สบส. จัดประชุมยกระดับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ในสถานพยาบาลรัฐ และเอกชน 241 แห่งทั่วไทย

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมยกระดับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สถานพยาบาล 241 แห่งทั่วไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาร่างกฎหมายอุ้มบุญ ฉบับ 2 พัฒนาแนวทางการขอรับบริการเพื่อให้รองรับกลุ่มสมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ (14 พ.ค.68) ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จากข้อกําหนดของกฎหมายสู่การปฏิบัติ (IVF/IUI) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” โดยมีบุคลากรของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 241 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมทั้งออนไซต์ และออนไลน์

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิดฯว่า ปัจจุบัน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2559 ได้มีผลบังคับใช้มากว่า 9 ปี โดยสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ กว่า 7,500 ล้านบาท มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์ เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 52 มีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) กว่า 20,000 รอบการรักษา และมีการผสมเทียม (IUI) กว่า 12,000 รอบการรักษา ซึ่งถือเป็นหลักฐานของความก้าวหน้า และความสำเร็จของการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทยที่ไม่เป็นรองชาติใดๆ ดังนั้น เพื่อการยกระดับบริการ เพิ่มศักยภาพในการให้บริการทั้งคนไทยเละต่างชาติ การคุ้มครองผู้บริโภค จวบจนดึงดูดผู้รับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ จากต่างชาติเข้าสู่ประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้สถานพยาบาลที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งในกลุ่มสถานพยาบาลรายเดิมและกลุ่มสถานพยาบาลที่ให้บริการ IUI รายใหม่ทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินการให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด และสามารถดำเนินการตามระบบฐานข้อมูลในรูปโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ICMART) ซึ่งจะนำไปสู่การได้มาของข้อมูลภาพรวมของประเทศและนำไปวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดนโยบายการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ของประเทศ 

ทันตแพทย์อาคมฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า และนอกจากการพัฒนาบุคลากรแล้ว การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ โดย กรม สบส. จึงได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนากฎหมาย (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....โดยมีประเด็นในการปรับแก้กฎหมายแม่บท อาทิ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ การกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ การขอรับบริการเพื่อให้รองรับกลุ่มสมรสเท่าเทียม การเพิ่มกลุ่มผู้รับบริการตั้งครรภ์แทนในกลุ่มชาวต่างชาติ และการส่งออกซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้เป็นเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์ เป็นต้น โดยอยู่ในระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อไป