25 กุมภาพันธ์ 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอย่างสมพระเกียรติ พระราชพิธีนี้ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และแสดงถึงพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ กระบวนการในพระราชพิธีได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 โดยมีลำดับพระราชพิธีดังนี้ การเตรียมพระราชพิธี, พระราชพิธีเบื้องต้น, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีเบื้องปลาย และ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
สำหรับกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระมหามณเฑียร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468
ช่วงเช้า (09.15 น.)พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เต็มยศทหารเรือ ทรงสายสะพานนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งบรมพิมานโดยกระบวนราบ ประทับพระราชยานกง เสด็จไปยังหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (09.53 น.)ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นพระภูษาเศวตพัสตร์และทรงสะพักขาวขลิบทองคำ ประทับบนตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาวในมณฑปพระกระยาสนาน พระราชครูวามเทพมุนีและพราหมณ์พิธีกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
จากนั้นเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีพิชัยสงครามประจำวันพฤหัสบดี ทรงรับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ทั้งแปดทิศ ต่อด้วยการเสด็จประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องขัตติยราชูปโภค รวมทั้งพระแสงอัษฎาวุธจำนวน 19 รายการ
เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งเป็นคำปฏิญาณของพระมหากษัตริย์ในการครองแผ่นดิน ความว่า
“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”
ในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นพระบรมราชินี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมกับการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นพระราชพิธีครั้งแรกในรัชกาล
อีกหนึ่งความสำคัญคือ การบันทึกภาพยนตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นภาพยนตร์ข่าวที่ผลิตโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งจัดทำขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก ภาพยนตร์ชุดนี้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์ในพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีของไทย