Monday, 21 April 2025
กระทรวงการคลัง

'สรรพสามิต' ลดภาษี 'ผับ บาร์ ไนต์คลับ ค็อกเทลเลาจน์' จาก 10% เหลือ 5% อีก 1 ปี ดันท่องเที่ยวไทยตลอดปี 68

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสถานบริการ จาก 10% เป็น 5% ของรายรับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล รวมถึงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวไทย 'Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025'  ที่จะสร้างการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เที่ยวไทยมากขึ้นนั้น กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการท่องเที่ยว คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตสถานบริการหรือหย่อนใจ อาทิ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับบาร์ ค็อกเทลเลาจน์ ฯลฯ จาก 10% เหลือ 5% ของรายรับของสถานบริการ ซึ่งจะหมดอายุ 31 ธันวาคม 2567 ออกไปอีก 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2568 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ นอกจากนี้ จะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ซึ่งภายหลังการปรับลดภาษีจาก 10% เหลือ 5% ในปี 67 และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงผู้ประกอบการเข้าระบบภาษีเพิ่ม ทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบสถานบริการหรือหย่อนใจจดทะเบียนเสียภาษีเพิ่ม 1,511 ราย เพิ่มขึ้นถึง 60.92% จำนวนผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการประกอบการเพิ่มขึ้น 52.06%  และกรมสรรพสามิตมีรายได้ภาษีสรรพสามิตสถานบริการหรือหย่อนใจเพิ่มขึ้น 31.24%

'คลัง' ปลุกพลัง-ติดปีก SME ออก 2 Soft loan 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 3% ผ่าน SME Bank

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องการเข้าช่วยเหลือ SME ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินพาณิชย์ เนื่องจากยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงเร่งใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงิน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และ 2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME-D Bank) ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อ 'ปลุกพลัง SME' วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับ SME รายย่อยและมีความเปราะบางที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

2) โครงการสินเชื่อ Beyond 'ติดปีก SME' วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับ SME ที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน SME ในทุกภาคธุรกิจทั้งในส่วนของ SME รายย่อยและมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจทันที

'ผ่าภูมิ' หารือ 'ประธาน ICBC' ยกระดับความร่วมมือ FinTech ไทย-จีน เตรียมความพร้อม Fin Hub ไทย

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้อนรับและหารือร่วมกับ Mr. Lin Liao ประธานธนาคารไอซีบีซี (Industrial and Commercial Bank of China: ICBC) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ICBC

นายเผ่าภูมิ และ Mr. Lin Liao ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคาร ICBC ทั้งในระดับโลกและในไทย ซึ่งได้ให้บริการด้านสินเชื่อ การอำนวยความสะดวก ด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนและไทย รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการจีนที่ต้องการลงทุนในไทย และเห็นพร้อมกันถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลก และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินระหว่างประเทศ

นายเผ่าภูมิฯ กล่าวว่า การมาเยือนของคณะผู้บริหารธนาคาร ICBC นับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และได้หยิบยกประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้ 1) การเชื่อมโยงธนาคาร ICBC กับโครงการ Financial Hub ไทย เพื่อเพิ่มบทบาทของธนาคาร ICBC ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นช่องทางใหม่ให้ธนาคาร ICBC ผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ Financial Hub 2) การใช้กลไกทางการเงินสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มุ่งสู่ตลาดจีน ผ่านธนาคาร ICBC 3) ประสานและยกระดับการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการพัฒนาแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล เพื่อรองรับธุรกรรมข้ามพรมแดน และพัฒนา e-CNY (Digital Yuan) คู่ขนานกับการพัฒนา CBDC ของไทย และ 4) การพัฒนาศักยภาพของสถาบันการเงินของรัฐในด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ร่วมกับ EXIM Bank ซึ่ง ICBC มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เพื่อพัฒนากลไกสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ

กระทรวงการคลังและธนาคาร ICBC ต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการกระชับความร่วมมือทางการเงิน และเศรษฐกิจระหว่างไทย–จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยกระดับศักภาพทางการเงินของทั้ง 2 ประเทศ

ครม. ไฟเขียว ตั้งกองทุนใหม่ ‘Thai ESG Extra’ หวังโยกเงินจาก LTF จูงใจลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท

ครม.ไฟเขียว Thai ESG Extra โยกเงินจาก LTF เดิมเข้ากองทุนใหม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท พร้อมให้ซื้อกองทุนใหม่ได้ในวงเงินอีก 3 แสนบาท พร้อมลดหย่อนภาษีได้ “พิชัย” เชื่อชะลอแรงขายหุ้น สร้างความเชื่อมั่นเพิ่มในช่วงตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

(11 มี.ค. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนกองทุนใหม่ หรือเรียกว่ากองทุน “Thai ESG Extra” โดยกองทุนนี้จะรองรับเงินลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น 2 ส่วนโดยส่วนแรกมาจากเงินลงทุนที่มาจากนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปัจจุบันมีวงเงินคงค้างอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้จะให้นักลงทุนโยกเงินจากกองทุน LTF มาอยู่ในกองทุน Thai ESG Extra โดยได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 แสนบาท สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้ 3 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาท จะให้ใช้สิทธิ์ในปีภาษีต่อๆไปปีละ 50,000 บาทจนครบจำนวน อีกส่วนหนึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG Extra เพื่อลดหย่อนภาษีซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเงินลงทุนใหม่โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 แสนบาทในปี 2568 โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.ปีนี้

นายพิชัย กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลกถือว่ามีความผันผวนมากจากนโยบายของโดนัลก์ ทรัมป์ที่มีการปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้า ล่าสุดในสหรัฐฯตลาดหุ้นก็ลดลงมากทั้งดัชนี Nasdaq และดาวน์โจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงโดยหุ้นไทยเคยลงมาอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1,200 จุด ตอนนั้นเราทำกองทุนวายุกภักษ์ก็สามารถดึงดัชนีขึ้นไปได้ที่ประมาณ 1,400 จุดก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุดและได้รับผลกระทบจากข่าวสารภายนอก

ทั้งนี้รัฐบาลมีแนวคิดว่าในกองทุน ESG มีการเลือกหุ้นที่ดีมีอนาคต การเติบโตที่ยั่งยืน และมีการลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคต เมื่อมีความชัดเจนเรื่องนโยบายนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถชะลอแรงขายของดัชนีหุ้นลงได้

รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจปี 2568 ทุ่ม 150,000 ล้านบาท หวังดัน GDP โตเกิน 3%

(12 มี.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่า 3% ในปี 2568 โดยอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มูลค่า 150,000 ล้านบาท (ราว 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะถูกนำไปปฏิบัติภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“เรามีกระสุนเตรียมไว้เพียงพอ” นายเผ่าภูมิกล่าว พร้อมย้ำว่าการใช้จ่ายของรัฐจะเป็นไปอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับช่วงเวลา

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลให้ความหวังคือโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” มูลค่า 450,000 ล้านบาท (13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมีเป้าหมายโอนเงิน 10,000 บาท (ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้ประชาชนราว 45 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังซบเซาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการบริโภคยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าการชำระเงินในระยะก่อนหน้าจะถูกนำไปใช้บางส่วน แต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำเงินไปชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วอยู่ที่เพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ และตามหลังประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เฟสต่อไปของโครงการแจกเงิน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จะใช้ช่องทางดิจิทัลในการส่งเงินให้กับประชาชนอายุระหว่าง 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน โดยจะเริ่มต้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า “เพราะเราใช้กลไกของเงินดิจิทัลวอลเล็ต มันจึงสามารถควบคุมและส่งเงินไปยังที่ที่ต้องการมากขึ้นได้”

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น โครงการรถไฟทางคู่สายใต้และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อยกระดับระบบขนส่งและการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมภาคการส่งออกและการบริการด้วยมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและ Soft Power

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่คาดว่าจะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาค
"โครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้การขนส่งสินค้าเร็วขึ้นและลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต" นายเผ่าภูมิกล่าว

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันภาคบริการและการส่งออก โดยใช้มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนา Soft Power เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร และวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว

รัฐมนตรีคลังอังกฤษเผยแผนลดข้าราชการ 10,000 ตำแหน่ง หวังลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ 15%

(24 มี.ค. 68) ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ ได้ออกมาเปิดเผยแผนการปรับลดข้าราชการ 10,000 ตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายหลักในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของภาครัฐลงให้ได้ 15% ภายในระยะเวลาอันใกล้

การประกาศดังกล่าวถือเป็นการดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลอังกฤษหวังว่าจะสามารถใช้มาตรการดังกล่าวในการปรับโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐเพื่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

“เราต้องการทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถลงทุนในโครงการที่สำคัญและสร้างผลประโยชน์ระยะยาวต่อประชาชน” ราเชล รีฟส์กล่าวในการแถลงข่าว

แม้ว่าการปรับลดข้าราชการจะส่งผลกระทบต่อบางส่วนของภาครัฐ แต่รัฐบาลอังกฤษได้ยืนยันว่าจะมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่และองค์กรต่างๆ เพื่อรับรองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการภาครัฐ

สำหรับการตัดสินใจนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลอังกฤษในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและลดภาระหนี้สาธารณะ เพื่อรักษาความสามารถทางการคลังและเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2567 มีการคาดการณ์ว่าข้าราชการพลเรือนมีพนักงานประมาณ 547,735 คน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงพนักงานชั่วคราวและพนักงานชั่วคราว 

โดยมาตรการลดข้าราชการจะเริ่มต้นภายในปีหน้าและรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้เสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างการจ้างงานภาครัฐในช่วงปลายปี 2569 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการจับตามองจากหลายฝ่าย ทั้งในแง่ของผลกระทบต่อข้าราชการและการให้บริการภาครัฐ รวมถึงการทบทวนว่ามาตรการนี้จะมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมอังกฤษในอนาคตอย่างไร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top