รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป

“ถ้าประเทศไทยผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ มากกว่านี้ จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง” เป็นคำกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งระบุว่า หากเพิ่มการใช้ ‘พลังงานหมุนเวียน’ ในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ย่อมจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ ‘พลังงานหมุนเวียน’ แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีจุดอ่อนและข้อด้อยอยู่เยอะแยะมากมาย

ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกอยู่ 7 ประเภทได้แก่ :
1. พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทเดียวที่แต่ละครัวเรือนสามารถติดตั้งและใช้งานผลิตไฟฟ้าได้เองตามสถานที่ที่มีอยู่ บ้านสำนักงาน อาคาร โรงงาน ฯลฯ
2. พลังงานลม เพื่อใช้ประโยชน์จากลมแรง จำเป็นต้องสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีลมแรง 
3. พลังงานน้ำ มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับพลังงานลม ยกเว้นพลังที่ใช้งานคือน้ำแทนที่จะเป็นอากาศ แม้การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจมีราคาแพง แต่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก
4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนอีกชนิดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนได้ ด้วยการนำความร้อนภายในโลกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ แต่ทำได้ในเพียงบางพื้นที่
5. พลังงานชีวมวลคือความร้อนที่ได้รับจากขยะอินทรีย์ด้วยการเผา ถือเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากมนุษย์สร้างวัสดุอินทรีย์ขึ้นมาใหม่เสมอ โดยส่วนใหญ่เป็นพืช
6. พลังงานน้ำขึ้นน้ำลงหรือพลังงานจากมหาสมุทรคือพลังงานน้ำที่สามารถได้รับจากน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานนี้บางครั้งจะถูกจัดอยู่ในประเภทของพลังงานน้ำ ไม่ใช่ประเภทอื่น
7. ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในโลกใบนี้ โดยน้ำมีอยู่ถึงสองในสาม ธาตุนี้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นศูนย์ได้หากสามารถแยกออกจากกันได้

ข้อดีของพลังงานหมุนเวียน
1. แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะไม่หมดลง แหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าจะไม่หมดลงในเร็ว ๆ นี้ เช่น การคาดว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงเป็นเวลาอย่างน้อย 4.5 - 5.5 พันล้านปี 
2. สามารถควบคุมแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยง่ายดาย ไม่มีปัญหาใด ๆ ยกเว้นปัญหาจากสภาพอากาศ
3. พลังงานหมุนเวียนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงถือว่าสะอาด แม้ว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอาจทำให้เกิดการปล่อยมลพิษได้บ้าง แต่โดยรวมแล้ว คาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพลโลกทุกคนดีขึ้น 
4. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนอกจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้วยการสร้างตำแหน่งงานมากมาย
5. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนการบำรุงรักษาที่น้อยกว่าพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
6. พลังงานหมุนเวียนสามารถป้องกันความผันผวนวุ่นวายของราคาพลังงานได้ สามารถเพิ่มอิสรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ด้วยการลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่ข้อเสียของพลังงานหมุนเวียนก็มีอยู่ไม่น้อยเลยเช่นกัน ซึ่งทำให้พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเรื่องยาก
1. พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา พลังงานธรรมชาติขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นอย่างมาก เมื่อสภาพอากาศเลวร้าย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์จะใช้ประโยชน์ได้น้อยลง
2. ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหมุนเวียนยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม
3. ต้นทุนเริ่มต้นของพลังงานหมุนเวียนนั้นยังคงมีราคาค่อนข้างสูง และบางครั้งอาจไม่สามารถจ่ายได้ 
4. แหล่งพลังงานหมุนเวียนต้องการพื้นที่จำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าแบบเดิมแล้ว จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในการสร้างฟาร์มพลังงานหมุนเวียนมากกว่า
5. อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนต้องได้รับการรีไซเคิล แม้การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดมลพิษในระดับที่ต่ำมาก แต่อุปกรณ์ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อกังวลจากการผลิตและกระบวนการกำจัดอุปกรณ์ที่หมดอายุอาจก่อให้เกิดมลพิษขึ้นได้
6. ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันยังมีราคาที่แพงมาก

แม้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจะมีประโยชน์ มีข้อดี และมีความสำคัญมากมาย แต่ในปัจจุบันต้นทุนเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีหมุนเวียนเพื่อพลังงานไฟฟ้ายังคงสูงมาก โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเก็บกักไฟฟ้า จนทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนยังคงไม่สามารถถึงจุดคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งอัตราการสึกหรอและเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ผลิตและเก็บกักไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนยังคงสูง ความจริงอีกประการหนึ่งที่ผู้คนยังไม่รู้คือ เมื่อเพิ่มระบบแบตเตอรี่ก็ต้องเพิ่มระบบผลิตไฟฟ้าอีก ซึ่งจะต้องใช้โซลาร์เซลล์มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างน้อยสามเท่าในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเก็บกักได้พอใช้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังจะต้องมีการเพิ่ม ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากขึ้นด้วยเพื่อให้ ‘ระบบไฟฟ้า’โดยรวมมีความเสถียรมากพอเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้าด้วย และที่สุดจะส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน