‘ชายชาวสิงคโปร์’ ปักหลักเช่าคอนโดอยู่เชียงใหม่ บินไปทำงานสิงคโปร์อาทิตย์ละวันหลังสู้ค่าครองชีพไม่ไหว
ชายสิงคโปร์อยู่เชียงใหม่ บินไปทำงานสิงคโปร์อาทิตย์ละวัน เพราะค่าเครื่องบิน ค่ากินอยู่ รวมแล้วถูกกว่าค่าเช่าคอนโดที่สิงคโปร์
เวลาพูดถึงเมืองไทย หลายคนอาจจำว่า เป็นสวรรค์ของ Digital Nomad แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านี้เริ่มย้ายไปที่อื่นที่ 'ค่าครองชีพถูกกว่าไทย' อย่างบาหลีแล้ว อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไม่ชอบเมืองไทย เพราะอย่างน้อยเมืองที่ค่าครองชีพต่ำและเต็มไปด้วยสินค้าและบริการสำหรับชาวต่างชาติอย่างเชียงใหม่ ก็ยังดึงดูดต่างชาติอยู่ แต่อาจเป็นแบบที่ต่างออกไป
Shau Chun Chen อยู่สิงคโปร์มาตลอดชีวิต และทำงานที่ Google มาเกือบ 10 ปี เขาโดนเลย์ออฟในช่วงการเลย์ออฟครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากช่วงต้นปี 2024 แม้ว่าเค้าจะทำงานและเก็บเงินลงทุนไว้ได้ราว 50 ล้านบาท แต่ด้วยค่าครองชีพสิงคโปร์และอายุ เงินเท่านี้ไม่พอกินไปตลอดชีวิตแน่นอน เค้าจึงต้องหาวิธีใหม่ในการจัดการชีวิต
เกิดไอเดียว่าจะทำงานพาร์ตไทม์ที่สิงคโปร์ และอาศัยอยู่ในที่ๆ ค่าครองชีพถูกกว่าในระดับที่เงินของการทำงานพาร์ตไทม์เพียงพอ และหาเงินออนไลน์ด้วยการเป็น YouTuber และเป็นโค้ชธุรกิจตามที่มีการว่าจ้าง แต่งานหลักคืออาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่รายได้ตกเดือนละ 50,000-100,000 บาท
เค้าเลยเลือกจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เพราะรวมค่าเครื่องบินไปกลับสิงคโปร์กับค่าเช่าคอนโด ก็ยังถูกกว่าค่าเช่าคอนโดที่สิงคโปร์ เพราะค่าเช่าคอนโดที่นั่นตกประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าอยู่เชียงใหม่ เช่าคอนโดใหม่เอี่ยมอยู่กับครอบครัวตก 12,000 บาทต่อเดือน ค่าเครื่องบินสายการบินโลว์คอสต์ไปสอนหนังสืออาทิตย์ละ 6,500 บาท เดือนละ 4 ครั้งก็ตก 26,000 บาท รวมค่าที่พักกับเครื่องบิน 38,000 บาท ค่าเดินทางของเค้ากับภรรยาในเชียงใหม่ 5,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าอาหารคิดกลมๆ ก็เริ่มที่ 7,000 บาท
ความน่าสนใจคือ Chen บอกว่าพวกชาวต่างชาติในเชียงใหม่ไม่ได้อยู่ในราคาถูกเท่าเค้า เพราะพวกนั้นเลือกซื้อสินค้าและบริการแบบ 'นำเข้า' ซึ่งรวม ๆ คือเชียงใหม่ไม่ได้ถูกกว่าที่อื่น แต่ถ้าจะใช้ชีวิตให้ย่อมเยาจริงๆ ต้องกินอยู่แบบคนท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่าต้อง 'เรียนรู้วัฒนธรรม' ก็ไม่ผิด
ในระยะยาว เค้าก็ยังคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปอยู่บ้านเกิดที่สิงคโปร์ เพียงแต่เค้าอาจต้องรอเงินลงทุนให้โตขึ้นอีกเยอะ ๆ เพราะนี่คือประเทศที่ค่าครองชีพสูงระดับคนที่มีเงินทุน 50 ล้านบาทยังรู้สึกว่าตัวเองยังห่างไกลจากการมีอิสรภาพทางการเงิน