7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำแม่เมาะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ถือเป็นวันอันทรงเกียรติของชาวแม่เมาะ ที่ได้ร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ซึ่งโรงไฟฟ้า ทั้ง 4 เครื่องได้ปลดระวางไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 หรือ MM-T14 ที่เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ มีประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการควบคุมมลสารได้เท่ากับและดีกว่าโรงไฟฟ้าเดิมมารับช่วงต่อการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ไปพร้อมๆ กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13

สำหรับความเป็นมาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เกิดจากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ปรากฏว่าพบถ่านหินลิกไนต์ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น 

ปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ เพื่อดำเนินกิจการเหมืองถ่านหิน มีการเปิดทำเหมืองที่แม่เมาะ เพื่อผลิตถ่านลิกไนต์จำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบ การรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้รวมเอากิจการของการลิกไนท์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) รวมเป็นหน่วยงานเดียวกันคือ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เหมืองแม่เมาะจึงอยู่ในความดูแลของ กฟผ. ตั้งแต่นั้นมา และเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 3 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตถ่านหิน จากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จสิ้นไปแล้ว 14 หน่วย