บริษัทเหล็ก-ก่อสร้างสัญชาติจีนโล่ง!! เมื่อผลสอบตึกสตง.ถล่ม ชี้ไปที่ ‘ปูนไร้มาตรฐาน – การออกแบบ - วิธีก่อสร้างมีปัญหา’
ย้อนไปเมื่อ 28 มีนาคม 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย จากเหตุการณ์วันนั้นทำให้เกิดเหตุตึกสำนักงานอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ตึก สตง. พังถล่ม
ท่ามกลางความสูญเสีย และฝุ่นที่คละคลุ้งทุก ๆ ฝ่ายต่างรุมตั้งข้อสังเกตกับตึกดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างอิตาเลียนไทยและไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของจีน ภายใต้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) แม้กระทั่งเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้างส่วนหนึ่งที่มาจากผู้ผลิตสัญชาติจีน
กระแสข่าวที่โหมกระหน่ำ อารมณ์ของผู้คนในสังคมมุ่งมั่นหาความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้สัญชาติจีนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของประชาชนชาวไทย ภายใต้ข้อสังเกตว่า
1.เหล็กเส้นจากบริษัท ซิน เคอ หยวน จัด หนึ่งในบริษัทสัญชาติจีนไม่ได้มาตรฐาน
2.การก่อสร้างของบริษัทสัญชาติจีนไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น
ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะผลทดสอบของเหล็กเส้นนั้น ไม่ได้คำนึงถึงหลักวิทยาศาสตร์เลยว่าทุกวัสดุในการก่อสร้างต่างรับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ จนแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าผลการทดสอบจะเป็นเหมือนกับวันที่วัสดุที่เข้ารับการทดสอบอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหล็กหรือคอนกรีต
เมื่อเวลาผ่านเดือน ผ่านสองเดือน ในที่สุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะแถลงถึงสาเหตุของการพังถล่มของตึก สตง. ท่ามกลางความสงสัยของประชาชนว่า มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่า
จากการรายงานของทั้ง 4 สถาบัน เห็นได้ชัดว่ามีความบกพร่องในเรื่องการออกแบบ วิธีการก่อสร้าง โดยเฉพาะเทคนิคการก่อสร้าง ผนังช่องลิฟต์ บันได ซึ่งทางเทคนิคเรียกว่า ผนังรับแรงเฉือน เป็นสิ่งที่เกิดปัญหา ส่วนเรื่องวัสดุและเหล็กเป็นปกติได้มาตรฐานการใช้งานทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดปัญหาคือคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐาน และวิธีการสร้างที่มีปัญหา ซึ่งจากการรายงานยังพบว่ามีการก่อสร้างอีกหลายจุดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งการออกแบบและการก่อสร้าง หากปฏิบัติตามกฎหมาย จะสร้างความแข็งแรงให้ตึกมากขึ้น จากการทดลองถือเป็นที่ประจักษ์แน่นอน เป็นไปตามหลักที่ทางสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ใช้สำหรับทดสอบแรงสั่นสะเทือนในเหตุการณ์แผ่นดินไหว
และนายกรัฐมนตรียังกล่าวย้ำอีกว่า "ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากการออกแบบ และการก่อสร้างของโครงการนี้ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย"
จากปากคำของนายกรัฐมนตรี ลองตั้งสติและสรุปข้อเท็จจริงทีละข้อ ๆ อย่างตั้งใจ จะพบว่า
ข้อที่ 1 นายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวว่าเหล็กจากโรงงาน ซิน เคอ หยวน เป็นเหล็กที่มีปัญหาและเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกรณีตึก สตง. ถล่มเลยแม้แต่น้อย จากข้อความที่ว่า เรื่องวัสดุและเหล็กเป็นปกติได้มาตรฐานการใช้งานทั่วไป
ข้อที่ 2 มีข้อผิดพลาดจากการออกแบบ ซึ่งบริษัทผู้ออกแบบเป็นคนละบริษัทกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างอิตาเลียนไทยและไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10
ข้อที่ 3 แม้มีการกล่าวอ้างว่าพบว่ามีการก่อสร้างในหลายจุดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไม่ปรากฏว่าการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้นมีสาเหตุจากใคร บริษัทใดเป็นผู้รับผิดชอบในจุดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้นกันแน่ และยังมองข้ามบริษัทผู้ควบคุมงานซึ่งจะต้องตรวจสอบทั้งคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างอย่างละเอียด
ในตอนท้ายของการแถลงโดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวจะถูกสรุปเป็นรูปเล่มและส่งต่อให้ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง
ซึ่งในลำดับต่อไป ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอจะต้องรวบรวมรายงานการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ถ้อยคำจากการสอบปากคำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หลักฐานอื่น ๆ เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่มั่นคง ชัดเจน และแน่นอน ว่าสาเหตุของอาคาร สตง.ถล่ม เกิดขึ้นเพราะเหตุใด ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะรายงานที่นายกรัฐมนตรีแถลงนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงสูงสุดไม่ว่ามองจากมุมใด
และหากข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ในท้ายที่สุดว่ามีสาเหตุจากอะไรแบบมั่นใจได้อย่างเต็มที่ ทั้งเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องยึดหลัก “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
และนับจากวินาทีนี้สังคมไทยจำเป็นจะต้องเข้มงวดกวดขันการก่อสร้างในทุก ๆ โครงการอย่างจริงจัง เพราะอย่าลืมว่า ก่อนเกิดเหตุตึก สตง. เคยมีหลายเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความสูญเสีย โดยไม่มีแผ่นดินไหวที่แท้จริง มีแต่เพียงแผ่นดินไหวในหัวใจของญาติผู้ต้องสูญเสียเท่านั้น