ไขปม!! แก่นแท้แห่ง ‘กรุงศรีฯ’ พินาศหนแรก เมื่อสาย ‘อ่อนโอน’ VS ‘คลั่งสงคราม’ วัดพลังกัน
เนื้อหาในรอบนี้น่าจะมีใครหลายคนอยากตามติด เพราะผมจะพาทุกท่านไปติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดจากการ ‘แสวงหาอำนาจ’ จนลืมนึกถึงคนในชาติ แต่ก่อนที่ผมจะเล่า ผมขอออกตัวก่อนว่านี่คือเรื่องเล่าจาก ‘บริบท’ ของอดีตที่จะนำมาสอนใจทุกท่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่การนำเอาอดีตมาตอกย้ำหรือสร้างดรามาให้ใครนะครับ
สำหรับบทความแรกนี้ ผมจะสรุปถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรากันก่อน
หากพูดการเสียกรุงครั้งที่ 1 หลายคนคงทราบจากหนังสือประวัติศาสตร์ภาคบังคับแล้วว่ามี ‘ไส้ศึก’ ที่ชื่อ ‘พระยาจักรี’ ขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่รู้เห็นเป็นใจกับกับพม่า ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.2112 ปัจจัยนอกจาก ‘พระยาจักรี’ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง? แล้วพระยาจักรีคือคนขายชาติจริง ๆ หรือ?
จริง ๆ แล้วการเสียกรุงนั้นเกิดขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งของตระกูลราชวงศ์เป็นปฐมเหตุ นับแต่เมื่อคราวที่ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’ แห่งราชวงศ์ ‘สุพรรณภูมิ’ สวรรคต ‘พระยอดฟ้าราชโอรส’ ได้ขึ้นครองราชย์ โดยมี ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ เป็นผู้สําเร็จราชการ จนเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 เดือน พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ จากนั้นก็ได้สถาปนา ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งตามรากของตระกูลที่พอสมมติได้ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ และ ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ นั้นมาจาก ‘ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา’ ที่อยากมีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอันนี้เป็นคำรบหนึ่งแห่งความวุ่นวาย
แต่เพียงแค่ 42 วัน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ก็ตกบัลลังก์โดยการจัดหนักของทีมงาน ‘ขุนพิเรนทรเทพ’ ซึ่งสืบเชื้อสายพระร่วงเจ้า มาแต่ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือตามชอบธรรม เมื่อกู้บัลลังก์คืนแล้วจะขึ้นครองเองก็ได้แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงได้มอบบัลลังก์ให้แก่ ‘พระเทียรราชา’ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ พระอนุชาต่างมารดากับ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’
เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ 'ขุนพิเรนทรเทพ' ที่ได้อวยยศเป็นถึง 'พระมหาธรรมราชา' และยังยก 'พระสวัสดิราช' ซึ่งกาลต่อมาคือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ที่ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' ให้เป็นพระมเหสีแก่ 'พระมหาธรรมราชา' ก่อนขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก คุมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ใหญ่โตเป็นอย่างยิ่ง และเป็น 'ดาบสองคม' ที่เป็นเหตุทำให้ถึงกับเสียกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว
ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้อย่างถ่องแท้จะเห็นว่าความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือ เหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริง ๆ มันยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก เช่น ตำแหน่งของราชบุตรเขยที่ 'พระมหาธรรมราชา' เปรียบเหมือนรัชทายาท เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด ใหญ่กว่า 'พระราเมศวร' รัชทายาทที่มีอำนาจรองจาก 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไร เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่องค์เหนือหัว อำนาจบารมีก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้น แตกต่างจาก 'พระมหาธรรมราชา' อย่างสิ้นเชิง สรุปคือ 'พระราชบุตรเขย' มีอำนาจมากกว่า 'พระราชโอรส' ของกษัตริย์อยุธยา ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก หรือมีคนมาเสี้ยม ไม่แปลกที่ย่อมทำให้แตกร้าว ออกอาการกันได้ และการศึกพม่าจากหงสาวดีก็เปรียบเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น
จากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ก่อนที่เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาแต่เป็นการร่วมมือแบบห่าง ๆ ไม่ได้ลงมาตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือได้เข้าปะทะกองทัพพม่าก็เมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว ซึ่งพม่าก็ได้เห็นถึงความเปราะบางของความผูกพันนี้ โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อ 'บุเรงนอง' ซึ่งคือตัวละครหลักในการเสียกรุงจากฝั่งพม่า
ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 'พระเจ้าบุเรงนอง' ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือได้ทั้งหมด เหลือเพียงเมืองพิษณุโลกของ 'พระมหาธรรมราชา' ที่ต่อสู้ป้องกันเมือง แต่กระนั้นก็ไม่มีกำลังเสริมใด ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีฯ ที่ส่งสารไปแล้วก็ไม่ตอบสนองการทัพขึ้นไปช่วยแต่อย่างใด สุดท้ายก็ต้องยอม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองคาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้ว
จากนั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมี 'พระมหาธรรมราชา' คุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย การยกทัพมาประชิดเมืองครั้งนี้ 'พระเจ้าบุเรงนอง' อ้างเหตุมาขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิไม่ยอมถวาย ก็พยายามเข้าราวี ต่อกร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพพม่าได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่านอกจากจะเสีย 'ช้างเผือก' แล้ว ยังต้องมอบ 'พระราเมศวร' พระราชโอรสองค์โตในฐานะ 'องค์ประกัน' และต้องมอบขุนนางที่อำนวยการสงครามอีกผู้หนึ่ง นั่นก็คือ 'พระยาจักรี' ให้ไปเป็นข้ารับใช้พระเจ้าบุเรงนอง ที่หงสาวดีด้วย
หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ก็ทรงลาผนวช โดยมี 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยา แต่แค่เพียงอยุธยาและเมืองที่ขึ้นกับอยุธยาในด้านอื่น ๆ เท่านี้นะครับ ไม่รวมหัวเมืองเหนือและเมืองที่ขึ้นตรงกับหงสาวดี โดยเฉพาะเมืองเหนือนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “เมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทำตามทุกประการ” สรุปกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน แต่ยังให้เกียรติแก่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นับเป็นเมืองขึ้น (สวามิภักดิ์ในฐานะเมืองน้อง ห้ามกระด้างกระเดื่อง) และยังให้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ก่อนจะเข้าสู่สงครามครั้งที่ 3
ครั้งที่สาม คือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112 สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และทรงพลานุภาพที่สุด แต่กระนั้นฝั่งกรุงศรีฯ ยังคงมีความคิดแข็งข้อกับพม่า โดยหันไปคบกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างด้วยหวังจะให้มาเช็กบิลกับ 'พระมหาธรรมราชา'
