Tuesday, 22 April 2025
กระทรวงต่างประเทศ

‘ดอน’ รับ อดีตผู้นำศรีลังกา เตรียมมาไทย แจงใช้หนังสือเดินทางการทูตเข้าพำนักได้ 90 วัน

รมว.กต. ชี้ชัด อดีตผู้นำศรีลังกาที่ถูกโค่นอำนาจ ถือหนังสือเดินทางทางการทูตเข้าไทยได้ พำนักที่ใดก็ได้ตามกรอบ 90 วัน ย้ำ ไม่ได้สร้างปัญหาก็อยู่ได้ ชี้ รบ.ศรีลังกา ก็หนุนให้มาไทย ชี้ เรื่องปกติหนีร้อนมาพึ่งเย็น

วันนี้ (10 ส.ค. 65) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา อดีตผู้นำศรีลังกาที่หลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งขณะนี้พำนักอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และกำลังจะเดินทาง เข้ามาประเทศไทย วันที่ 11 ส.ค. ว่า เขาใช้หนังสือเดินทางทางการทูตอยู่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของเขา ดังนั้น เมื่อถือหนังสือเดินทางทางการทูต ที่เป็นมิตรกับประเทศไทย ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยมีกรอบการพำนักอยู่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา จึงไม่มีการคัดค้านต่อรัฐบาล ดังนั้น มีอยู่ประเด็นเดียวคือ เรื่องประชาชนชาวศรีลังกา ส่วนสถานที่พำนักในไทย ก็แล้วแต่ อยู่ที่การจัดการของเขา ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าจะต้องอยู่ที่นั่นที่นี่ สามารถอยู่ในโรงแรมได้ หรือเช่าอพาร์ตเมนต์ หรือบ้านอยู่ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เป็นกรอบกำหนดของประเทศไทย

'นายกฯ' นำชื่อ 'มาริษ เสงี่ยมพงษ์' ขึ้นทูลเกล้าฯ ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ แทนที่ 'ปานปรีย์'

(30 เม.ย.67) มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้นำชื่อ 'นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์' อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายปานปรีย์) ขึ้นทูลเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ แทนที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้นายมาริษ ได้เดินทางเข้าไปพบนายเศรษฐา ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าอาจจะไปกรอกประวัติ เพื่อตรวจคุณสมบัติด้วย

เนื่องจากล่าสุด นายกิตติชัย ตรีรัชตพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 29 เมษายน 2567 ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบของบริษัท เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นต้น หลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการ TNL ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563

โดยคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเข้าดำรงตำแหน่ง กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบแทนตำแหน่งที่ว่างลง และบริษัทจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป

สำหรับเส้นทางข้าราชการของ 'มาริษ เสงี่ยมพงษ์' หรือ 'อดีตทูตปู' เคยรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการทูต และที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำเครือรัฐออสเตรเลีย, อดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐฟิจิ

โดยในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้งนายมาริษ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฯ สาธารณรัฐวานูอาตู 

ทั้งนี้ 'มาริษ' เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกฯ ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ

กต.เชื่อตัดไฟเมียนมา ไม่สะเทือนช่วย 4 ลูกเรือไทย

(7 ก.พ.68) กระทรวงการต่างประเทศมั่นใจว่าการตัดไฟฟ้าในเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย 4 คน ที่ถูกควบคุมตัวบนเกาะสอง โดยย้ำว่าไทยยังคงเดินหน้าเจรจาเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเต็มที่ พร้อมหารือกับเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการตัดไฟฟ้าในเมียนมาเป็นผลจากการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีการพูดคุยกับหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น จีน และเมียนมา ซึ่งการตัดไฟครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลต่อความพยายามในการช่วยเหลือลูกเรือไทย

สำหรับความคืบหน้าในการเจรจากับทางการเมียนมา นายนิกรเดช กล่าวว่า แม้ไม่สามารถประเมินผลได้เป็นเปอร์เซ็นต์ แต่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทั้งในด้านการเมืองและการกงสุล โดยได้มีการพบปะกับผู้แทนระดับต่าง ๆ ของเมียนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยเหลือให้ญาติสามารถพบกับลูกเรือที่ถูกจับกุม และยืนยันการเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวลูกเรือไทยโดยเร็ว

‘ดร.ศราวุฒิ’ ชี้ จนท.ระดับสูงไทยไม่ควรทำเรื่องส่อเลือกข้าง หลัง รมว.ต่างประเทศ เยือน ‘กำแพงร้องไห้’ ในเยรูซาเล็มตะวันออก

(25 ก.พ. 68) จากกรณีที่มี ภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยสื่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้แก่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และ นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล เดินทางไปสวดมนต์ที่กำแพงร้องไห้ในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองตั้งแต่สงครามหกวันในปี 1967

ล่าสุด ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ขณะรอขึ้นเครื่องเพื่อไปบรรยายที่สงขลา มีเพื่อนบางคนส่งข่าวมาให้อ่าน พร้อมทั้งอยากให้ผมแสดงความคิดเห็น ข่าวที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่ คุณมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปที่กำแพงร้องไห้ในเยรูซาเล็มตะวันออก

ผมเห็นว่าการเดินทางไปปฏิบัติราชการของคณะผู้แทนไทยในประเทศอิสราเอลโดยมีภารกิจหลักเพื่อไปรับแรงงานไทย 5 คนที่ถูกปล่อยตัวออกมาล่าสุดนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเข้าไปเยือนเยรูซาเล็มตะวันออกในนามของรัฐบาลไทยนั้นต้องพิจารณาให้รอบครอบ ไม่ใช่นึกอยากไปหรือได้รับรับเชิญไปก็ไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหวที่ซ้อนอยู่ในนั้น

ประเด็นอ่อนไหวที่ว่ามีอยู่ 2-3 ประเด็นที่ผมอยากเอามาแลกเปลี่ยนครับ

ความอ่อนไหวในเชิงสถานะของเยรูซาเล็มตะวันออก

เยรูซาเล็มเป็นเมืองโบราณที่ถือเป็นหนึ่งในแก่นกลางของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครับ อิสราเอลมองเยรูซาเล็มว่าเป็น "เมืองหลวงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่อาจแบ่งแยกได้" ของตน

ไม่นานหลังรัฐอิสราเอลถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1948 และได้รับชัยชนะเหนือบรรดารัฐอาหรับในสงครามครั้งแรก อิสราเอลก็ได้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นทางตะวันตกของเมืองเยรูซาเล็ม จากนั้นหลังจากที่อิสราเอลทำสงคราม 6 วันใน ค.ศ. 1967 กับเพื่อนบ้านอาหรับ อิสราเอลก็ได้ยึดเยรูซาเล็มตะวันออก รวมถึงเขตเมืองเก่าด้วย โดยได้ผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน อันถือเป็นการกระทำที่นานาชาติไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ผู้นำอิสราเอลก็มักจะแสดงความไม่พอใจที่ไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเล็ม แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดกับอิสราเอลเอง

ชาวปาเลสไตน์เห็นต่างอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต้องการเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง และถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติที่นานาชาติสนับสนุนมายาวนาน หรือรู้จักกันในชื่อ "การแก้ปัญหาแบบให้มี 2 รัฐอยู่เคียงคู่กัน" (Two States Solution) โดยพื้นฐานแล้วก็คือแนวความคิดให้ก่อตั้งรัฐอิสระปาเลสไตน์ติดกับอิสราเอล ตามพรมแดนที่ปรากฏก่อน ค.ศ. 1967 ซึ่งมีการเขียนแนวทางแก้ปัญหาอย่างนี้เอาไว้ในมติสหประชาชาติ

ชาวปาเลสไตน์ถือเป็นประชากรจำนวนไม่น้อย คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในเยรูซาเล็ม คนเหล่านี้มาจากครอบครัวที่อยู่ที่นี่มานานนับพันปี ความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่ออิสราเอลมีนโยบายขยายการตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้ามาในเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลไม่ยอมรับ

นอกจากจะไม่ยอมรับแล้ว อิสราเอลยังได้ผ่านกฎหมายในสภาเนตเซท (Knesset) เมื่อ ค.ศ. 1980 ให้มีการผนวกดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออกให้เป็นส่วนหนึ่งของตน

อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไป ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ แต่เมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจึงเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ให้การยอมรับว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล พร้อมย้ายสถานทูตสหรัฐฯจาก เทล อะวีฟ เข้ามาตั้งอยู่ในเยรูซาเล็มเมื่อ ค.ศ. 2019 นี้เอง

ด้วยสถานะเยรูซาเล็มที่เป็นประเด็นขัดแย้งเช่นนี้ ทำไมเราจึงเลือกที่จะไปเยือนที่นั่นอันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองในเชิงสัญลักษณ์ว่าไทยเห็นดีเห็นงามกับการที่เยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ความอ่อนไหวในเชิงความเชื่อความศรัทธา

เยรูซาเล็ม (มุสลิมเรียกว่า อัล-กุดส์) ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญทั้งด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ของโลกตลอดมา อันเป็นบ่อเกิดของสันติภาพและความขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

ในมิติความขัดแย้งนั้น ประเด็นหลักมักวนเวียนอยู่ที่ข้อถกเถียงว่า ศาสนาใดใกล้ชิดเกี่ยวพันกับดินแดนเยรูซาเล็มมากกว่ากัน จนเป็นที่มาของการอ้างสิทธิครอบครองเมืองนี้ของแต่ละฝ่าย กลายเป็นความขัดแย้งเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลเรื่อยมา

ขณะที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต่างให้การยอมรับความสำคัญของศาสนายูดาห์และคริสเตียน ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับนครเยรูซาเล็ม แต่ก็ย้ำว่าสถานที่แห่งนี้ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน และเยรูซาเล็มมิได้มีความผูกพันทางจิตวิญญาณต่อชาวปาเลสไตน์หรือชาวอาหรับเท่านั้น แต่ดินแดนแห่งนี้คือศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย

เพราะนอกจากมัสยิดฮารอมในนครมักกะฮ์และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว มัสยิดอัล-อักซอในเยรูซาเล็ม ยังถือเป็นมัสยิดที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับ 3 ของศาสนาอิสลาม อีกทั้งอัล-อักซอยังเป็น "กิบลัต" แรกในประวัติศาสตร์อิสลาม หรือชุมทิศแรกที่มุสลิมหันหน้าไปยามละหมาดและขอพรต่อพระเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้ว มัสยิดอัล-อักซอยังเป็นศาสนสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามอันเนื่องมาจากมัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ศาสดามุฮัมมัด ได้ละหมาดก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นสู่ชั้นฟ้าเบื้องสูงในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “อิสรออ์และมิอ์รอจญ์”

แต่สำหรับชาวยิวแล้ว พื้นที่แห่งนี้คือที่ตั้งของ The Temple Mount หรือพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสร้างโดยศาสดาโซโลมอน หรือที่มุสลิมรู้จักในนามศาสดาสุไลมาน (ปกครองระหว่าง 971-931 ก่อนคริสต์ศักราช)

ทว่าพระวิหารยุคแรกนี้ก็ถูกทำลายโดยพวกบาบิโลนเมื่อ 587 ก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นก็มีการสร้างมหาวิหารยุคที่ 2 ขึ้นโดยกษัตริย์ไซรัสมหาราชและดาไรอุส

อีก 500 ปีต่อมาพระวิหารที่ 2 (Second Temple) ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยกษัตริย์แฮรอดมหาราช จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระวิหารแฮรอด” แต่สุดท้ายพระวิหารแห่งใหม่นี้ก็ถูกทำลายโดยพวกโรมันใน ค.ศ.70 เหลือแต่ซากกำแพงเก่าที่ไม่ได้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นที่มาของ "กำแพงร้องไห้" ที่อยู่ทางตะวันตก หรือ “Western Wall”

นับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้นับถือศาสนายูดาห์นิกายออร์โธด็อกซ์ ก็ตั้งหน้ารอคอยการสร้างพระวิหารยุคที่ 3 ในเยรูซาเล็ม พร้อมกับการรอคอยการปรากฏตัวของเมสไซยาห์ของชาวยิว (Jewish Messianism) ก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าจะทำลายโลก

ปัญหาก็คือ ตามความเชื่อของชาวยิวกลุ่มนี้ หากจะฟื้นฟูมหาวิหารยุคที่ 3 ขึ้นมาจริงๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รื้อถอนมัสยิดอัล-อักซอและโดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock) ของชาวมุสลิมเสียก่อน เพราะมัสยิดเหล่านี้ก่อสร้างอยู่บนเนินเขาที่ชาวยิวเชื่อว่าเป็น "The Temple Mount"

ในสภาวะอ่อนไหวเชิงความเชื่อความศรัทธาเช่นนี้ทำไมเราจึงต้องไปเยือนที่นั่น อันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าไทยอาจเห็นดีเห็นงามกับการทำลายมัสยิดเพื่อประกอบสร้างวิหารยิวขึ้นมาใหม่

จุดยืนของไทยต่อประเด็นอ่อนไหวนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2017 ไทยเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศที่ลงคะแนนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนร่างมติเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเพิกถอนการรับรองนครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่หนุนร่างมตินี้ก็ตาม

ร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ ในจำนวนนี้มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ 9 ประเทศออกเสียงคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง

คำถามคือการเยือนเยรูซาเล็มครั้งนี้ในนามรัฐบาลไทยอาจถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของไทยต่อสถานะกรุงเยรูซาเล็มที่ไทยเคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ในมติสหประชาชาติหรือไม่ มิตรประเทศในโลกมุสลิมจะมองเราอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังสงครามกาซ่าอันโหดร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไป(และอาจปะทุขึ้นมาอีกระลอกใหม่

ฝากไว้ให้คิดครับ

ท้ายนี้ขอเรียนย้ำว่าการเดินทางเยือนเมืองเก่าเยรูซาเล็มสำหรับบุคคลทั่วไปนั้นเป็นเรื่องปรกติไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจในประเด็นความอ่อนไหว เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงครับ ที่ดีที่สุดคืออย่าได้เข้าไปจะดีกว่า

กต. เผย มีคนไทยบาดเจ็บ 4 ราย รอผ่าตัดวันนี้ 1 ราย จากเหตุเกาหลีใต้ทิ้งระเบิดพลาดขณะซ้อมรับ

กระทรวงการต่างประเทศ อัปเดต อาการบาดเจ็บ  4 คนไทยในเกาหลีใต้ รอผ่าตัดวันนี้  (7มี.ค.) 1 คน ส่วนอีก 3 กลับบ้านได้แล้ว ยืนยันติดต่อพูดคุยกับผู้บาดเจ็บ และติดตามใกล้ชิด

เมื่อเวลา 21.15 น. วันที่ (6 มี.ค. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลง ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่า (6 มี.ค.) ได้ปรากฏรายงานข่าวว่าเครื่องบินรบของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ 2 ลำ ได้ปล่อยระเบิดรุ่น MK-82 ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำลายอาคารและสะพานเป็นหลัก รวม 8 ลูก ผิดพลาดในพื้นที่ชุมชนในเมืองโพชอน จ.คยองกี ในระหว่างการฝึกซ้อมรบร่วม Freedom Shield ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับบ้านเรือนและอาคารอื่นๆ ในพื้นที่ และส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวน 15 คน ซึ่งมีคนไทยได้รับบาดเจ็บด้วย 4 คน โดยรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณมือและขา และอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโพชอนอึยรโยวอน ก่อนรอเข้ารับการผ่าตัดในวันนี้ (7 มี.ค.)ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีใต้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนคนไทยอีก 3 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและเดินทางกลับที่พักแล้ว

นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า กองทัพอากาศเกาหลีใต้ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะมีมาตรการเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด สำหรับเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมรบทางอากาศระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ นับตั้งแต่การสงบศึกของสงครามเกาหลี ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อพูดคุยกับคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อเยี่ยมเยียนและสอบถามอาการแล้ว รวมถึงจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top