สายศิลป์จบมาอาจเคว้ง สาย STEM จบไปตลาดต้องการ ‘Apple-IBM’ ไม่สนปริญญา เเต่ง้อคนมีฝีมือทำงานได้จริง

(25 พ.ค. 68) ปราชญ์ สามสี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า..ผมไปเจอข่าวนี้มา น่าสนใจมาก อยากชวนทุกคนมาดูกัน
วันนี้ผมบังเอิญไปอ่านเจอบทความจาก Forbes มันไม่ใช่ข่าวใหม่หรอกนะครับก็ถูกเขียนราวๆเมษายนที่ผ่านมานี่เองโดยมีหัวข้อคือ "หลายปริญญาในปัจจุบันกำลังไร้ค่า—แล้วอะไรล่ะที่ยังคุ้มเงิน?" ( Many College Degrees Are Now Useless—Here’s What Is Worth Your Money) ฟังดูแรงนิดๆ แต่มันสะท้อนสภาพสังคมและตลาดแรงงานยุคใหม่ได้อย่างน่าคิดมากครับ

ข่าวนี้บอกชัดเลยว่าปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Apple, IBM และ Hilton เริ่มลดความสำคัญของ "ใบปริญญา" ลง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับ "ทักษะและประสบการณ์จริง" มากขึ้นเรื่อยๆ และผลสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า เกือบครึ่งของชาวอเมริกันมองว่าปริญญาตรีไม่สำคัญในการหางานดีๆ เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน และที่น่าตกใจคือ มากกว่าครึ่งของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมีงานต่ำกว่าวุฒิที่จบมา แม้ผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี

จากบทความนี้ Forbes ยังระบุชัดเลยว่าปริญญาที่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรมากในตลาดงานยุคนี้ ได้แก่:

ศิลปศาสตร์ทั่วไปที่ไม่มีความชัดเจนในการทำงาน

ศิลปะและการแสดง (ยกเว้นสถาบันชื่อดังหรือมีชื่อเสียงอยู่แล้ว)

การสื่อสารมวลชน (ที่ไม่ได้เฉพาะทาง)

สาขาสังคมศาสตร์เช่น สตรีศึกษา ชาติพันธุ์ศึกษา

จิตวิทยาและสังคมวิทยา ระดับปริญญาตรีล้วนๆ

ส่วนสาขาที่ตลาดยังต้องการสูงและมีรายได้ดี คือ

วิทยาการคอมพิวเตอร์และ IT (รายได้เฉลี่ย $120,000 ต่อปี)

พยาบาลและสาธารณสุข (รายได้เฉลี่ย $82,000 ต่อปี)

วิศวกรรมศาสตร์ (รายได้เฉลี่ย $95,000 ต่อปี)

ช่างฝีมือและสายอาชีพเทคนิค (รายได้เฉลี่ย $80,000 ต่อปี)

ธุรกิจเฉพาะทาง เช่น การเงิน โลจิสติกส์ Analytics (รายได้เฉลี่ย $100,000 ต่อปี)

ครูเฉพาะทาง เช่น STEM และการศึกษาพิเศษ (รายได้เฉลี่ย $50,000–70,000 ต่อปี)

สรุปชัดๆ จากบทความนี้คือ ในยุคปัจจุบัน "โลกไม่ได้ถามว่าเราเรียนจบอะไรมา แต่ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง"

อ่านจบแล้วผมเลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองการศึกษาและปริญญากันใหม่ ให้ตรงกับความจริงของโลกยุคนี้?


เรื่อง : ปราชญ์ สามสี