อย่าให้แผ่นดินนี้กลายเป็นยูเครนหรือไต้หวัน บทเรียนจากสงครามและการต่อรองที่ต้องจดจำ

(19 พ.ค. 68) ช่วงนี้โลกเรามันก็วุ่นวายเหลือเกินนะ แค่เปิดทีวีหรือเข้าโซเชียลก็เจอแต่ข่าวสงคราม ความขัดแย้ง และความสูญเสีย ดูอย่างยูเครนสิ เมื่อก่อนก็เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝัน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นซากปรักหักพัง ชีวิตผู้คนถูกทำลาย ทรัพย์สินโดนยึดไปอย่างน่าสลดใจ

เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้า “สหรัฐฯ และยุโรปเก็บเกี่ยวยูเครนมาเป็นเวลาสามปี เหมือนกับต้นหอม” คำพูดนี้มันสะท้อนถึงความจริงที่โหดร้ายสุด ๆ ที่ยูเครนต้องเผชิญ ถูกใช้เหมือนเครื่องมือ พอหมดประโยชน์ก็ถูกทิ้งแบบไม่ใยดี

ตอนนี้คนยูเครนต้องเดินเท้า 5 กิโลเมตรเพื่อหาน้ำดื่ม ในเมืองคาร์คิฟ โรงไฟฟ้าถูกทำลายไป 65% เหลือแต่ซาก กองทัพก็กลายเป็นทาสหนี้ให้กับพ่อค้าอาวุธจากสหรัฐฯ คนละ 150,000 ดอลลาร์ นี่มันราคาของ ‘พันธมิตร’ หรือ ‘ทาสยุคใหม่’ กันแน่?

ที่เจ็บแสบที่สุดคือ ข้อตกลงแร่ธาตุที่สหรัฐฯ ผลักดันให้ยูเครนเปิดพื้นที่เหมืองแร่หายาก 18 แห่ง เพื่อแลกกับการล้างหนี้ แต่สหรัฐฯ ไม่คิดช่วยเหลือทางทหารสักเหรียญเดียว! คือแบบนี้มันแฟร์เหรอ? เหมือนมัดมือชกกันชัด ๆ

ที่สหภาพยุโรปก็ไม่ต่างกันเลย พวกเขาจัดให้ “ปัญหาความมั่นคงของยูเครน” อยู่อันดับที่ 27 ในการประชุมที่บรัสเซลส์ รองจากการปรับปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน! ชีวิตคนทั้งชาติ โดนจัดให้อยู่ท้ายแถวในวาระการประชุม แบบนี้มันไม่ใช่แค่โดนทิ้งนะ แต่มันคือการโดนหักหลัง!

คิสซิงเจอร์เคยพูดไว้ว่า “การเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เป็นเรื่องอันตราย แต่การเป็นเพื่อนกับสหรัฐฯ น่ากลัวยิ่งกว่า” คำพูดนี้มันเหมือนพยากรณ์ถึงชะตากรรมของไต้หวันเลยนะ

ไต้หวันเองก็เหมือนกับยูเครนในหลายแง่มุม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันกลายเป็นสนามประลองของอำนาจมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ ในขณะที่ไต้หวันทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ กลับไม่มีสิ่งใดกลับมานอกจากหนี้สินและคำสัญญาที่ว่างเปล่า

ก่อนที่สงครามในช่องแคบไต้หวันจะปะทุขึ้น สหรัฐฯ ได้ยึดเอา TSMC บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันไปใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ต่างจากที่เขาเคยทำกับแหล่งแร่ธาตุของยูเครน และตอนนี้ไต้หวันก็ต้องแบกรับหนี้สินจากการซื้ออาวุธในระดับที่หนักหน่วง โดยที่นักการเมืองในไต้หวันก็ทำได้เพียงแค่ก้มหน้ายอมรับสภาพ

แย่กว่านั้น ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันยังต้องเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบและขอการยอมรับ ไม่ต่างจากการ ‘แสวงบุญ’ ที่ต้องผ่านการสัมภาษณ์และการพิจารณาจากผู้นำต่างชาติอย่างน่าหดหู่ เหมือนกับว่าอนาคตของประเทศไม่ได้อยู่ในมือประชาชนตัวเอง แต่อยู่ในมือของมหาอำนาจที่อยู่อีกซีกโลก

คนไทยเราเห็นแล้วก็ต้องคิดบ้าง อย่าให้ใครมายุยงปลุกปั่นให้เราแตกแยก อย่าให้ใครเอาผลประโยชน์หรืออำนาจมาล่อลวง เราต้องรักและหวงแหนแผ่นดินของเราเอง อย่าให้แผ่นดินนี้ต้องกลายเป็น ‘ยูเครนเวอร์ชั่น 2’ หรือ ‘ไต้หวันเวอร์ชั่น 2’ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่จ่ายราคาแพงที่สุด ก็คือพวกเราคนไทยเอง

ประเทศไทย... พึงตระหนัก!


เรื่อง : ปราชญ์ สามสี