Wednesday, 23 April 2025
กองทัพบกอินเดีย

พันตรี ‘Deeksha C. Mududevan’ นายทหารหญิงสุดแกร่ง ฝ่าฟันอุปสรรค กลายเป็น ‘นักรบพิเศษหญิง’ คนแรกแห่งกองทัพบกอินเดีย

การเป็นทหารหญิงในกองทัพอินเดียถือเป็นความยากลำบากมากมายแล้ว แต่การสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อคัดเลือกเข้าฝึกในหลักสูตรนักรบพิเศษ (Balidan) ของกองทัพบกอินเดียถือเป็นความยากลำบากที่มากกว่าปกติธรรมดามากมายหลายเท่า เมื่อภาพของพันตรี ‘Deeksha’ นายทหารหญิงแห่งกองทัพบกอินเดียประดับเครื่องหมาย Balidan อันทรงเกียรติในระหว่างขบวนพาเหรดวันสาธารณรัฐปี 2024 เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่ฮือฮาในสังคมอินเดียเป็นอันมาก เพราะเกียรติยศที่หาได้ยากนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทและการทำงานหนักของเธอในกองทัพ อันแสดงถึงความสามารถ ความเข้มแข็ง และความอดทนเพื่อให้การผ่านการคัดเลือกและฝึกฝนอันโหดทรหดที่สุดของกองทัพบกอินเดียเพื่อที่จะเป็น ‘นักรบพิเศษ’ 

เรื่องราวของพันตรี Deeksha เป็นมากกว่าความสำเร็จของเธอ ด้วยความปรารถนาของเธอที่จะมุ่งมั่นที่จะตอบแทนประเทศชาติ ภาพของเธอที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้ชาวอินเดียในการเข้าร่วมกับกองทัพเป็นจำนวนมาก ผู้พวกเขาประกอบอาชีพในกองทัพ ทั้งนี้ พันตรี Deeksha มาจากเมือง Davangere รัฐ Karnataka เริ่มต้นจากการฝึกฝนอบรมใน National Cadet Corps (NCC) เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ (MOBC) ที่ Army Medical Corps Center ในเมืองลัคเนา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทหารอันน่าทึ่งของเธอ ต่อมาเข้าฝึกฝนอบรมในหลักสูตร CDS Exam OTA Online Coaching ในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกองทัพบกอินเดีย 

ในที่สุดร้อยเอก Deeksha (ยศขณะนั้น) ก็ได้ประจำการในกองพันทหารพลร่ม (กองกำลังรบพิเศษ) บทบาทของเธอมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเธอได้ฝึกฝนร่วมกับกองกำลังรบพิเศษ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติการพิเศษ ความท้าทายหลักประการแรกของร้อยเอก Deeksha คือความพยายามของเธอในการเข้าร่วมกรมทหารพลร่ม แม้ว่าในตอนแรกจะถูกปฏิเสธสองครั้งเนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพและการบาดเจ็บระหว่างความพยายามในครั้งที่สอง แต่ความมุ่งมั่นของเธอก็ไม่เคยสั่นคลอน ด้วยแรงบันดาลใจจากผู้บังคับบัญชาของเธอ พันเอก Shivesh Singh ทำให้เธออดทนอย่างหนัก และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของหน่วยพลร่ม และต่อมาเป็นกองกำลังพิเศษในเดือนธันวาคม 2022 หลังจากได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม 303 ในเมือง Tangtse ของเขต Leh

พิธีมอบรางวัล Best in Physical training 
(หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ MOBC)

ร้อยเอก Deeksha ต้องเผชิญและเอาชนะอุปสรรคมากมาย ความยืดหยุ่นและความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอเป็นข้อพิสูจน์ถึงลักษณะนิสัยและความทุ่มเทของเธอในการรับใช้ประเทศชาติ ในความสำเร็จอันน่าทึ่งของเธอ ผู้ที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาของเธอเป็นพิเศษคือ พันเอก Bindu Nair ซึ่งมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของเธอ เนื่องจากการชี้แนะและการสนับสนุนของเขาทำให้เธอได้รับรางวัล Best in Physical training (หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ MOBC) 

เรื่องราวของพันตรี Deeksha เป็นมากกว่าความสำเร็จของเธอ ด้วยปณิธานของเธอที่จะเข้าร่วมกองทัพอินเดียและรับใช้ชาติ เครื่องหมาย Balidan ที่เธอประดับไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นของเธอและความเป็นไปได้ที่รออยู่ข้างหน้าสำหรับสตรีในกองทัพอินเดีย เมื่อเรื่องราวของเธอแพร่กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต พันตรี Deeksha จึงถือเป็นแบบอย่างของสตรีอินเดียที่ทรงพลัง โดยแสดงให้เห็นว่าด้วยความอุตสาหะและความทุ่มเทของเธอ จนสามารถทำลายอุปสรรคและบรรลุสิ่งพิเศษได้ และได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี และความสำเร็จของเธอในการประดับเครื่องหมาย Balidan ถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวอินเดียทุกคนที่มีความปรารถนาที่จะรับใช้ประเทศชาติอีกด้วย

โดยเครื่องหมาย Balidan ถือเป็นเครื่องหมายประดับที่มีเกียรติและมีความโดดเด่นสูงสุดของกองทัพอินเดีย โดยเฉพาะในกองกำลังพิเศษของกรมทหารพลร่ม เครื่องหมาย Balidan ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเสียสละขั้นสูงสุดและความกล้าหาญที่ปราศจากความย่อท้อ ต้นกำเนิดของเครื่องหมาย Balidan สามารถสืบย้อนไปถึงกองกำลังพิเศษชั้นยอดของกองทัพอินเดียที่รู้จักในชื่อ Parachute Regiment (กรมทหารพลร่ม) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านทักษะการต่อสู้ที่ยอดเยี่ยม การเคลื่อนกำลังที่รวดเร็ว และความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ แนวคิดเบื้องหลังเครื่องหมาย Balidan เกิดขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและยกย่องความเสียสละอันสูงสุดของทหารแห่งกองทัพอินเดียในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคำว่า ‘Balidan’ มาจากภาษาสันสกฤต โดย ‘Bali’ หมายถึงการเสียสละ และ ‘Dan’ หมายถึงเครื่องบูชา ดังนั้น เครื่องหมาย Balidan จึงสื่อถึงการกระทำอย่างไม่เห็นแก่ตัวในการสละชีวิตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ แสดงถึงความกล้าหาญ และการอุทิศตนของทหารที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องอธิปไตยของอินเดีย การออกแบบและรูปลักษณ์ เครื่องหมาย Balidan ประกอบด้วยกริชคอมมานโดชี้ลง พร้อมด้วยปีกที่ยื่นขึ้นไปจากใบมีด นอกจากนี้ยังมีม้วนหนังสือวางทับอยู่บนใบมีด โดยแสดงคำจารึกว่า ‘Balidan’ ด้วยอักษรเทวนาครี

เครื่องหมาย Balidan ถือเป็นเครื่องหมายเกียรติยศสูงสุดของกองทัพอินเดีย ซึ่งสวมใส่โดยสมาชิกของกองกำลังพิเศษของกรมทหารพลร่มเท่านั้น ทหารพลร่มอินเดียทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร โดยบางคนเข้าร่วมกับกรมทหารพลร่มโดยตรงหลังจากการสมัคร ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนย้ายจากหน่วยอื่น ๆ ทั่วไป ในการเป็นสมาชิกกองกำลังพิเศษ จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวด ในขั้นต้นทุกคนจะต้องมีคุณสมบัติเป็นพลร่มก่อนจึงจะสามารถเลือกเข้าสู่การคัดเลือกเป็นสมาชิกของกองกำลังพิเศษได้ การคัดเลือกจะดำเนินการปีละสองครั้งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง และมีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในการฝึกอบรมที่ท้าทายและยาวนานที่สุดในโลก ซึ่งผู้สมัครจะต้องอดนอน อดทนต่อ ความอัปยศอดสู ความเหนื่อยล้า และความท้าทายที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีการรายงานการเสียชีวิตในระหว่างกระบวนการคัดเลือกและอัตราการลาออกสูงมาก โดยการคัดเลือกจะไม่เกิน 10% ของผู้สมัคร แม้ว่าจะผ่านกระบวนการคัดเลือกได้สำเร็จ แค่พวกเขาจะยังไม่ถือว่าเป็นสมาชิกกองกำลังพิเศษ กว่าพวกเขาจะสำเร็จ ‘หลักสูตร Balidan’ ระยะเวลาหนึ่งปี หากสามารถฝึกฝนจนผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ พวกเขาจะได้รับเครื่องหมาย Balidan และได้รับแต่งตั้งเข้าสู่กรมทหารพลร่มอย่างเป็นทางการ 

การประดับเครื่องหมาย Balidan เป็นข้อพิสูจน์ถึงความกล้าหาญที่ไม่ธรรมดาและความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของเหล่าทหาร และทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงการเสียสละของพวกเขา ทั้งยังเป็นวิธีในการทำให้ความทรงจำของพวกเขาคงอยู่ตลอดไป โดยทั่วไปตราจะติดไว้ที่กระเป๋าหน้าอกด้านขวาของเครื่องแบบ ใกล้กับหัวใจ ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงชั่วนิรันดร์ระหว่างชาติและทหารพลร่ม อีกทั้ง เครื่องหมาย Balidan มีความสำคัญต่อความรู้สึกสำหรับครอบครัวของหน่วยรบพิเศษเป็นอย่างมาก ด้วยเครื่องหมาย Balidan ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและการปลอบโยน โดยเป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละของผู้เป็นที่รัก และเครื่องหมาย Balidan แสดงถึงความกตัญญูของประเทศชาติและเป็นสิ่งเตือนใจอยู่เสมอว่าหน้าที่และความเสียสละของพวกเขาจะไม่มีวันลืม เครื่องหมาย Balidan สัญลักษณ์แห่งความเสียสละ ความกล้าหาญ และการอุทิศตนที่ยั่งยืนในกองทัพอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณอันเสียสละของทหารที่พร้อมเสียสละเพื่อชาติอย่างสูงสุด ด้วยการให้เกียรติในความทรงจำและรับทราบถึงความกล้าหาญของพวกเขา เครื่องหมาย Balidan จะรับประกันว่า มรดกของพวกเขาจะคงอยู่ต่อไป โดยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทหารรุ่นต่อ ๆ ในการรับใช้ประเทศชาติด้วยเกียรติยศและความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่

สำหรับบ้านเราแล้ว พลร่มหญิงรุ่นแรกถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2507 ครบ 60 ปีพอดี โดยสังกัดศูนย์สงครามพิเศษหรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบัน ทุกวันนี้นักรบหญิงไทยสังกัดกองกำลังทหารพรานแห่งกองทัพบกและกองกำลังทหารพรานนาวิกโยธินแห่งกองทัพเรือได้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงนักรบชายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศไทย น่าเสียดายที่เหล่าทัพต่าง ๆ ห่วงใยนักรบหญิงมากจนเกินไป ทำให้ทหารหญิงของไทยส่วนใหญ่แล้วได้ปฏิบัติหน้าที่เพียงแต่งานธุรการและสนับสนุนการรบ อาทิ แพทย์ พยาบาล ในโลกยุคปัจจุบันเหล่าทัพต่าง ๆ ของไทยควรที่จะได้เปลี่ยนวิธีคิด โดยสนับสนุนให้ทหารหญิงมีบทบาทหน้าที่ในภารกิจหลักของกองทัพให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความทัดเทียมและความเสมอภาคเฉกเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ อันจะเป็นการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับหญิงไทยและสังคมไทยในภาพรวมต่อไป

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

การฝึกผสมกองทัพบกไทย ร่วมกับ 'กองทัพบกอินเดีย รหัส MAITREE 2024'

กองทัพบกไทย ร่วมกับ กองทัพบกอินเดีย จัดการฝึกผสมร่วมกัน ภายใต้รหัส 'MAITREE 2024' ประจำปี 2567 ในช่วงวันที่ 2 - 14 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดตาก เป็นการฝึกตามโครงการฝึกระหว่างหน่วยของกองทัพบกไทย กับกองทัพมิตรประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทหาร และการทำงานร่วมกัน ในระดับยุทธวิธี 2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถส่วนบุคคลในการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทหาร 3) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้, ประสบการณ์, เทคนิคการปฏิบัติทางการทหารแนวความคิดในการปฏิบัติการและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ และ 4) เพื่อฝึกแผนปฏิบัติการร่วม ตลอดจนการฝึกควบคุมบังคับบัญชาหน่วยกำลังผสม มีผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 154 นายประกอบด้วย ฝ่ายไทย จำนวน 76 นาย และฝ่ายอินเดีย จำนวน 78 นาย

กองทัพภาคที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดกำลังพลในส่วนของการฝึกฯ ในครั้งนี้ โดยจัดจากกรมทหารราบที่ 14 กองพลทหารราบที่ 4 จำนวน 76 นาย เรื่องที่ทำการฝึก ประกอบด้วย 1) การจัดแสดงสาธิตอาวุธยุทโธปกรณ์ กองทัพบกไทย Static Display 2) อาวุธศึกษา 3) การติดต่อสื่อสาร 4) แผนที่เข็มทิศ 5) การฝึกลงทางดิ่ง 6) การดำรงชีพในป่า 7) การต่อต้านระเบิดแสวงเครื่อง 8) การปฏิบัติการร่วมกับสุนัขทหาร 9) การฝึกแลกเปลี่ยน (Cross Training Exercise (CTX)) 10) mรฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise (FTX)) 11) การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง 12) การยิงปืนเวลากลางคืน และ 13) การฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธี 48 ชั่วโมง

สำหรับการฝึกผสม MAITREE 2024 ประจำปี 2567 ถือเป็นการฝึกระหว่างกองทัพบกไทย และกองทัพบกอินเดีย โดยถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหารระดับยุทธวิธีร่วมกันทั้งสองกองทัพ และทั้งสองกองทัพจะได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อการปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับความร่วมมือในการฝึกผสมฯ ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมในการสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศ ในการพัฒนาการฝึกผสมฯ กับมิตรประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของกองทัพไทย รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ในการสร้างผลประโยชน์ของชาติให้มั่นคงยิ่งขึ้นสืบไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top