‘เอกนัฏ’ แจงเหมืองทองอัคราเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ชาติกับใคร พร้อมย้ำ ก.อุตสาหกรรมคุมเข้มเผาอ้อยต่ำกว่าที่สุดในประวัติศาสตร์ ช่วยลดปัญหา PM2.5 พร้อมมาตรการเข้มสั่งปิดโรงงานน้ำตาลถึง 2 โรง
เมื่อวันที่ (24 มี.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า ในครั้งนี้ตนมีกรณีที่จะต้องชี้แจงใน 2 กรณี คือ กรณีแรกเรื่องของเหมืองทองอัครา กรณีที่สองคือการเผาอ้อย
สำหรับกรณีเหมืองทองอัครา ตนขอเรียนว่าตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่มีการดำเนินการต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งแน่นอน การดำเนินการทุกขั้นตอนของเรื่องเหมืองทองอัคราเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และยึดผลประโยชน์ของประเทศของเป็นที่ตั้ง ดังนั้นการดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ประเทศไทยต้องแพ้ ไม่ให้ผลประโยชน์ของชาติต้องสูญเสียไป
ตนขอย้ำว่า ไม่เคยมีสั่งให้เลื่อนการอ่านผลของการพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือจากรัฐบาล หรือจากนายกรัฐมนตรีทุกอย่างดําเนินการตามขั้นตอนโดยหน่วยงานที่ดําเนินการตามความรับผิดชอบภายใต้กรอบ ภายใต้กฎหมายที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดครับ ไม่เคยไปเจรจานอกรอบ หรือไปต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทีเดียวรับแต่อย่างใด
กรณีที่กล่าวถึงการออกอาชญาบัตรพิเศษ ที่ผิดกฎหมาย ทับพื้นที่อุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้เป็นเรื่องที่เกิดก่อนตนปฏิบัติหน้าที่ แต่การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายเหมืองแร่ ไม่มีออกอาชญาบัตรพิเศษหรือประทานบัตรที่ผิดกฎหมาย ทับซ้อนเขตอุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ที่บอกว่ามีการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนล้มคดี นั้น รัฐบาลนี้หรือใครใหญ่จากไหนไม่มีใครต่อรองแลกเปลี่ยนแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทยได้ หากทำได้ ผมมองว่าคงต่อรองเรื่องอื่น ที่มากกว่าการรักษาประโยชน์ให้กับเหมืองทองอัครา นอกจากนั้นไม่เคยแทรกแซงองค์กรอิสระ ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนรักษาประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง
สำหรับในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้ว่าตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ได้กำกับดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องของชีวิตของประชาชนชาวไทย ตนมีการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์เพื่อศึกษาและหามาตรการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
สำหรับประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศผู้บริโภค และประเทศผู้ผลิต ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมจะต้องมาจากความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำกับดูแลอ้อย จากพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งตนขอยืนยันว่าอ้อยเผาในปีนี้ลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
สำหรับการเผาในอ้อยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การเผาก่อนเข้าไปเก็บเกี่ยว เพื่อความง่ายและความสะดวกในการเก็บเกี่ยว และส่วนที่ 2 คือการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและง่ายต่อการเพาะปลูกรอบใหม่
การเผาในส่วนที่ 1 กระทรวงอุตสาหกรรมมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้อ้อยเผาไม่เหลือไม่ถึง 15% ของอ้อยทั้งหมด นอกจากนี้เรายังเอาจริงเอาจังซึ่งพิสูจน์จากการสั่งปิดโรงงานน้ำตาล 2 แห่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
“ถ้าบอกว่ามาตรการของรัฐบาลในช่วงนี้ไม่ชัด ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรชัดมากไปกว่าการสั่งให้ปิดโรงงานน้ำตาล 2 โรง ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ นี่คือความจริงจัง ความเข้มงวด ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ” นายเอกนัฏ กล่าว
การเผาในส่วนที่ 2 นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ใช้มาตรการเข้มงวดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะนี้กำลังเตรียมตัวเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการนำเศษชิ้นส่วนจากอ้อย โดยเฉพาะใบอ้อยไปขายยังโรงไฟฟ้าชีวมวล และเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุปกรณ์ทั้งในการตัดใบอ้อย และกระบวนการรวบรวมจัดการใบอ้อย หรือรวมไปถึงการไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน นอกจากนี้เรายังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของเชื้อเพลิงชีวภาพ เรื่องของพลาสติกชีวภาพ และในท้ายที่สุดอาจจะมีการกำหนดราคาน้ำตาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกราคาหนึ่ง
กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังออกแบบมาตรการเพื่อทำงานร่วมกับโรงงาน และเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เป็นภาระต่อเกษตรกร และไม่ให้อ้อยถูกนำไปเผาและสร้าง PM2.5 แล้วย้อนกลับทำร้ายชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน