ร้อยเอ็ด...สภาเกษตรกรร้อยเอ็ดนำทัพ บุก ศาลากลาง ยื่นข้อเสนอ  แก้ปัญหาโคเนื้อทั้งระบบ หวังเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้

เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ดร.ประจักษ์ บุญกาพิมพ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายสมภพ ลุนาบุตร ผู้ประสานงานเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา ได้นำสมาชิกเกษตรกรจากเครือข่ายกว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “THAI BEEF MODEL” ต่อนายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอให้จังหวัดเป็นพื้นที่นำร่องในการยกระดับอาชีพเลี้ยงโคเนื้ออย่างเป็นระบบ

อนึ่งการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในอีก 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยประสานงานร่วมกับ “เครือข่ายปศุสัตว์ไทย” ถือเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติครั้งสำคัญของกลุ่มเกษตรกร“จากคนขายวัว เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจโคเนื้อ”ข้อเสนอ THAI BEEF MODEL ไม่ใช่แค่โครงการส่งเสริมการเลี้ยงวัวธรรมดา แต่คือแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่มุ่งพลิกโฉมเกษตรกรจากผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไปสู่เจ้าของระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง โดยมี 5 เสาหลักดังนี้ 1.คอกแม่พันธุ์คุณภาพ – ส่งเสริมฟาร์มร่วมของเกษตรกร ใช้พันธุ์เนื้อแท้ เช่น Beefmaster, Wagyu พร้อมระบบประกันราคา 2.คอกกลางระดับจังหวัด – รวมลูกโคเข้าสู่ระบบขุนที่ควบคุมต้นทุนและคุณภาพได้ 3.โรงงานแปรรูป Boxed Beef – จัดตั้งโรงงานร่วมทุน ที่เกษตรกรถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 51% เพื่อแปรรูปเนื้อคุณภาพส่งออก 4.ตลาดกลางเนื้อโค – สร้างตลาดที่โปร่งใส มีการประกันราคารับซื้อ และระบบ Traceability ตรวจสอบย้อนกลับได้ 5.ศูนย์บริหารโคเนื้อร้อยเอ็ด – หน่วยยุทธศาสตร์กลาง ทำหน้าที่วางแผน พัฒนามาตรฐาน และขับเคลื่อนข้อมูลตลาด 

โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเมืองหลวงโคเนื้อแห่งภาคอีสาน
ข้อเสนอฉบับนี้มีเป้าหมายชัดเจนดังต่อไปนี้ 1.ยกระดับรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่มากกว่า 5,000 ครัวเรือน 2.เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างยั่งยืน 3.ลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศ และสร้างศักยภาพในการส่งออก 4.ผลักดันให้ร้อยเอ็ดเป็นต้นแบบการผลิตเนื้อโคคุณภาพระดับโลกจากท้องทุ่งกุลา

ด้านดร.ประจักษ์ บุญกาพิมพ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวไว้ว่า “นี่ไม่ใช่แค่การเลี้ยงวัวแบบใหม่ แต่คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เกษตรกรร้อยเอ็ดเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง”
ข้อเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ในหนังสือข้อเสนอ ได้ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการเร่งด่วน ดังนี้ 1.แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนโครงการ 2.สนับสนุนงบประมาณสำหรับคอกกลางต้นแบบและโรงงานแปรรูป 3.ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และสหกรณ์ 4.บรรจุ THAI BEEF MODEL ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ 2567–2570

ดร.ประจักษ์ กล่าวต่ออีกว่า หากจังหวัดร้อยเอ็ดเดินหน้าตามข้อเสนอฉบับนี้ได้สำเร็จ จะไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตของเกษตรกร แต่ยังอาจจะกลายเป็นจังหวัดต้นแบบระดับประเทศ ที่สร้าง "อุตสาหกรรมโคเนื้อไทย" ที่เกษตรกรเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง“ทางรอดของเกษตรกรไม่ได้อยู่ที่การรอรัฐช่วย แต่หากคือการลุกขึ้นมากำหนดอนาคตด้วยมือของตัวเอง  และเราพร้อมแล้ว” ดร.ประจักษ์กล่าวไว้ในที่สุด

ขอบคถณภาพ/ข่าวจากเครือข่ายโคเนื้อทุ่งกุลา


โกสิทธิ์/ร้อยเอ็ด(ห)