1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายโรงจำนำเป็นครั้งแรกในไทย

วันนี้เมื่อ 130 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ ร.ศ.114 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีผลบังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.120

ทั้งนี้ การรับจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานยืนยันได้จากการตราพระราชกำหนดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ห้ามจำนำสิ่งของเวลากลางคืน ในสมัยนั้น สิ่งของที่เอามาจำนำ ได้แก่ ทองรูปพรรณ เงิน นาก เครื่องทองเหลือง ผ้าแพรพรรณมีค่า ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมผู้จำนำไม่ต้องเอาของไปจำนำที่คนรับจำนำ แต่มีการจำนำตามบ้าน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กิจการโรงจำนำเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดย จีนฮง ตั้งโรงจำนำ ย่องเซี้ยง ที่แยกสำราญราษฎร์ ดึงดูดให้คนมาจำนำด้วยการกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ มีการทำบันทึกรับจำนำ หรือ 'ตึ๊งโผว' มีการออกตั๋วรับจำนำเป็นเอกสารหลักฐาน

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะโรงจำนำเมื่อ รศ.114 หรือ พ.ศ.2438 โรงจำนำสมัยนี้ กิจการรุ่งเรือง มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ราว 200 โรง โรงจำนำที่มีชื่อเสียงคือโรงจำนำ ฮั่วเส็ง ของนายเล็ก โทณวณิก จนถึงปี พ.ศ.2498 มีการตั้ง โรงรับจำนำของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทอีกโรงหนึ่ง และในพ.ศ.2500 เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานธนานุเคราะห์

ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2503 รัฐบาลอนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำได้ กรุงเทพมหานครจึงตั้งกิจการโรงรับจำนำใช้ชื่อว่า 'สถานธนานุบาล'