‘สถาบันราชพฤกษ์’ เดินหน้าประชุมใหญ่ COP ที่ ‘อาเซอร์ไบจาน’ ประสานความร่วมมือ!! ในระดับโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC การประชุมกลุ่ม G20 และการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้การประชุม COP เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1995 โดย COP1 จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกหลังการลงนามใน UNFCCC ปี ค.ศ. 1992 ที่ประชุมแต่ละปีจะมุ่งสร้างความตกลงใหม่ ๆ และประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในเป้าหมายลดโลกร้อน เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศได้ให้คำมั่นต่อกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามรักษาไว้ที่ 1.5°C 

การประชุม COP จึงมีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2024 ก็มีการประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ของอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพมีความท้าทายและโอกาสในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้รับการหยิบยกกันมาหารือในที่ประชุมคือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ในส่วนของไทยเรานั้น แม่งานหลักของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะทำหน้าที่สานต่อในส่วนของภาครัฐให้เป็นไปตามที่ไทยเราได้ลงสัตยาบันไว้ ตลอดจนจะได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ แสวงหาความร่วมมือในทุกด้านจากมิตรประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องร่วมกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการทำงานภายในประเทศ เพื่อจะออกมาตรการ กำหนดทิศทางที่ทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตินี้ต่อไป

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร