน้ำเข้ามาได้ และทำการปูวัสดุรองพื้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม ก่อนจะขนกากตะกอนแคดเมียมมารอเพื่อนำลงในบ่อกักเก็บกากแร่ต่อไป

สำหรับรถที่จะใช้ในการขนส่งและวิธีการขนกากตะกอนแคดเมียมนั้น ที่ประชุมเสนอว่าให้ใช้แบบ hybrid คือ ทั้งการใช้รถบรรทุกที่มีการขนกากโดยการใช้วัสดุห่อปิดปกคลุมมา กับการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ร่วมกันในการขน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสามารถเริ่มขนกากได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน  

“ดิฉันได้ย้ำด้วยว่า ในการดำเนินการต่าง ๆ ให้คำนึงถึงความรวดเร็วในการขนกากตะกอนออกจากพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยความปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย” รมว.ปุ้ย กล่าวย้ำ 

‘ส.อ.ท.’ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา ‘กากแคดเมียม’ ย้ำ!! ต้องได้มาตรฐานเพื่อ ‘การผลิต-การบริโภค’ ที่ยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกหนังสือข้อเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหา ‘กากแคดเมียม’ อย่างยั่งยืน และมีมาตรฐานที่ปลอดภัย โดยได้ระบุว่า ...

1.ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก) มีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 โดยได้มีการดำเนินงานดังนี้

ในกรณีนี้มีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว มีการขนกากแคดเมียมจากโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตราย (Hazardous waste) ของโรงงานต้นทางไปยังปลายทาง โรงงาน 106 ที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออะลูมิเนียม ที่จังหวัดสมุทรสาคร (ผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) จำนวน 13,xxx ตัน

ซึ่งในกรณีที่ของเสียยังไม่ได้รับการบำบัดกำจัดแล้วเสร็จ ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator–WG) จึงยังมีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566

ตามรายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสี จังหวัดตาก ได้ระบุว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายให้ฝังกลบแบบถาวร

2.ผู้รับบำบัดจำกัด (โรงงานประเภท 106) และรับหลอมหล่ออะลูมิเนียม (โรงงานประเภท 60) จังหวัดสมุทรสาคร

2.1 กากของเสียต้องมีการจัดการตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องทำ Mass Balance เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดทำ Mass Balance ควรจะต้องมีระบบรายงานที่ทันเหตุการณ์มากกว่าระบบ offline ดังเช่นในปัจจุบัน

2.2 ในทางกฎหมาย ร้านค้าของเก่าไม่สามารถรับของเสียอันตรายจาก โรงงาน 106 ได้ ในกรณีนี้เกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับของเสียอันตรายที่ถูกต้อง และการกำกับดูแลร้านค้าของเก่าที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น

2.3 นักลงทุนต่างประเทศ นำกากของเสียฯ นี้ไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นโรงงาน กรณีนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายเรื่องนอกจากเรื่อง กากแคดเมียม ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านค้าของเก่าในข้อ 2.2

2.4 ในมุมของ 'การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG)' ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องตระหนักและยึดหลัก Corporate Governance: CG ในการปฏิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้มีประสิทธิภาพขึ้น

3.มาตรการของ ส.อ.ท. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว

จากบทเรียนนี้ประเด็นสำคัญ คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator–WG) มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) ที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน

3.1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาตรฐานและมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมสามารถแยกแยะผู้ประกอบการโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น

ปัจจุบันมีโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor แล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง

ภายในปี 2568 โรงงาน 101, 105 และ 106 ที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 76 แห่ง) และโรงงาน 101, 105 และ 106 ในนิคมอุตสาหกรรม จะเข้าสู่ระบบนี้ทั้งหมด ซึ่งเกินกว่า 80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาดปัจจุบัน จะทำให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียสามารถคัดเลือกโรงงานปลายทางที่เป็นผู้รับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก

นอกจากนี้ ส.อ.ท. และ กนอ. ได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร (SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมประกาศเจตนารมณ์การสนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้สอดคล้องนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)

3.2 สนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อรวมศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ

เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลาง การพัฒนา สื่อสาร การส่งเสริมและการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ

ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้

ช่วยลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้อีกมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์การจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

3.3 ผลักดันการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End of Waste) คือ (1) เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ (2) มีตลาดหรือความต้องการใช้ (3) เป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด และ (4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ

‘รมว.ปุ้ย’ ลงพื้นที่ คุมงานด้วยตัวเอง ส่งกลับ ‘กากแคดเมียม’ เน้น!! ต้องได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของปชช. ตลอดทั้งเส้นทาง

(27 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นชอบแผนการขนย้ายกากแคดเมียมที่เสนอโดย บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ กำหนดให้เริ่มการขนย้ายกากแคดเมียมจากโรงงานเจแอนด์บี เมททอล สมุทรสาคร และโรงงานล้อโลหะไทย กรุงเทพ ในช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 29 เมษายน ตามแนวทางและวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี กำหนด โดยที่ บริษัทเจแอนด์บี สมุทรสาคร จะเริ่มขนเที่ยวแรกด้วยรถเทรลเลอร์ท้ายเรียบ จำนวน 4 คัน สามารถบรรทุกได้ทั้งหมด 80 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน และที่ บริษัทล้อโลหะไทย กรุงเทพ จะใช้รถ 10 ล้อพ่วงล้อมคอก จำนวน 6 คัน เพื่อขนย้ายกากจำนวน 100 ถุง น้ำหนักรวม 150 ตัน โดยรถทุกคันจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลฟุ้งกระจายของกากแคดเมียมก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้น จะเริ่มทยอยขนที่เหลืออีกเกือบ 12,800 ตัน จากสมุทรสาคร และชลบุรีทุกวัน โดยใช้รถขนส่งที่เตรียมไว้จำนวน 30 คัน จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยกากแคดเมียมทั้งหมดจะถูกนำไปพักไว้ที่โรงพักคอยของ เบาด์แอนด์บียอนด์ จังหวัดตาก เพื่อรอการซ่อมแซมบ่อฝังกลบ หมายเลข 5 ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงนำกากทั้งหมดมาฝังกลบ และทำการปิดบ่อภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมฯ ได้ทำการซักซ้อมความเข้าใจของทุกฝ่ายตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งในส่วนของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และชลบุรี บมจ. เบาด์แอนด์บียอนด์ บจก.เจแอนด์บี เมททอล และบริษัทขนส่ง สำหรับความพร้อมของโรงพักคอยของเบาด์แอนด์บียอนด์ที่จังหวัดตาก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร สามารถรองรับกากแคดเมียมได้กว่า 14,000 ตันนั้น ปัจจุบันได้ทำการปรับพื้นด้วยดินลูกรังสูง 30 เซนติเมตร และปูทับด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ (Geosynthetic Clay Liner) กันซึมเปื้อน ตลอดจนเตรียมร่องระบายน้ำ ปั๊มน้ำ บ่อรองรับน้ำฝน และวัสดุปิดคลุม เรียบร้อยแล้ว ด้านรถขนส่งกากแคดเมียมจำนวน 30 คัน ได้เตรียมการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ด้านระบบติดตามตรวจสอบการขนย้ายและการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ (Manifest) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเช่นกัน 

“ดิฉันได้ยังขอให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียมขั้นตอน (Procedure) เส้นทาง (Routing) และรายชื่อผู้รับผิดชอบในการขนย้ายและตรวจสอบทั้งหมด เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐาน ตลอดจนต้องมีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการขนย้ายไม่เกิดการสะดุด มีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน ตนได้มอบให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนำทีมซักซ้อมกระบวนการนำถุงกากตะกอนแคดเมียมขึ้นรถบรรทุกในพื้นที่โรงงานล้อโลหะไทย บางซื่อ กรุงเทพ โดยจะทำอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่โรงงานซึ่งเป็นอาคารปิด ไม่มีการนำถุงกากตะกอนแคดเมียมออกนอกพื้นที่โรงงาน และยังไม่มีการขนส่งไปยังพื้นที่อื่นแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา จะเดินทางไปตรวจสอบกระบวนการขนย้ายด้วยตัวเอง ณ บริษัทเจแอนด์บี เมททอล ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 29 เมษายน โดยขบวนเที่ยวแรกจากสมุทรสาคร และกรุงเทพ จะออกจากจุดนัดหมายพร้อมกันในเวลา 19.00 น. นำโดยตำรวจทางหลวง และคาดว่าจะถึงจุดหมายปลายทางจังหวัดตาก ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน

'รมว.ปุ้ย' ตรวจเข้มเที่ยวแรก ขนกากแคดเมียม 254 ตัน กลับหลุมฝังตาก ยัน!! ใช้มาตรการขนย้ายขั้นสูงสุด ขอ ปชช.เชื่อมั่นในความปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมี่ยมและกากสังกะสี และคณะ เข้าตรวจความพร้อมเพื่อเตรียมการขนย้ายกากแคดเมียมจาก บริษัท เจ แอนด์ บี เมทอล จำกัด ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย หมู่ที่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไปยังต้นทางหลุมฝังกลบที่ จังหวัดตาก โดยมีนายชัยวัฒน์ ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และผู้แทนจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร, เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.), กรมควบคุมโรค, สาธารณสุขจังหวัด, ขนส่งจังหวัด, กรมการปกครอง, สส.จังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ด้วย

สำหรับกระบวนการได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวอย่างวิธีการขนย้ายกากแคดเมียม เริ่มจากการใช้รถยก ยกถุงกากแคดเมียม และซ้อนทับด้วยถุงบิ๊กแบ็กอีกชั้น มัดปาก ชั่งน้ำหนัก แล้วยกขึ้นรถบรรทุก ซึ่งวันแรกนี้จะใช้รถบรรทุกจำนวน 4 คัน โดยแต่ละคันจะบรรทุกได้ 20 ถุง รวม 80 ถุง น้ำหนักรวมสุทธิ 112.61 ตัน จากนั้นเมื่อนำขึ้นรถแล้วก็จะปกคลุมด้วยผ้าใบอีกหนึ่งขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย ก่อนจะเดินทางออกจากจังหวัดสมุทรสาครในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. 

โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำ และปิดท้ายด้วยรถตำรวจ บก.ปทส. เพื่อไปสมทบกับขบวนของโรงงานที่บางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่ใช้รถบรรทุกจำนวน 6 คัน บรรทุกได้ 99 ถุง น้ำหนักรวมสุทธิ 141.39 ตัน ซึ่งเมื่อรวมของทั้ง 2 แห่ง คิดเป็นน้ำหนักทั้งสิ้น 254 ตัน (น้ำหนักที่หายไปจากประมาณการ 270 ตัน เนื่องจากมีการชั่งโดยละเอียด) ซึ่งทั้งสองขบวน จะนัดรวมเป็นขบวนเดียวกันที่ ดูโฮม จ.นนทบุรี เพื่อเดินทางต่อไป ยังจังหวัดตาก ในเวลาประมาณ 22.00 น.คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง และจะถึงจังหวัดตาก ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน 2567  

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะทำการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจาก จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดตากก่อน ส่วนที่จังหวัดชลบุรี ยังต้องรอกระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยการขนย้ายจะใช้เส้นทางสายเอเชีย ซึ่งจะมีตำรวจทางหลวงของแต่ละพื้นที่นำขบวน และมีการส่งต่อเป็นจังหวัด ๆ หยุดพักเท่าที่จำเป็น ไม่มีการแวะเติมน้ำมัน และมีแผนฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุไว้เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ เมื่อถึงจังหวัดตาก จะนำกากตะกอนแคดเมียมไปเก็บไว้ที่อาคารพักคอยในพื้นที่โรงงานที่ได้ทำการปูพื้นด้วยแผ่น HDPE และดินเหนียวสังเคราะห์ (GCL) แล้ว ในระหว่างที่เร่งปรับปรุงบ่อเก็บกากแคดเมียมให้มั่นคงปลอดภัยตามมาตรการ EIA โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมตาก และจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมอย่างใกล้ชิด ตลอดการดำเนินงาน

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมจากต้นทางที่จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร การขนย้ายระหว่างทาง จนถึงปลายทางที่จังหวัดตาก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องของปริมาณน้ำหนักนั้น จากที่ตรวจพบในขณะนี้แม้จะยังขาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนักหากนำมาคำนวณกับค่าความชื้นที่สูญเสียไป ดังนั้นต้องรอให้การเคลื่อนย้ายทั้งหมดเสร็จสิ้นลงก่อน จึงจะสรุปได้ว่าพบกากตะกอนแคดเมียมครบทั้งหมดแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตามเวลานี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่หยุดค้นหายังคงค้นหาในพื้นที่ ๆ คาดว่าจะกระจายไปแม้ว่าจะค้นหาเกือบครบสมบูรณ์แล้วก็ตาม ซึ่งทุกขั้นตอนเราต้องรีบทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันกับฝนที่อาจจะตกลงมาได้ตลอดเวลา” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

ส่วนในเรื่องของคดีความนั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา และมีการตั้งประเด็นการสอบสวน เพื่อจะได้ระบุตัวบุคคลที่จะต้องเรียกมาสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

'รมว.ปุ้ย' ผนึกทุกภาคส่วน จับตาโรงงานเสี่ยงทั่วประเทศ เร่งเดินหน้ากวาดล้าง 'ขยะอุตสาหกรรม' ลงดาบผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (3 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์รั่วไหล และเกิดไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กำชับให้เร่งแก้ปัญหา และเห็นด้วยกับแนวทางที่ได้เสนอให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วยเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก 

“ภายหลังได้เสนอกับนายกรัฐมนตรี วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบทันที เพื่อให้การบริหารจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ทุกฝ่ายให้การยอมรับ สามารถขยายข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึง รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกากอุตสาหกรรม จากหน่วยราชการ ภาคการอุดมศึกษา ภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ” 

รมว.อุตสาหกรรม ย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ เสนอแนวทางการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และตรวจสอบ กระบวนการที่เกี่ยวกับการลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายอีกด้วย 

สำหรับคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกากตะกอนแคดเมียม ที่ได้มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมานั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่าวานนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 3 ชุด เร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ผู้แทนจากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

“และสำคัญวันนี้ต้องขอบคุณ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ได้กำชับ สั่งการและมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตราย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในทุกจังหวัดอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

'รมว.ปุ้ย' แจ้ง!! กากแคดเมียมที่คลองกิ่ว-ชลบุรี เริ่มขนกลับตากแล้ว มั่นใจ!! ทุกขั้นตอนปลอดภัย ขนเสร็จทันตามกำหนด 17 มิ.ย.นี้

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนการขนย้ายกากแคดเมียม จากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 18 วัน สามารถขนกากแคดเมียมได้จำนวนทั้งสิ้น 2,180 ถุง น้ำหนักรวม 3,432 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.50 ของจำนวนกากแคดเมียมทั้งหมด  

(25 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นวันแรกที่เริ่มการขนกากแคดเมียม จากโกดังที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังโรงพักคอยของ บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 คัน บรรทุกกากแคดเมียม จำนวน 76 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน ออกเดินทางจากชลบุรีในเวลา 15.00 น. นำขบวนโดยรถเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปทส. คาดว่าจะถึงจังหวัดตากในเวลา 21.00 น. 

และในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะใช้รถจำนวน 10 คัน ทยอยขนจากโกดังคลองกิ่วจนครบจำนวน 4,391 ตัน เพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้กระบวนการขนย้ายยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียมกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งการซ้อนถุง การชักตัวอย่างตรวจสอบ การทำความสะอาด และการลงระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้าย (e-Manifest) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก  

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินสภาพความแข็งแรงและการรั่วซึมของบ่อ ซึ่งบริษัทฯ จะได้เสนอแผนการปรับปรุงให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากแคดเมียมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

‘กมธ.อุตฯ’ เผย ‘กากแคดเมียม’ ขนถึงจ.ตาก ครบ 100% คาด!! ดำเนินการฝังกลบเสร็จเรียบร้อย ภายใน 30 พ.ย.67

(31 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า กมธ.การอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้ากรณีกากแคดเมียมล่าสุด รับรายงานขนย้ายจาก 3 จังหวัด ถึงโรงพักคอยจังหวัดตาก จำนวน 12,912 ตัน ครบ 100% แล้ว ระบุ ขั้นตอนต่อไปรอตรวจสอบความสมบูรณ์ของบ่อในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ คาดดำเนินการฝังกลบได้เสร็จเรียบร้อยภายใน 30 พฤศจิกายน 2567

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง นายรัฐ คลังแสง สส.มหาสารคาม และนายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล สส.นครปฐม ร่วมแถลงความคืบหน้าการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ต่าง ๆ กลับสู่จังหวัดตาก ว่า… 

ในวันนี้ คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สนง.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดําเนินการขนย้ายกลับไปสู่จังหวัดตากตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 จนครบ 100% เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งขณะนี้กากตะกอนแคดเมียมอยู่ที่โรงพักคอยทั้งหมด 12,912 ตัน เป็นตัวเลขที่ชั่งน้ำหนักที่ปลายทางที่จังหวัดตาก 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบก่อนหน้านี้ พบว่า ได้มีการแจ้งขนย้ายจริงคือขออนุญาต 15,000 ตัน แต่มีการแจ้งเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ 13,800 ตัน แต่จากการตรวจโดยการคํานวณปริมาตรคร่าว ๆ จะอยู่ที่ 12,948 ตัน และเมื่อขนกลับไปแล้วชั่งน้ำหนักจริงก็จะเหลือ 12,912 ตัน

ส่วนขั้นตอนฝังกลบนั้น หลังจากนี้จะต้องทำการตรวจสอบบ่อฝังกลบที่ 4 และ 5 ก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าบ่อที่ 4 ตอนที่ขนออกมานั้น มีกากแคดเมียมเหลืออยู่ครึ่งบ่อ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปต้องดําเนินการตรวจสอบการรั่วซึมหรือไม่ โดยทางกรมทรัพยากรเหมืองแร่ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปดำเนินการในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ 

เนื่องจากที่ผ่านมาค่าการตรวจสอบความรั่วซึมของกรมควบคุมมลพิษกับทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ค่ายังไม่ตรงกัน จึงต้องเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง และหากว่าตรวจสอบแล้วไม่พบการรั่วซึม ก็จะขนย้ายจากโรงพักคอยไปเก็บที่บ่อ 4 ให้เต็ม ส่วนบ่อที่ 5 ขณะนี้ได้ทำการซ่อมแซมไปแล้ว และในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้ จะทําการตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่มีการรั่วซึมก็จะดําเนินการขนย้ายจากโรงพักคอยนะครับ 12,912 ตัน ไปเก็บในบ่อที่ 5 ต่อไป

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า หลังจากนี้ คณะทํางานที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ซึ่งมีท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะดําเนินการขนย้ายจากโรงพักคอยไปเก็บไว้ที่บ่อฝังกลบให้เสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งก็จะทำให้ภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่เสร็จ เพราะว่าต้องรอตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแคดเมียมว่ามีความแข็งแรงไม่รั่วซึมก่อน จากนั้นจึงจะสามารถทำการขนย้ายจากโรงพักคอยไปที่บ่อฝังกลบต่อไป

“ตอนนี้ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทั้งที่สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ได้อุ่นใจว่ากากแคดเมียม ซึ่งเป็นสารอันตรายได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว และที่สําคัญได้มีการส่งมอบพื้นที่คืนเรียบร้อยแล้ว โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมควบคุมมลพิษได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่า ไม่มีสารตกค้างแล้ว 100% ส่วนที่ชลบุรีก็ได้มีการเข้าไปดูดฝุ่นและก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน รวมถึงอีก 2 บริษัท ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ก็ได้ตรวจสอบสารตกค้าง และตอนนี้สามารถส่งพื้นที่ได้เรียบร้อย ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัด ทั้ง 5 พื้นที่ อุ่นใจได้ ส่วนที่โรงพักคอยจังหวัดตากจะลงบ่อฝังกลบเมื่อไหร่ จะแล้วเสร็จทันกําหนดวันที่ 30 พฤศจิกายน หรือไม่ ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้หารือร่วมกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม และจะติดตามการทํางานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อไป ส่วนเรื่องของการดําเนินคดีนั้น ก็ยังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์หน้าก็จะเชิญหน่วยงานมาชี้แจง และจะรายงานความคืบหน้าให้ได้ทราบต่อไป” นายอัครเดช กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top