'อ.อุ๋ย-ปชป.' เตือน!! นักการเมืองแก้ รธน. ปมจริยธรรม มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกถึง 10 ปี

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมนักการเมือง ว่า...

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท’ ซึ่งมาตรา 4 แห่ง พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น สส. รัฐมนตรี หรือ สว. ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะ สส. มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางส่วน มีดำริที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับมาตรฐานทางจริยธรรมลง ทำให้ตนเองและพวกพ้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมได้ยากขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแก้ไขกฎหมาย ทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม เพื่อลดมาตรฐานจริยธรรมลง ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้มีนักการเมืองที่มีจริยธรรมมาเป็นตัวแทนของตน ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 อีกสถานหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ยังกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และห้ามกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การที่นักการเมืองจะทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจึงถือว่าละเมิดจริยธรรมข้อนี้เช่นกัน 

ผมจึงอยากเตือนนักการเมืองทั้งหลาย ว่าคิดให้ดีว่าประชาชนเลือกท่านมาทำอะไรกันแน่ ด้วยความปรารถนาดี