‘รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา’ ชูบทบาทภาคเอกชนในเวทีประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ หนุนไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เสนอแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ระยะ 2 ปี
เมื่อวานนี้ (1 พ.ค. 68) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ตัวแทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและเสนอแนวทางขับเคลื่อนแผนระยะถัดไป
ที่ประชุมได้สรุปความก้าวหน้าของแผนปี 2566-2567 ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่แผนระยะยาว โดยครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดทำกรอบจริยธรรมและศูนย์ธรรมาภิบาล AI การเปิดใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง การผลักดันหลักสูตร AI ในทุกระดับการศึกษา และความร่วมมือด้านวิจัย เช่น Medical AI ที่พัฒนาโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคหลัก
ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก 'UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025' ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านนโยบาย AI โดยคาดว่าจะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติในฐานะผู้นำด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศในเชิงบวก
จากพื้นฐานที่วางไว้ รัฐบาลจึงผลักดัน National AI Program ระยะ 2 ปี (2569–2570) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้าน AI ในอาเซียน ผ่านการเร่งสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ครบทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือ AI User, AI Professional และ AI Developer พร้อมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้นักพัฒนาใช้งานอย่างทั่วถึง
ภายใต้แผนนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว และการเกษตร ด้วยการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพบริการ และสร้างผลผลิตอย่างตรงเป้า โดยรัฐจะสนับสนุนโครงการผ่านมาตรการจูงใจและงบประมาณสนับสนุนอย่างชัดเจน
ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของแผน พร้อมมอบหมายให้กระทรวง อว. และกระทรวงดีอี จัดทำกรอบงบประมาณและรายละเอียดโครงการเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป พร้อมเน้นให้ National AI Program ระยะ 2 ปี เป็นวาระแห่งชาติ เร่งเดินหน้าทุกมิติ ทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน และการต่อยอด AI เชิงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
ที่มา : ดร. ชิต เหล่าวัฒนา