3 กุมภาพันธ์ ‘วันทหารผ่านศึก’ รำลึกถึงผู้กล้าที่สละชีพเพื่อชาติ

ในอดีต ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม และส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา ทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารไทยที่กลับจากการรบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเอเชียมหาบูรพา รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้เป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม ด้านกองทุน ด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก และ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิม หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคสมทบจากผู้บริจาคอื่นๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้จำหน่าย

ปี พ.ศ.2512 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' ได้ยกระดับเป็น 'มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันทหารผ่านศึก ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น 'ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก'

ความหมายของดอกไม้ประจำวันทหารผ่านศึก มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้ที่หมายถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน