สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเสวนารับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลกระทบร่างกฎหมาย แก้ไข ป.วิ.อาญา พร้อมระดมความเห็นแนวทางการพัฒนางานสอบสวน

(14 พ.ค.68) เวลา 09.00 น. ณ ห้องเตมียเวส โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) 
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิของประชาชน บนเส้นทางการสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา)” โดยมีคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี), พล.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี ที่ปรึกษาพิเศษ ตร., พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย และ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร.

การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชน เสนอยกร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ไปยังสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างฉบับนี้ ได้เสนอแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนงานในการสอบสวนของตำรวจหลายประเด็น  ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ตร. ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นในเชิงวิชาการและความเห็นจากผู้ปฏิบัติ รวมทั้งภาคประชาชนให้ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยให้ คณะนิติศาสตร์ และคณะตำรวจศาสตร์ รร.นรต. เป็นผู้รับผิดชอบ และมี พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี) 
ควบคุมกำกับดูแล  

โดยการเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอในการพัฒนางานสอบสวนของตำรวจ โดยได้เชิญวิทยากรในกระบวนการยุติธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิในงานสืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ก.ร.ตร. , พล.ต.ต.นพศิลป์  พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , นายสันติ  ผิวทองคำ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดวิเชียรบุรี , รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล , พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขานุการชมรมพนักงานสอบสวน , พ.ต.อ.เอนก  เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. , พ.ต.อ.อุเทน  นุ้ยพิน  รอง ผบก.อก.ภ.6 และ พ.ต.อ.ภูมิรพี  ผลาภูมิ ผกก.สภ.ทัพทัน ร่วมขึ้นเวทีให้แลกเปลี่ยนความเห็นในการเสวนา โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับ รอง ผบช., ผบก.ภ.จว., รอง ผบก.ภ.จว. พร้อมด้วย พนักงานสอบสวน และข้าราชการตำรวจในสายงานสืบสวนทุกระดับตั้งแต่ ผกก.-รอง สว. ในสังกัด บช.น. ภ.1 และ ภ.7 และนิติกรในสังกัด กมค. พร้อมด้วยภาคประชาชนเข้าร่วมการเสวนา รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 400 คน  โดยหลังจบการเสวนาในภาคเช้าแล้ว ยังมีกิจกรรมสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อระดมความเห็นต่อร่างกฎหมายและแลกเปลี่ยนความเห็นในการพัฒนางานสอบสวนจากผู้ปฏิบัติด้วย

อนึ่ง สำหรับร่างกฎหมายแก้ไข ป.วิ.อาญาของพรรคประชาชนนั้น มีการเสนอแก้ไขหลักการสอบสวนในหลายประเด็น ได้แก่ การให้พนักงานอัยการลงมากำกับดูแลงานสอบสวน ตั้งแต่อำนาจการให้ความเห็นชอบแก่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในการออกหมายเรียก หรือให้ความเห็นชอบก่อนขอศาลออกหมายจับ อำนาจตรวจสอบกำกับการสอบสวนและการรวมพยานหลักฐานในคดีสำคัญ รวมทั้งเรื่องการทำความเห็นแย้งที่เสนอย้อนกลับไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนตำรวจ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ บางฝ่ายเห็นว่าเป็นการช่วยตรวจสอบถ่วงดุลตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแต่บางฝ่ายก็มองว่าเป็นการเพิ่มขั้นตอนกระบวนการอาจทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น เพราะสำนวนการสอบสวนต้องถูกตรวจพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการตามกฎหมายอยู่แล้ว รวมถึงอาจไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาในระบบกล่าวหาซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย
 
ปัจจุบัน ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดทำข้อเสนอความเห็น พร้อมสรุปผลจากการเสวนาครั้งนี้เพื่อเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานสอบสวนในภาพรวมขององค์กร