Wednesday, 23 April 2025
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

‘รองโฆษกนายกฯ’ เชิญชวน ‘ลูกหนี้กยศ.’ ที่อยู่ระหว่างชำระคืนหนี้ เหลือ 2 เดือนสุดท้าย!! รีบใช้สิทธิ ลดดอกเบี้ย-เงินต้น-เบี้ยปรับ ถึง 30 มิ.ย. 66

(26 เม.ย.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นในวันที่ 30 มิ.ย.66 ที่จะถึงนี้แล้ว จึงขอเชิญชวนผู้กู้ยืมกองทุน กยศ. ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ใช้สิทธิเพื่อรับประโยชน์จากมาตรการตามกรอบเวลาดังกล่าว มาตรการลดหย่อนการชำระหนี้ กยศ. ประกอบด้วย การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้, ลดเงินต้นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว

‘ยุติธรรม-คลัง-กยศ.’ ร่วมประชุมถก ‘พ.ร.บ.กยศ.’ ฉบับที่ 2 ปี 66 พร้อมสรุป 4 แนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน บรรเทาทุกข์ ‘ลูกหนี้ กยศ.’

(11 พ.ย. 66) คณะทำงานการปรับโครงสร้างหนี้สิน รวมถึงการบังคับคดีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมและให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะทำงาน พร้อมด้วย นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าพบนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อประชุมหารือแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้เป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ มีนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, นายอภินันช์ ศุนทรนันท์ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมหารือที่กระทรวงการคลัง และได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้

1.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคำนวณภาระหนี้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ในคดีที่ขายทอดตลาดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และคดีที่มีการอายัดเงินไว้แต่ยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน และส่งให้กรมบังคับคดีภายในเดือนธันวา คม 2566 เนื่องจากการคิดหนี้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 จะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยกรมบังคับคดีจะส่งข้อมูลคดีกลุ่มดังกล่าวให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

2.) กรณีที่ลูกหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หากมีกรณีลูกหนี้ชำระเกินไปกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคืนเงินส่วนที่ชำระเกินแก่ลูกหนี้

3.) ในการพัฒนาโปรแกรมการคำนวณหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะหาหน่วยงานมาช่วยพัฒนาเพื่อให้โปรแกรมเสร็จโดยเร็ว

4.) กรมบังคับคดีและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ โดยลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สามารถยื่นหนังสือยินยอมให้การงดการบังคับคดีและลงทะเบียน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ทุกสำนักงานทั่วประเทศของกรมบังคับคดี และที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

นายลวรณ ได้กล่าวขอบคุณที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะทำงานการปรับโครงสร้างหนี้สินฯ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ร่วมหารือแนวทาง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกหนี้ได้เป็นอย่างมาก

‘กยศ.’ เผย!! นักศึกษามีความต้องการ ‘กู้เงิน’ เพื่อเรียนต่อเพิ่มมากขึ้น เร่ง!! อนุมัติขยายกรอบ ปรับเพิ่มวงเงินกู้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

(7 ก.ย.67) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2567 ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น จากเดิม 769,009 ราย เป็นจำนวน 837,009 ราย พร้อมปรับวงเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 48,344 ล้านบาท เป็นจำนวน 51,278 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง 

สำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืม กองทุนฯ ได้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ส่วนลดเบี้ยปรับที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้น ซึ่งกองทุนฯ ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2567 มีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 168,000 ราย สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนฯ ได้รับชำระเงินคืนจำนวน 23,359 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) ในโอกาสนี้ กองทุนฯ ขอขอบคุณผู้กู้ยืมทุกท่านที่มีความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง รวมถึงขอขอบคุณหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในการเข้าถึงการศึกษาต่อไป 

สาว อบต.สุดช็อก!! กยศ.หักหนี้ทุกเดือนตลอด 4 ปี จู่ๆ หายไป โผล่อีกที ถูกฟ้องยึดทรัพย์ วอน!! รัฐมนตรี หาแนวทางแก้ไข ยัน!! พร้อมจ่าย แต่ขอให้หักเงินเดือน เหมือนที่ผ่านมา

(22 ก.ย. 67) น.ส.สุรินธิดา มณีทอง อายุ 40 ปี อาศัยอยู่ที่ ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ทำงานเป็นพนักงานจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)พรสำราญ อ.คูเมือง เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)และอยากให้เป็นสื่อกลาง ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

น.ส.สุรินธิดา เล่าว่าตนเข้าทำงานที่ อบต.พรสำราญ ตั้งแต่ปี 2556 และเมื่อปี 2562 กองทุน กยศ.ได้มีหนังสือจะหักเงินยืมเรียน กยศ. ตนก็รับปฏิบัติ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เงินเดือนตนจะถูกกองคลังของ อบต.หักทุกเดือน เดือนละ 1,200 บาท และถูกหักเรื่อยมา

พอมาถึงปี 2566 เงินเดือนของตนได้เข้าบัญชีเต็มจำนวนเงินเดือน คือ ไม่มีการหักเงินออกไป จึงเข้าไปสอบถามกองคลังของ อบต.ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีรายชื่อจาก กยศ.ส่งมาให้หักจึงไม่ได้หัก การเงินจะหักได้ก็ต่อเมื่อ กยศ.แจ้งรายชื่อมาว่ามีใครบ้างที่จะถูกหักและหักคนละเท่าไร ถ้าไม่มีรายชื่อ คลังจะไม่มีสิทธิหักเงินเดือนได้

น.ส.สุรินดา เล่าด้วยว่า ส่วนหนึ่งคิดว่ากยศ.น่าจะหักพอแล้ว หรืออาจจะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ละยุคที่มีการลดแลกแจกแถม จึงไม่ได้สนใจ ตนทำงานใน อบต.ของตัวเองตามปกติ

กระทั่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตนได้รับหมายศาลจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า กยศ.เป็นโจทก์ฟ้องตนเป็นจำเลยที่ 1 และคนค้ำประกันอีก 2 คนเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 รวม 3 คน ว่าให้ดำเนินการบังคับคดีเพื่อสืบทรัพย์และยึดทรัพย์นำไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้ไปชำระ กยศ.พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 120,643.85 บาท

ตนและครอบครัวต่างตกใจ และไม่เข้าใจแนวทางการทำงานของ กยศ.ทั้งที่ตนเต็มใจให้หักเงินเดือนและถูกหักมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 51 งวด หรือ 4 ปี 3 เดือน ระหว่างปี 2562-2566 คิดเป็นเงิน 61,200 บาท และเมื่อไปตรวจสอบยอดบัญชีแล้ว เงินต้นไม่เคยลดลงเลย

จึงอยากจะฝากถึง กยศ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ซึ่งเป็นคนบุรีรัมย์ ออกมาชี้แจงและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนในขณะนี้ หากถามว่าตนพร้อมที่จะจ่ายหรือไม่ ตนพร้อมแต่ขอให้หักเงินเดือนเหมือนที่ผ่านมา แต่จะให้หาเงินก้อนมาชำระ คงไม่มี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top